ส่องความแตกต่าง หนัง “รีเมค-รีบูต-ภาคต่อ” ทริคโกยเงิน ค่าย “ฮอลลีวูด”

ส่องความแตกต่าง หนัง “รีเมค-รีบูต-ภาคต่อ” ทริคโกยเงิน ค่าย “ฮอลลีวูด”

ค้นหาความหมายของ “รีเมค” “รีบูต” “ภาคต่อ” “ภาคต้น” เทคนิคของค่ายภาพยนตร์ที่พบบ่อยในวงการ “ฮอลลีวูด” ว่าแตกต่างกันอย่างไร และแต่ละประเภทมีภาพยนตร์เรื่องไหนบ้าง หลังสตูดิโอหลายรายหันมาใช้กลยุทธ์เหล่านี้ในการโกยรายได้มหาศาล

ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา วงการ “ฮอลลีวูด” อุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มักจะนำภาพยนตร์หรือเรื่องราวที่เคยได้รับความนิยมในอดีตกลับมาสร้างใหม่ เห็นได้จากภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดทั่วโลกประจำปีนี้ อันดับ 5 แรก (ข้อมูลวันที่ 23 มิ.ย. 2565) ล้วนเป็นภาพยนตร์ที่เคยถูกสร้างมาก่อนแล้วทั้งสิ้น 

ไม่ว่าจะเป็น อันดับ 1 อย่าง “Doctor Strange in the Multiverse of Madness” ภาคต่อของ Doctor Strange และการร้อยเรียงเรื่องราวจากจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล (MCU)

ตามมาด้วยอันดับ 2 อย่าง “Top Gun: Maverick” ภาคต่อของภาพยนตร์ในตำนานอย่าง Top Gun ที่เข้าฉายห่างจากภาคแรกถึง 36 ปี และดึงกลุ่มผู้ชมวัยผู้ใหญ่ให้กลับสู่โรงภาพยนตร์ได้สำเร็จ

 

ขณะที่อันดับ 3 เป็นของภาพยนตร์อัศวินรัตติกาลอย่าง “The Batman” ภาคนี้นำแสดงโดยโรเบิร์ต แพตทินสัน

 

ส่วนอันดับที่ 4 เป็นของภาพยนตร์ไดโนเสาร์ “Jurassic World: Dominion” แม้ว่าจะได้รับคำวิจารณ์ที่ไม่ดีแต่ก็ยังโกยรายได้ไม่หยุด

อันดับ 5 เป็น ภาพยนตร์จีนเรื่อง “Water Gate Bridge” ซึ่งเป็นภาคต่อของ "The Battle at Lake Changjin" ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดทั่วโลกเป็นอันดับที่ 2 ของปีที่แล้ว

นี่จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าการนำภาพยนตร์เก่ากลับมาทำใหม่นั้นก็สามารถสร้างกำไรให้แก่สตูดิโอภาพยนตร์ได้ เนื่องจากได้ฐานผู้ชมที่เคยชื่นชอบในเวอร์ชันเก่า รวมถึงยังสามารถดึงดูดกลุ่มผู้ชมกลุ่มใหม่ ๆ ได้อีกด้วย

ในทุก ๆ ปี มักจะได้ยินชื่อเรียกประเภทเหล่าภาพยนตร์ที่ถูกกลับมาทำใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างใหม่เลย หรือเป็นภาพยนตร์ภาคต่อหรือแม้กระทั่งเรื่องราวก่อนภาพยนตร์ฉบับเดิม ในชื่อของ “รีเมค” (Remake) “รีบูต” (Reboot) “ภาคต่อ” (Sequel) “ภาคต้น” (Prequel) ซึ่งแต่ละคำนั้นมีความหมายไม่เหมือนกัน แต่ก็มีความใกล้เคียงกัน 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จึงอยากชวนผู้อ่านมารู้จักความหมายของแต่ละคำ รวมถึงคำศัพท์อื่น ๆ ที่อาจจะเคยได้ยินกันมาบ้าง พร้อมยกตัวอย่างภาพยนตร์แต่ละประเภทเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

