แนวโน้มปี 65 คาด “รพ.เอกชน” ฟื้นตัว "Medical Tourism" เริ่มกลับมา

แนวโน้มปี 65 คาด “รพ.เอกชน” ฟื้นตัว "Medical Tourism" เริ่มกลับมา

พฤติกรรมของคนไข้ที่เปลี่ยนไปในช่วง "โควิด-19" รวมถึงการวิกฤติโรคระบาดทำให้ "รพ.เอกชน" ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่พึ่งพาจากคนไข้ทั้งชาวไทยและบางแห่งเน้นคนไข้ต่างชาติรายได้ชะลอตัวในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าในปี 2565 กลุ่ม Medical Tourism จะเริ่มกลับมา

“ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ต้องพึ่งพารายได้จากคนไข้ทั้งชาวไทยและต่างชาติ แต่เมื่อเกิดโควิด-19 พฤติกรรมของคนไข้เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีใครอยากมาพบแพทย์ หรือมาโรงพยาบาล ขณะเดียวกันต่างชาติที่สนใจจะเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในไทยก็ต้องงดเข้าประเทศไทยเช่นเดียวกัน

 

  • ปี 65 Medical Tourism บูม

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การระบาดของโควิด-19ภายในประเทศน่าจะส่งผลให้ภาพรวมของตลาด Medical Tourism ของไทยปี 2564 ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าไม่ต่ำกว่า90% (YoY)หรือมีจำนวนราว10,000-20,000คน (ครั้ง) โดยตลาดคนไข้ที่คาดว่าจะหดตัวสูงน่าจะเป็นกลุ่มตะวันออกกลาง (เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต โอมาน ซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น) จีน และกลุ่มประเทศในอาเซียน (เมียนมา กัมพูชา ลาว) ที่สร้างรายได้ให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของรายได้คนไข้ต่างชาติทั้งหมด​

 

ขณะที่ปี 2565 มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) จะเริ่มทยอยกลับมาเข้าใช้บริการทางการแพทย์คาดว่า จำนวน Medical Tourism น่าจะอยู่ที่ประมาณ 130,000-180,000 ล้านคน (ครั้ง) โดยส่วนใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มคนไข้เดิมที่เข้ารับการรักษาพยาบาลหรือดูแลสุขภาพผ่านโรงพยาบาลเอกชนของไทยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง เมียนมา จีน

 

นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า ปี 2563 นับเป็นปีที่ยากลำบากของสาธารณสุขไทย จากอัตราแพทย์อัตรากำลังบุคลากรโดยเฉพาะแพทย์ต่อประชากร อยู่ในอัตราต่ำกว่าชาติอื่น ไทยมีแพทย์ 5-6 คน ต่อหมื่นประชากร หากเทียบกับประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย มีประมาณ 15 คนต่อหมื่นประชากร สิงคโปร์ 20 กว่าคนต่อหมื่นประชากร ขณะที่ยุโรป สหรัฐ ขึ้นไปเกือบ 30-40 คนต่อหมื่นประชากร

 

 

“หากย้อนกลับไปในปี 2564 ที่โควิด-19 ระบาดรุนแรงทำให้ผู้ป่วยของไทยเคยสูงถึงเกือบ 3 หมื่นรายต่อวัน ผู้ป่วยหนักเกือบ 6,000 ราย และผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเกือบ 1,000 ราย มีกระจายผู้ป่วยออกไปต่างจังหวัด เนื่องจากสถานการณ์ กทม. หนักหนา เวลามีปัญหาเหมือนไข่แดง แต่เราก็ผ่านมาได้ เพราะการร่วมมือกันในหลายฝ่าย ทั้งประชาชน ภาครัฐ และเอกชน” นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าว

 

นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวต่อไปว่า จะเห็นว่าโรงพยาบาลเอกชนซึ่งแย่ในปี 2563 แต่ในปี 2564 ค่อยๆ ดีขึ้น เพราะรัฐมีนโยบายให้เอกชนช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โรงพยาบาลหลายแห่ง เปิดฮอทพิเทล โรงพยาบาลสนาม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังขาดทรัพยากรอย่าง กทม. หากดูผลประกอบการของโรงพยาบาลเอกชน ในตลาดหลักทรัพย์ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มแรก คือ โรงพยาบาลที่เข้าไปช่วยในเรื่องโควิด-19 รับผู้ป่วยโควิด-19 มารักษา ช่วยฉีดวัคซีนโควิด กลุ่มนี้จะมีอัตราการเติบโตของรายได้

 

กลุ่มที่ 2 คือ โรงพยาบาลเอกชนที่แต่เดิมดูแลคนไข้ต่างประเทศ กลุ่มนี้รายได้อาจจะติดลบ ขณะเดียวกันก็ดูผู้ป่วยโควิดต่างชาติ หรือคนมีฐานะจำนวนหนึ่ง ดังนั้น จะเห็นว่า ในปี 2564 ยอดขายของกลุ่มนี้จะดีกว่าปี 2563 เล็กน้อยแต่หากเทียบกับก่อนโควิดน่าจะต่ำกว่ามาก

 

  • ปี 65 เปิดแนวโน้ม รพ.เอกชน ดีขึ้น

 

ขณะเดียวกัน เป็นความโชคดีของโรงพยาบาลบางแห่งที่เปิดใหม่ เช่น รพ.เมดพาร์ค ซึ่งเดิมการเติบโตในฐานะโรงพยาบาลเปิดใหม่อาจจะต้องใช้เวลา 3-5 ปี แต่เนื่องจากโรงพยาบาลเข้าร่วมรับผู้ป่วยโควิด-19 มีการปรับพื้นที่หลายส่วนทั้ง ไอซียู พื้นที่ตรวจ ให้เป็นความดันลบ และร่วมในโครงการฉีดวัคซีนกับรัฐบาลทั้งซิโนแวค ซิโนฟาร์ม แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา รวมฉีดไปแล้วกว่า 2.5 แสนโดส ในจำนวนนี้เป็นต่างชาติมากกว่า 5 หมื่นโดส ทำให้ รพ.เป็นที่รู้จักมากขึ้น ให้มีคนไข้ทยอยมาใช้บริการมากขึ้น

“แนวโน้มรพ.เอกชน ในปี 2565 คาดว่าสถานการณ์จะค่อยๆ ทยอยดีขึ้นทั้งสองกลุ่มหลังจากการเริ่มเปิดประเทศ โดยกลุ่มแรกที่มีรายได้จากการให้บริการโควิด-19 เยอะก็จะมีแรงที่จะปรับปรุงพัฒนา ส่วนกลุ่มที่สองที่รับคนไข้ต่างประเทศ ซึ่งอยู่เซกเมนท์บนก็จะค่อยๆ ดีขึ้น หากดูตัวเลขในตลาดหุ้นจะพบว่า สถานการณ์เริ่มตอบรับกับเรื่องนี้ด้วย คาดการณ์ว่าโรงพยาบาลเอกชนจะดีขึ้น เพราะหุ้นของโรงพยาบาลเริ่มเคลื่อนไหวเยอะขึ้นเกือบทุกตัว” กรรมการผู้จัดการ รพ.เมดพาร์ค กล่าว

 

  • เน้นเทรนด์สุขภาพแนวใหม่ 

 

ในส่วนของเทรนด์สุขภาพในศักราชใหม่นั้น  นพ.พงษ์พัฒน์ มองว่า การไปหาหมออย่างเดียวอาจจะไม่ได้เป็นคำตอบ ทำให้การใช้เทเลเมดิซีนหรือการสื่อสารช่องทางอื่นๆ น่าจะได้รับความสนใจมากขึ้น เรื่องที่เอกชนและคนไข้ต้องปรับตัว คือ คนไข้ที่เป็นโรคเรื้อรัง การรับยาจำเป็นหรือไม่ที่จะไปหาหมอที่รพ. หรือปรับไปสู่การคุยกัน ติดตามอาการ และมีเครื่องไม้เครื่องมือให้คนไข้ตรวจด้วยตนเองและใช้ระบบเทเลให้โรงพยาบาลมอนิเตอร์ได้ จ่ายยาได้ หรือคนไข้ไปรับยาที่ใดที่หนึ่ง หรือ มีการจัดส่งยาให้ เรื่องเหล่านี้ รพ.ต้องปรับตัว โดยเฉพาะด้านไอที โลจิสติกส์ในการจัดส่งยา ขณะเดียวกัน รพ.ต้องมีความชัดเจนกับคนไข้ มีการสื่อสาร การสื่อสารผ่านระบบใหม่อาจจะมีวิธีการมากขึ้น และเราต้องพัฒนาไป

