นอนกับ ‘หมา-แมว’ หลับสบาย หรือ ทำลายคุณภาพการนอน

นอนกับ ‘หมา-แมว’ หลับสบาย หรือ ทำลายคุณภาพการนอน

ในยุคที่เทรนด์การเลี้ยงสัตว์เสมือนคนในครอบครัว เหล่าบรรดาคนรักสัตว์หลายคนมักนำน้องหมาน้องแมว เข้ามานอนด้วย ซึ่งมีส่วนช่วยให้เจ้าของ เกิดความสบายใจ คลายเหงา คลายเครียด แต่ในบางกรณี การนอนกับสัตว์เลี้ยงก็อาจส่งผลต่อการนอนได้เช่นกัน

Key Point :

  • การเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะ น้องหมา น้องแมว สัตว์อื่นๆ รวมถึงสัตว์เอ็กโซติก สามารถช่วยลดความเครียด ทำให้เจ้าของรู้สึกสบายใจ ส่งผลให้สุขภาพจิตดีขึ้น 
  • หลายคนมีความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงเหมือนคนในครอบครัว และนำน้องๆ เข้าไปนอนด้วยในช่วงกลางคืน ซึ่งในบางกรณี อาจส่งผลต่อคุณภาพการนอน สะดุ้งตื่นกลางดึก หรือขากระตุกได้
  • ทั้งนี้ การนอนไม่พอ ส่งผลให้สมองไม่ได้รับการพักผ่อน อาจจะมีความจำเลอะเลือน เบลอ หากเป็นเยอะจะนำไปสู่ซึมเศร้าได้ในอนาคต ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้น้อยลง ความดันเพิ่มขึ้น ตามมาด้วยเบาหวาน ปวดไขข้อ 

 

 

เทรนด์การเลี้ยงสัตว์ที่เปรียบเสมือนคนในครอบครัว หรือ Pet Parent ทำให้ตลาดสัตว์เลี้ยงเติบโต สัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเป็นน้องหมา น้องแมว สัตว์อื่นๆ และสัตว์เอ็กโซติก หลายครั้งช่วยเยียวยา และแก้เหงา การสำรวจ ‘การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นลูกของคนยุคใหม่’ ของ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) พบว่า เหตุผลที่คนไทยนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในปัจจุบัน คือ

  • 49% ของกลุ่มตัวอย่าง ต้องการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นลูก (Pet Parent)
  • 34% ของกลุ่มตัวอย่าง ต้องการเลี้ยงสัตว์เพื่อสถานะทางสังคม (Pet Prestige)
  • 18% ของกลุ่มตัวอย่าง ต้องการเลี้ยงสัตว์เพื่อช่วยเหลือและบำบัดรักษา (Pet Healing)

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

Art of Sleep ศิลปะการนอน นอนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ?

มหัศจรรย์แห่ง 'การนอนหลับ' เพื่อสุขภาพดี ชีวิตยืนยาว

คนทั่วโลกนอนไม่ถึง 7 ชั่วโมง แถมนอนหลับไม่มีคุณภาพ ทำสุขภาพแย่

 

 

 

นอนกับสัตว์เลี้ยง อาจรบกวนการพักผ่อน

ทั้งนี้ พบว่าหลายคน นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปนอนด้วยในเวลากลางคืน การนอนกับสัตว์เลี้ยง หลายครั้งช่วยให้เราเกิดความอบอุ่น ลดความเครียด ทำให้เจ้าของรู้สึกสบายใจ ส่งผลให้สุขภาพจิตดีขึ้น บรรเทาอาการวิตกกังวล ไม่เหงา อีกทั้ง การเลี้ยงสัตว์ ทำให้มีเป้าหมายของชีวิตและรู้สึกถึงความหมายในการมีชีวิตอยู่ โดยพบว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีโอกาสป่วยเป็นโรคซึมเศร้าน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์

 

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีนั้น การนอนกับสัตว์เลี้ยงก็อาจทำให้เจ้าของพักผ่อนไม่เต็มที่ เนื่องจากน้องหมา อาจเห่าหอนเสียงดัง และน้องแมวที่อาจปลุกเจ้าของให้มาเล่นด้วยกลางดึก การข่วน กระโดด วิ่งไปมา รวมถึงการ ขับถ่ายกลางดึก ซึ่งรบกวนการนอน ส่งผลให้นอนหลับได้อย่างไม่เต็มที่

 

ที่ผ่านมา มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Human-Animal Interactions เผยแพร่ในเว็บไซต์ BBC ชี้ว่า การเลี้ยงสัตว์อย่างน้องหมาและน้องแมว มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับอาการนอนไม่หลับ รวมทั้งโรคเกี่ยวกับการนอนอีกหลายชนิด โดยกรณีของผู้ที่การนอนมีปัญหานั้น พบได้บ่อยกว่าในกลุ่มคนที่มีสัตว์เลี้ยง เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่ได้เลี้ยงหมาหรือแมว

 

อีกทั้ง ยังพบอาการที่แสดงออกถึงปัญหาในการนอนของกลุ่มตัวอย่าง นอกจากการนอนหลับยากแล้วยังได้แก่ การนอนกรน, สะดุ้งตื่นกลางดึก, ติดยานอนหลับ, รวมทั้งมีอาการขากระตุกหรือขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome - RLS)

 

