รพ.พริ้นซ์ฯ ชูความพร้อมการแพทย์ รองรับ 'Medical Tourism'

รพ.พริ้นซ์ฯ ชูความพร้อมการแพทย์ รองรับ 'Medical Tourism'

โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ชูความพร้อมรับ Medical Tourism ด้วยจุดเด่นที่ตั้ง ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิและเส้นบางนา-ตราด คุณภาพของการรักษาพยาบาลในระดับนานาชาติ ความเชี่ยวชาญของแพทย์ และราคาที่เข้าถึงได้ ตอบโจทย์เป้าหมาย Medical Hub ของไทย

Key Point : 

  • มีการคาดการณ์ว่า ปี 2570 ตลาด ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย จะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหลังโควิด-19 แตะระดับ 7.6 แสนล้านบาท
  • รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ชูความพร้อมรับ Medical Tourism ด้วยจุดเด่นที่ตั้ง คุณภาพของการรักษาด้วยมาตรฐาน JCI ความเชี่ยวชาญของแพทย์ และราคาที่เข้าถึงได้
  • โดยปี 2567 เดินหน้าแผนรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ มุ่งเน้น Wellness การป้องกันโรคเกี่ยวกับสมอง ลงทุนด้านเทคโนโลยี และพัฒนาสู่การเป็น ศูนย์มะเร็งครบวงจร 

 

 

ประเทศไทย ถือเป็นจุดหมายปลายทางของ Medical Tourism ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มองว่า การผลักดันไทยก้าวเข้า Medical Hub อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากจะช่วยดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศแล้ว ยังเพิ่มการจ้างงาน และเชื่อมโยงไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้อีกมาก

 

มีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาด ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย จะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหลังโควิด-19 แตะระดับ 7.6 แสนล้านบาทในปี 2570 หรือเติบโตเฉลี่ย 13.2% ต่อปี และมีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เข้ามาใช้บริการกว่า 7.7 ล้านคน ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลเอกชนเอง ต่างเร่งมือพัฒนาศักยภาพการแพทย์ และบริการเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของไทยที่จะเป็น Medical Hub รองรับ Medical Tourism รวมถึง การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่จะมีความต้องการบริการทางการแพทย์มากขึ้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ โรงพยาบาลเอกชน ขนาด 200 เตียง ในเครือ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ด้วยพื้นที่ตั้งอยู่ริมถนนบางนา–ตราด หลักกิโลเมตรที่ 6 มุ่งให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพทางการรักษาพยาบาล โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา นับเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนที่มีความสามารถในการรองรับผู้ป่วยทั้งไทยและต่างชาติ

 

นพ.ตะวัน จิตต์จุฬานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ กล่าวถึงความพร้อมของโรงพยาบาลในการเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมาย Medical Hub ว่า อันดับแรก คือ จุดที่ตั้ง เราอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิและเส้นบางนา-ตราด ซึ่งจะมีโครงการใหญ่ๆ เกิดขึ้นรองรับชาวต่างชาติไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยหรือห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ดังนั้น เส้นบางนา-ตราด จะเป็น  ศูนย์กลางที่นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น

 

“นโยบายมาจากเครือหลักอย่าง บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด มุ่งมั่นให้โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ มีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยว คำว่าศักยภาพที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ ต้องมีหลายปัจจัย เช่น การมีคุณภาพของการรักษาพยาบาลในระดับนานาชาติ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเชื่อมั่น โดยเฉพาะมาตรฐาน JCI (Joint Commission International)”

 

ถัดมา คือ การให้บริการ สิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยตั้งเป้าสู่การเป็น Medical Hub เพราะมีความโดดเด่นในด้านบริการแบบ Thai Hospitality โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ได้พัฒนาบริการแบบ Thai Hospitality ผสมผสานการให้บริการแบบไทยและสากลยอมรับ สามารถปรับบริการให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมที่หลากหลาย ความพร้อมของภาษาและล่าม โดยไม่ทิ้งจุดเด่นวัฒนธรรมในแบบไทย

 

รพ.พริ้นซ์ฯ ชูความพร้อมการแพทย์ รองรับ \'Medical Tourism\'

 