รีเมค (Remake)

วงการฮอลลีวูด เริ่มใช้การ “รีเมค” หรือการนำภาพยนตร์เก่ามาสร้างใหม่ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 โดยวิธีนี้จะยึดโครงเรื่องของเวอร์ชันเดิมเอาไว้ เล่าเรื่องเหมือนกับต้นฉบับทั้งหมด หรือดัดแปลงเสริมเติมเรื่องย่อยเข้าไปด้วยก็ได้ ขึ้นอยู่กับสตูดิโอผู้สร้าง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนของการรีเมค คือ ภาพยนตร์เรื่อง “King Kong” (2476) ที่ปัจจุบันถูกรีเมคมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้งตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1970 โดยการรีเมคครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2519 ที่ใช้โครงเรื่องเดียวกันกับภาพยนตร์ต้นฉบับ แต่มีการเปลี่ยนชื่อตัวละครและการเล่าเรื่อง รวมถึงเปลี่ยนเหตุผลที่คองต้องออกมา ขณะที่เวอร์ชัน 2548 ของ “ปีเตอร์ แจ็คสัน” นั้น ยังยึดตามต้นฉบับอยู่มาก

ขณะที่ “Kong: Skull Island” (2560) เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลสัตว์ประหลาด หรือ “MonsterVerse” ที่มีก็อตซิลลาอยู่ในจักรวาลนี้ด้วย และมีภาคต่อตามมาอีกหลายภาค จึงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกจัดว่าเป็นการรีบูตไม่ใช่รีเมค

ในปัจจุบัน ผลงานรีเมคที่สร้างผลกำไรและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในหมู่ผู้ชม คือภาพยนตร์ฉบับคนแสดง (Live Action) ที่รีเมคมาจาก ภาพยนตร์แอนิเมชันขึ้นหิ้งของดิสนีย์ ไม่ว่าจะเป็น Beauty and the Beast (2560), The Lion King (2562) และ Aladdin (2562) เป็นต้น

รีบูต (Reboot)

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีคำใหม่ที่ใช้เรียกภาพยนตร์เวอร์ชันใหม่ว่า “รีบูต” จนหลายคนเข้าใจว่าคำนี้มีความหมายเดียวกันกับ รีเมค แต่ความจริงแล้ว 2 คำนี้มีความแตกต่างกันอยู่ โดยรีบูตหมายถึงภาพยนตร์เวอร์ชันใหม่ที่มีความแตกต่างจากภาพยนตร์เวอร์ชันเก่าอย่างสิ้นเชิง หรือเป็นการรีเซ็ตใหม่นั่นเอง

นอกจากนี้ การรีบูตมักใช้ภาพยนตร์ชุดหรือภาพยนตร์ที่มีแฟรนไชส์มากกว่าภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียว ซึ่งภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้จะมักไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเวอร์ชันต้นฉบับเลย แม้ว่าองค์ประกอบบางอย่าง เช่น โครงเรื่อง ตัวละคร สถานที่ อาจจะอิงกับเวอร์ชันเก่าบ้าง แต่ก็แทบไม่มีความเกี่ยวข้องกับเวอร์ชันต้นฉบับเลยแม้แต่น้อย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา เช่น ภาพยนตร์ไตรภาค “Star Trek” ล่าสุดที่กำกับโดย “เจ.เจ.แอบรัมส์” ซึ่งเป็นเรื่องราวเอกเทศไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ หรือ ซีรีส์ก่อนหน้า โดย Star Trek กำลังจะมีภาคที่ 4 ซึ่งจะเข้าฉายในปีหน้า