ผลการวิเคราะห์พบว่า คนที่เลี้ยงหมาหรือแมวมักมีแนวโน้มจะนอนไม่หลับหรือมีปัญหาในการนอนสูงกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่มีสัตว์เลี้ยง โดยคนที่มีสุนัขอยู่ในบ้านมีความเสี่ยงต่อโรคนอนไม่หลับสูงกว่าอย่างชัดเจน ส่วนคนที่เลี้ยงแมวนั้น มีความเสี่ยงต่ออาการขากระตุกหรือขาอยู่ไม่สุขขณะนอนหลับสูงกว่า

 

นอนกับ ‘หมา-แมว’ หลับสบาย หรือ ทำลายคุณภาพการนอน

 

 

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจของ National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES) เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ environman จากกลุ่มตัวอย่าง 5,499 คนในสหรัฐฯ พบว่า คนที่เป็นเจ้าของแมวมีรายงานอาการขากระตุกมากถึง 28.2% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้เลี้ยงแมวอยู่ที่ 21.2% ขณะที่เจ้าของน้องหมา 28.7% บอกว่ามีปัญหาการนอนหลับ เทียบกับคนที่ไม่ได้เลี้ยงหมาอยู่ที่ 21.6% อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าเจ้าของควรนอนร่วมกันน้องหมาน้องแมวรึเปล่า ซึ่งต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

 

การนอนที่มีคุณภาพ คืออะไร

ข้อมูลจาก นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ (หมอแอมป์) อธิบายว่า มี 3 องค์ประกอบ คือ ระยะเวลา (Sleep duration) ผู้ใหญ่ควรนอนให้ได้ 7 – 9 ชั่วโมงทุกคืน ความต่อเนื่อง (Sleep continuity) การนอนที่มีคุณภาพต้องมีความต่อเนื่อง ไม่ตื่นระหว่างนอนหลับรวมกันมากกว่า 20 นาที ความลึก (Sleep depth) ช่วงนี้ความถี่ของคลื่นสมองจะลดลงอยู่ในช่วงคลื่นเดลต้า (Delta Waves) เป็นคลื่นสมองที่ช้าที่สุด ความถี่ประมาณ 0.5-3 รอบต่อวินาที เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth hormone) หรือ ฮอร์โมนชะลอความแก่ ออกมาเพื่อช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้างการทำงานของร่างกาย

 

รู้ได้อย่างไรว่า 'นอนคุณภาพ'

นพ.จิรยศ จินตนาดิลก , FAASM, FACP อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การนอนหลับ เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ และอายุรแพทย์โรคปอด โรงพยาบาลเมดพาร์ค อธิบายว่า การนอนที่มีคุณภาพ สามารถดูได้จาก 3 อย่าง คือ

  • หากตื่นมาแล้วมีอาการสดชื่น ไม่อ่อนเพลีย
  • กลางวันไม่ง่วง
  • อารมณ์ ควบคุมตัวเองได้ ไม่หงุดหงิด

 

นอนกับ ‘หมา-แมว’ หลับสบาย หรือ ทำลายคุณภาพการนอน

 

นอนไม่พอส่งผลเสียอย่างไร

การนอน ของคนเรามีความจำเป็น เพราะต้องมีการสร้างเสริมพลังงานเพื่อใช้ในวันต่อไป และสร้างเสริมส่วนที่สึกหรอในตอนกลางคืนด้วย อย่างไรก็ตาม หากนอนไม่พอร่างกายจะมี Sleep Deprivation หรือเรียกว่า หนี้ในการนอน หากไม่ใช้หนี้ในการนอน ร่างกายจะแย่ไปเรื่อยๆ ซึ่งผลข้างเคียงจากการอดนอน ได้แก่

  • สมองไม่ได้รับการพักผ่อน อาจจะมีความจำเลอะเลือน เบลอ หากเป็นเยอะจะนำไปสู่ซึมเศร้าได้ในอนาคต
  • ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้น้อยลง
  • ความดันเพิ่มขึ้น ตามมาด้วยเบาหวานมีโอกาสเกิดได้มากขึ้น
  • ปวดไขข้อ เพราะร่างกายไม่ได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหล่อ

 

ผลเสียระยะยาว

  • ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น โดยเฉพาะคนขับรถบรรทุก
  • ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
  • เบาหวาน
  • เส้นเลือดอุดตัน สโตรก ความดันสูง โรคหัวใจ
  • โรคอ้วน การอดนอน ทำให้การควบคุมการกินเปลี่ยนแปลงไป

 

นอนไม่มีคุณภาพ อาจเกิดจาก ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

นอกจากนี้ การนอนไม่มีคุณภาพ ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น อาจเกิดจาก ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ คือ เมื่อเรานอนหลับไป ลิ้น และ ไขมันรอบๆ คอจะตก กล้ามเนื้อรอบคออ่อนแรงลง โอกาสลิ้นตก ไขมันรอบคอปิดหลอดลมมากขึ้น สมองจะสู้ เกิดเสียงกรนขึ้นมา อย่างไรก็ตาม เสียงกรนมากไม่ได้หมายความว่ามีโอกาสเสี่ยงมากกว่า เพราะบางคนเสียงกรนน้อยก็สามารถเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้มากกว่าเช่นกัน

 

การป้องกัน คือ ในทางการแพทย์ หากจะตรวจการนอนหลับ คือ การตรวจ Polysomnography ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง การเคลื่อนไหวอากาศจมูก ออกซิเจน คลื่นไฟฟ้าหัวใจ รวมถึง วัดการเคลื่อนไหวของเท้าได้ด้วย หรือคนที่มีภาวะขาอยู่ไม่สุข อาจจะเป็นอาการทางสมองหรือขาดธาตุเหล็ก