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญ คือ ความเชี่ยวชาญของแพทย์ เป็นจุดหนึ่งที่ชาวต่างชาติเลือกมารักษาในไทย มองว่าหากจะเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่รองรับ Medical Tourism ได้ จะต้องมีแพทย์ที่ต่างชาติรู้จัก เช่น สาขาหัวใจ สาขากระดูกและข้อ หรือแม้กระทั่งการผ่าตัดแผลเล็ก และศัลยกรรมพลาสติก เรียกว่าเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ต่างชาติเชื่อมั่น

 

“และสุดท้าย เรื่องของราคา ซึ่งมีการแข่งขันกันในประเทศต่างๆ ราคาที่เข้าถึงได้จะทำให้ต่างชาติเลือก ดังนั้น การวางกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ในการตอบโจทย์ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Medical Hub และรองรับ Medical Tourism คือ เรื่องของโลเคชั่นเราพร้อม ราคาเหมาะสม แพทย์ที่เชี่ยวชาญ และคุณภาพระดับนานาชาติ”

 

ศูนย์กลางดูแลผู้ป่วยหนักในเครือ

 

ทั้งนี้ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด มีโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 15 สาขาทั่วประเทศ ความเชี่ยวชาญซึ่งถือเป็นจุดเด่นโดยเฉพาะการรักษาโรคหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นสวนหัวใจในผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบ รวมถึงการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดปกติ การผ่าตัดหัวใจเช่น การผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจตีบตัน การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เย็บซ่อมผนังหัวใจรั่ว เเป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังมีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดศัลยกรรม ศัลยกรรมกระดูก ตั้งแต่แผลเล็กจนถึงการผ่าตัดที่มีความซับซ้อน เช่น กระดูกสันหลัง ผ่าตัดลดน้ำหนัก โดยแพทย์ที่มีสามารถดูแลเคสยากได้ เราพยายามผลักดันตัวเองให้มีศักยภาพทางการแพทย์ เพื่อรองรับคนในพื้นที่ในกรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงเป็นศูนย์กลางเพื่อรองรับคนไข้หนักจากโรงพยาบาลในเครือ

 

อนาคตการแพทย์ 3-5 ปีข้างหน้า

 

ทั้งนี้ หลังจากโควิด-19 เรียกว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเติบโตมากขึ้น จากการกลับมาใช้บริการของผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติ 'นพ.ตะวัน' กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ต้องพัฒนาเพื่อรองรับการกลับมาของผู้ป่วย คือ เรื่องของคุณภาพ เพราะในช่วงโควิด-19 ต้องยอมรับว่าทุกโรงพยาบาลมุ่งเน้นการดูแลเคสโควิด ดังนั้น เมื่อโควิด-19 คลี่คลาย สิ่งที่โรงพยาบาลหลายแห่งพยายามทำ คือ ฟื้นฟูการให้บริการ เช่น อัตรากำลังของบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล การพัฒนาในเรื่องดูแลผู้ป่วย

 

สำหรับ อุตสาหกรรมการแพทย์ ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต แม้กระทั่งช่วงโควิด ขณะเดียวกัน การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้การแข่งขันสูงขึ้นทั้งโรงพยาบาลเปิดใหม่และโรงพยาบาลที่เปิดมานานแล้วก็ต้องพยายามผลักดันตัวเอง หานโยบาย กลยุทธ์ หรือความแตกต่างที่จะโดดเด่น เพื่อให้สามารถอยู่ในอุตสาหกรรมได้

 

“เทรนด์อุตสาหกรรมการแพทย์ ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า มองว่าจะยังมีการเติบโต จากปัจจัยของนักท่องเที่ยว Medical Tourism ถัดมา คือ สังคมผู้สูงอายุ ประชากรเริ่มมีอายุมากขึ้น โรคที่ตามมาในกลุ่มผู้สูงอายุก็จะมากขึ้นด้วย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรต้องการเข้าสู่บริการสาธารณสุขในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า”

 

ในปี 2567 ที่จะถึงนี้ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ยังมีแผนในการรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ มุ่งเน้นในเรื่องของ Wellness การป้องกันโรคเกี่ยวกับสมอง และลงทุนด้านเทคโนโลยีในการป้องกันการเจ็บป่วยในผู้สูงอายุ รวมถึง พัฒนาการรักษามะเร็ง เพื่อก้าวสู่การเป็น “ศูนย์มะเร็งครบวงจร” ครอบคลุมตั้งแต่การรักษา ผ่าตัด ให้เคมีบำบัด ฉายแสง ผสมผสานการรักษาแบบสหสาขา ถือเป็นความพร้อมที่จะแข่งขันได้ในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