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ภาพยนตร์ไตรภาคชุด “Planet of the Apes” ที่เริ่มจาก Rise of the Planet of the Apes (2554) ตามมาด้วย Dawn of the Planet of the Apes (2557) และปิดท้ายที่ War for the Planet of the Apes (2560) ที่รีบูตมาจากภาพยนตร์ Planet of the Apes ที่เข้าฉายในปี 2511 ซึ่งในตอนนั้นมีด้วยกันทั้งสิ้น 4 ภาค

ขณะที่ “The Mummy” (2560) นำแสดงโดย “ทอม ครูซ” ก็ถือว่าเป็นภาพยนตร์รีบูตมาจาก ภาพยนตร์ไตรภาค The Mummy ที่เข้าฉายในปี 2542 ในตอนแรกนั้น Universal Pictures หมายมั่นปั้นมือให้ The Mummy ของครูซนั้นเป็นภาพยนตร์เปิดจักรวาลสัตว์ประหลาดและผี ในชื่อ “Dark Universe” ซึ่งมีวางกำหนดฉายและมีนักแสดงของภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ในจักรวาลเรียบร้อย แต่ The Mummy ได้รับคำวิจารณ์เข้าขั้นแย่ และทำรายได้ไม่เข้าเป้า จนทำให้ต้องยกเลิกแผนการสร้างจักรวาลไปโดยปริยาย

 

รีไววัล (Revival)

นอกจาก รีเมค และ รีบูต ที่มีความหมายใกล้เคียงกันแล้ว ก็ยังมี “รีไววัล” อีกหนึ่งคำที่ใช้กันในวงการบันเทิง เพียงแต่คำนี้มักถูกใช้กับซีรีส์มากกว่า ซึ่งรีไววัลนี้จะตรงกันข้ามกับรีบูตที่ไม่เชื่อมต่อกับเรื่องราวของภาพยนตร์หรือซีรีส์ต้นฉบับ แต่จะดำเนินเหตุการณ์ต่อจากตอนจบซีรีส์นั้นเลย

เหตุผลที่เรียกว่า รีไววัล ที่แปลว่าการคืนชีพนั้น เนื่องจากซีรีส์เหล่านี้ได้จบสมบูรณ์ในตัวไปแล้ว และผู้ชมส่วนใหญ่ไม่คิดว่าจะถูกนำมาสร้างอีกในอนาคต ตัวอย่างเช่น ซิตคอมเรื่อง “Roseanne” (2531) ที่ได้รับความนิยมอย่างมากจนสร้างเรื่อยมาถึง 10 ซีซัน และจบบริบูรณ์ในปี 2539 ก่อนถูกรีไววัลเป็นซีรีส์ 8 ตอน ในปี 2561 และในปีเดียวกันยังมีการสร้างซิตคอมภาคแยกในชื่อ “The Conners

เช่นเดียวกับซิตคอมเรื่อง “The Full House” (2530-2538) ที่ได้รับการรีไววัลในชื่อ “Fuller House” (2559-2563) และนำมาฉายทาง Netflix ซึ่งทำหน้าที่เป็นภาคต่อที่ดำเนินเรื่องราวต่อจาก The Full House

 

ภาคต่อ (Sequel)

คำนิยามที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดของ “ภาคต่อ” (Sequel) คือ ภาพยนตร์ที่ดำเนินเรื่องราวต่อจากภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้า และรับรู้ได้ว่าเนื้อเรื่องในภาพยนตร์เรื่องก่อนได้เกิดขึ้นจริง โดยมักจะได้นักแสดงชุดเดิมมารับบทเดิม 

ภาพยนตร์ภาคต่อนี้มีการสร้างมาตั้งแต่ในยุคแรก ๆ ของวงการฮอลลีวูด ซึ่งเกิดจากภาพยนตร์ภาคแรกประสบความสำเร็จและมองเห็นลู่ทางที่สามารถสร้างต่อได้ สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรก ๆ ของฮอลลีวูดที่มีการสร้างภาคต่อคือ “Frankenstein” (2474) โดยมีการสร้างภาคต่อมาอีกอย่างน้อย 4 ภาค หรือที่เห็นได้ชัดในปีนี้อย่าง Top Gun: Maverick และ Jurassic World: Dominion ล้วนเป็นภาพยนตร์ภาคต่อเช่นกัน

