ททท. เคลื่อนยุทธศาสตร์ "ไทย เมดิคัล ฮับ ออฟ เดอะ เวิลด์"

ททท. เคลื่อนยุทธศาสตร์ "ไทย เมดิคัล ฮับ ออฟ เดอะ เวิลด์"

“ททท.” ผนึกเอกชนท่องเที่ยว-โรงพยาบาล ดันไทยสู่ “เมดิคัล ฮับ ออฟ เดอะ เวิลด์” อัพรายได้ “เมดิคัล ทัวริสซึ่ม” ทะยาน 2 แสนล้าน ปี 2580 ชูยุทธศาสตร์ TSMRI ยกระดับเทคโนโลยี มาตรฐานคุณภาพการรักษาสู่สากล “แอตต้า” ชี้จุดแข็งไทยก้าวสู่เมดิคัลฮับโลกได้ แนะเร่งสร้างแบรนด์สู้สิงคโปร์

เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา บนเวทีสัมมนา กรุงเทพธุรกิจ Roundtable “รัฐและเอกชนไทยพร้อมแค่ไหน กับการก้าวสู่ Medical Tourism หลังเปิดประเทศ” กรุงเทพธุรกิจ X Roche ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนปาร์คมีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมสะท้อนถึงศักยภาพการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (เมดิคัล ทัวริสซึ่ม) ที่ชาวต่างชาติเดินทางมาไทยเพื่อรักษาโรคควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว รวมถึงความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางของเมดิคัลทัวริสซึ่มระดับโลก

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.มุ่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ศูนย์กลางท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลก (Medical Hub of The World) ยกระดับความพร้อมของประเทศไทยให้ติดท็อป 5 ของการจัดอันดับ Medical Tourism Index ให้ได้ในอนาคต จากปัจจุบัน Medical Tourism Index 2020-2021 ประเทศไทยรั้งอันดับ 17 เป็นรอง 5 อันดับแรก ได้แก่ แคนาดา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สเปน และสหราชอาณาจักร

พร้อมผลักดันตลาดเมดิคัลทัวริสซึ่มของประเทศไทยสร้างรายได้  2 แสนล้านบาทในปี 2580 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2561-2580) สูงกว่าคาดการณ์เดิมซึ่งเคยมีการประเมินก่อนหน้านี้ว่ารายได้ตลาดเมดิคัลทัวริสซึ่มของไทยในปีดังกล่าวจะอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 10.8% ต่อปี เพิ่มจากฐานรายได้ 2.35 หมื่นล้านบาทเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ทำให้ประเทศไทยติดอันดับ 5 ของตลาดเมดิคัลทัวริสซึ่มที่โดดเด่นระดับโลก จากข้อมูลของสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel and Tourism Council : WTCC)

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวตลาดเมดิคัลทัวริสซึ่ม คาดการณ์ว่าในปี 2580 จะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3.8 ล้านคน เติบโต 6.1% ต่อปี จากฐาน 1.3 ล้านคนเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่นับรวมชาวต่างชาติที่เป็นเอ็กซ์แพท (Expat) กระจายการใช้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ พัทยา หัวหิน เชียงใหม่ และภูเก็ต

เมื่อปี 2560 มีนักท่องเที่ยวตลาดเมดิคัลทัวริสซึ่มเดินทางมาไทย คิดเป็น 38% ของนักท่องเที่ยวตลาดนี้ทั้งหมดในเอเชีย เติบโต 13% กระทั่งโควิด-19 ระบาดทั่วโลกกระทบต่อการเดินทางมารักษาพยาบาลในไทย เมื่อโควิดคลี่คลาย คาดนักท่องเที่ยวตลาดเมดิคัลทัวริสซึ่มจะฟื้นกลับสู่ภาวะปกติที่ 1.2-1.3 ล้านคนในปี 2567

ทั้งนี้นักท่องเที่ยวตลาดเมดิคัลทัวริสซึ่มใช้จ่ายสูง 2-3 เท่าของนักท่องเที่ยวทั่วไป ททท.จึงวางกลยุทธ์เจาะนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง แบ่งเซ็กเมนต์ตามแบบจำลองกลุ่มบุคคล (Persona) 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ส่วนตามช่วงวัยของประชากร มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม Millennials และ Active Senior ตามพฤติกรรม มี 2 กลุ่ม คือ Medical & Wellness และ Conscious Travelers

“โรดแมพผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมดิคัลทัวริสซึ่มของโลก จะต้องพลิกโฉมตัวเองจากเมดิคัลทัวริสซึ่มที่เน้นปริมาณไปสู่ความยั่งยืน โดยเน้นคุณภาพ ความชำนาญเฉพาะทาง และเทคโนโลยี”

 

++ ชูยุทธศาสตร์ TSMRI ขับเคลื่อนเมดิคัลทัวริสซึ่ม

สำหรับยุทธศาสตร์ TSMRI ขับเคลื่อนตลาด ประกอบด้วย 1.Technology นำเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการและเกิดการใช้งานจริง สนับสนุนระบบนิเวศของธุรกิจ เฮลธ์ เทค สตาร์ตอัพ  2.Standard ยกระดับมาตรฐานคุณภาพการรักษาสู่สากล ผลักดันการรักษาของไทยสู่การให้บริการทางการแพทย์อย่างแม่นยำ ใช้เทคโนโลยีในการรักษาโรคที่ซับซ้อน 3.Manpower ผลิตบุคลากรฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเจาะจง 4.Research ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อให้ไทยสร้างผลิตภัณฑ์การแพทย์แบบไทยที่มีความโดดเด่นแตกต่าง และ 5.Investment ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนทางด้านบริการแบบเฉพาะทางและให้บริการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

 

++ ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ไม่แพง จูงใจคนเดินทาง

สำหรับความท้าทายของตลาดเมดิคัลทัวริสซึ่มไทย มี 3 ประเด็นหลัก 1.สังคมผู้สูงอายุที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุปี 2563 ทั่วโลกมีประชากรผู้สูงอายุเกิน 60 ปี เฉลี่ย 13.5% หรือ 1,049 ล้านคนทั่วโลก เพิ่มเป็น 21% หรือ 2,100 ล้านคนในปี 2593 ข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปี 2564 ไทยมีผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ราว 13 ล้านคน หรือ 20% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และ 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2575 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด คืออายุเกิน 60 ปี สูงถึง 28%

2.ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของหลายประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวตลาดเมดิคัลทัวริสซึ่ม โดยเฉพาะสหรัฐ ยุโรป โอเชียเนีย ต้องการเดินทางมารับบริการทางการแพทย์ในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเพิ่มขึ้น โดยไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่ำกว่าการรักษาในสหรัฐ 57-79%

และ 3.สร้างความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อให้นักท่องเที่ยวตลาดเมดิคัลทัวริสซึ่มเกิดความมั่นในใจมาตรฐานคุณภาพการรักษาในระดับสากล ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเอกชนในไทยที่ได้รับการรับรองโดย JCI จำนวน 59 แห่ง แม้จะมากเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย แต่ยังมีสัดส่วนไม่สูงนักเทียบโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด 343 แห่ง

 

++ “แอตต้า” จี้เร่งโปรโมท-สร้างแบรนด์สู้สิงคโปร์

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ศักยภาพประเทศไทยในการก้าวสู่เมดิคัลฮับของโลก มาจากจุดแข็งหลายเรื่อง อาทิ การมีจำนวนโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองโดย JCI มากอันดับ 1 ของอาเซียน, อันดับ 2 ของเอเชีย และอันดับ 4 ของโลก ถือเป็นประเทศที่มีมาตรฐานบริการทางการแพทย์สูง ภายใต้ค่าบริการย่อมเยา ค่าครองชีพถูก ทั้งยังเข้าถึงแพทย์ได้ง่าย ต่างจากประเทศอื่นๆ เช่น จีน ที่เข้าถึงแพทย์ได้ยากกว่าและต้องรอนาน

“บริการทางการแพทย์ของไทยไม่ได้แพ้สิงคโปร์ แต่ในความรู้สึกของนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจคิดว่าสิงคโปร์เหนือกว่าไทย ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องเร่งสร้างแบรนด์ เร่งโปรโมทให้ชาวต่างชาติรู้จักมากขึ้น ทำให้ตลาดเมดิคัลทัวริสซึ่มของไทยยืนระยะได้อย่างยั่งยืน”