 

ภาคต้น (Prequel)

ภาคต้น” เป็นภาพยนตร์ที่สร้างที่หลังจากภาพยนตร์ภาคแรก แต่กลับไปย้อนเล่าเรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าภาพยนตร์เรื่องแรก โดยภาพยนตร์ภาคต้นนี้ยังคงมีตัวละครหลักเป็นตัวละครเดิม เช่นเดียวกับในภาพยนตร์ต้นฉบับและภาพยนตร์ภาคต่อ

ตัวอย่างเช่น “Monster, Inc.” (2544) และ “Monster University” (2556) ที่แม้ว่า Monster, Inc. จะเข้าฉายก่อน แต่เหตุการณ์ที่เกิดใน Monster University นั้นเกิดก่อน เพราะเป็นเรื่องราวของ ไมค์ และ ซัลลี สมัยที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ก่อนที่เข้าทำงานในบริษัทซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน Monster, Inc.

 

สปินออฟ (Spin-off)

สปินออฟ” เป็นภาพยนตร์ที่นำตัวละครรองจากภาพยนตร์เรื่องอื่นในจักรวาลเดียวกัน มาเป็นตัวละครหลักในเรื่องของตัวเอง ซึ่งจะมีเนื้อเรื่องที่แตกต่างออกไปจากภาพยนตร์เรื่องหลัก ยกตัวอย่างเช่น มินเนียน วายร้ายตัวเหลืองลูกสมุนของ มิสเตอร์กรู ตัวละครหลักในแฟรนไชส์ “Despicable Me” (2553) แต่พอมีการสปินออฟมาทำภาพยนตร์เรื่อง “Minions” (2558) เหล่ามินเนียนก็กลายมาเป็นตัวละครหลักแทน ส่วนมิสเตอร์กรู ก็กลายเป็นตัวละครรองแทน

 

ครอสโอเวอร์ (Crossover)

ในปัจจุบันภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่หลายเรื่องมักเอาตัวละครหลักจากภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ ในจักรวาลเดียวกันมารวมตัวกันในภาพยนตร์เรื่องเดียว หรือที่เรียกว่า “ครอสโอเวอร์” อย่างเช่น “The Avengers: End Game” ที่รวบรวมเอาซูเปอร์ฮีโร่ทั้งจักรวาลมาร่วมต่อสู้กับ “ธานอส” ตัวร้ายหลักของเรื่อง

โดยทั่วไปแล้ว การครอสโอเวอร์ มักจะเริ่มจากสร้างตัวละครเดี่ยวแต่ละตัวให้เป็นที่รู้จักก่อน แล้วค่อยเอามารวมกัน แต่จักรวาลภาพยนตร์ดีซี (DC Extended Universe) กลับแตกต่างออกไป ด้วยการสร้างภาพยนตร์ครอสโอเวอร์ก่อนทั้ง “Batman v Superman: Dawn of Justice” (2559) และ “Justice League” (2560) ก่อนจะสร้างภาพยนตร์แยกให้ตัวละครแต่ละตัว ซึ่งหลายตัวละครก็เริ่มล้มหายตายจากกันไปก่อนจะมีภาพยนตร์เป็นของตัวเอง

Star Wars” เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการทำความเข้าใจคำศัพท์เหล่านี้ โดยภาพยนตร์ไตรภาคชุดแรกของ Star Wars นั้นเข้าฉายตั้งแต่ปี 2520-2526 ตามมาด้วยไตรภาคชุดที่ 2 ที่เป็นเหตุการณ์ก่อนไตรภาคชุดแรก (ภาคต้น) เข้าฉายในช่วงปี 2542-2548 ก่อนจะปิดท้ายด้วยไตรภาคชุดที่ 3 (2558-2562) ที่เป็นภาคต่อของไตรภาคชุดแรก ดังนั้นหากจะต้องการดู Star Wars ตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามลำดับเวลาจะต้องไล่ดูจาก

 

ไตรภาคชุดที่ 2 (Prequel trilogy: Episodes I–III)

  • Star Wars: Episode I – The Phantom Menace (2542)
  • Star Wars: Episode II – Attack of the Clones (2545)
  • Star Wars: Episode III – Revenge of the Sith (2548)

ไตรภาคชุดที่ 1 (Original trilogy: Episodes IV–VI)

  • Star Wars: Episode IV – A New Hope (2520)
  • Star Wars: Episode V – The Empire Strikes Back (2523)
  • Star Wars: Episode VI – Return of the Jedi (2526)

ไตรภาคชุดที่ 3 (Sequel trilogy: Episodes VII–IX)

  • Star Wars: Episode VII – The Force Awakens (2558)
  • Star Wars: Episode VIII – The Last Jedi (2560)
  • Star Wars: Episode IX – The Rise of Skywalker (2562)

 

นอกจากนี้ Star Wars ยังมีภาพยนตร์สปินออฟ อีก 2 เรื่องคือ “Rogue One: A Star Wars Story” (2559) และ “Solo: A Star Wars Story” (2561)

อย่างไรก็ตาม การใช้คำนิยามเหล่านี้กับภาพยนตร์แต่ละเรื่องเริ่มเป็นเรื่องที่ยากขึ้น อย่างเช่น “Halloween” (2561) ภาพยนตร์สยองขวัญที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างภาคต่อและรีบูตเลือนหายไป เนื่องจากตัวละครในภาคนี้รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ภาคแรกที่เข้าฉายในปี 2521 แต่ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ภาคต่อ ๆ มา จนทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเรียกว่า "Rebootquel" ที่เป็นการรวมคำระหว่าง reboot และ sequel

นอกจากนี้ยังมีคำว่า "ภาคต่อดั้งเดิม" (Legacy Sequel) หรือที่รู้จักในชื่อ “Remakequel” ที่มาจากคำว่า remake รวมกับ sequel ซึ่งทางเทคนิคแล้ว ภาพยนตร์เหล่านี้คือภาคต่อ แต่ขณะเดียวกันก็เล่าเรื่องที่เคยเล่าในภาพยนตร์ภาคก่อนหน้านี้ไปแล้ว ตัวอย่างเช่น Star Wars: Episode VII – The Force Awakens ที่เป็นภาคต่อของ Star Wars: Episode VI – Return of the Jedi แต่ในขณะเดียวกัน ก็แทบจะเป็นการรีเมค Star Wars: Episode IV – A New Hope

รวมไปถึง ภาพยนตร์ไตรภาค “Jurassic World” (2558) ที่เป็นภาคต่อของ “Jurassic Park III” (2544) ที่เหมือนจะเป็นการรีบูตแฟรนไชส์ใหม่ แต่ขณะเดียวกัน ก็หยิบยืมโครงเรื่องและไดโนเสาร์จาก Jurassic Park มาอย่างมากเช่นกัน

ดังนั้น ไม่ว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะถูกนิยามว่าเป็นภาพยนตร์แนวใดก็ตาม คงไม่สำคัญเท่าภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ สามารถมอบความสนุก ความคุ้มค่าให้กับผู้ชมได้เท่ากับภาพยนตร์ต้นฉบับ หรือ ภาพยนตร์ภาคก่อนได้หรือไม่ มิฉะนั้น ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวก็ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ และอาจทำลายความดีงามของแฟรนไชส์ต้นฉบับอีกด้วย

 

ที่มา: First ShowingMedium, Screenrant, VOX