 

โดยเทรนด์ดังกล่าว ยังเกี่ยวเนื่องกับบริษัทประกัน เนื่องจาก รพ.เอกชน ที่ให้การรักษาผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีประกัน เพราะฉะนั้น ประกันต้องเปิดช่องทาง รับรู้เรื่องนี้ และครอบคลุมเรื่องนี้อย่างไร การพบแพทย์ผ่านเทเลเมดิซีนจะจ่ายค่าแพทย์ได้หรือไม่ ประกันก็ต้องไปพิจารณา จะเป็นระบบหนึ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ด้านกฎหมาย ผู้ป่วย ระบบไอที และประกันในเรื่องการเบิกจ่าย ต้องร่วมกันในการพัฒนาเทรนด์นี้ในอนาคต

 

“สำหรับ รพ.เมดพาร์ค ได้มีการเตรียมความพร้อม นอกจากจะมีการนำระบบเทเลเมดิซีนมาใช้กับผู้ป่วยของโรงพยาบาลแล้ว ยังเปิดให้บริการ “My MedPark” แอพพลิเคชั่นสำหรับให้ผู้ป่วยสามารถดูข้อมูลของตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นผลแล็บ ผลเอ็กซเรย์ การนัดหมายแพทย์ ยาที่ทานอยู่ เห็นจำนวนยา เห็นเม็ดยา รูปร่างเม็ดยาเพื่อให้รู้ว่าได้ยาถูกต้อง กินยาถูกต้อง ขณะเดียวกัน ผลแล็บสามารถแสดงผลเป็นกราฟดูแนวโน้มว่าสามารถควบคุมโรค เช่น เบาหวานดีหรือไม่ ความดันดีหรือไม่ เป็นต้น เป็นสิ่งที่ทางเมดพาร์คทำขึ้นและเริ่มทดลองใช้กับผู้ป่วยจำนวนหนึ่งแล้ว โดยยังมีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง” นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าว

 

  • เน้น "ป้องกัน" มากกว่า "รักษา"

 

นายอัฐ ทองแตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล เปิดเผยว่าด้วยการใช้ชีวิต พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับผู้คนมากขึ้น และการเกิดโรคระบาดของ โควิด-19 ล้วนส่งผลการดูแลรักษาผู้ป่วยในปัจจุบันต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย ซึ่งโรงพยาบาลเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ได้ปรับเปลี่ยนการให้บริการหลายด้าน เน้นคุณภาพการรักษาความเจ็บป่วยควบคู่แนวทางการป้องกันดูแลสุขภาพของทุกคนให้ดีขึ้น

 

นายอัฐ กล่าวต่อว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพในช่วง2ปีที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤตอย่างมาก เพราะผู้ป่วยมารักษาโรงพยาบาลน้อยลง ทั้งผู้ป่วยในประเทศและต่างชาติ อีกทั้งการใช้ชีวิตวิถีใหม่ พฤติกรรมของคนไข้จะเน้นดูแลตัวเอง ป้องกันโรค เมื่อบาดเจ็บหรือป่วย พวกเขาจะหาวิธีดูแลตัวเองก่อนที่จะเลือกมาโรงพยาบาล

 

ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลต้องลดความแออัดในสถานที่ต่างๆ และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล โรงพยาบาลในเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้บริการแก่ผู้ป่วย และดูแลสุขภาพครอบคลุมทุกการให้บริการ โดยนำเทเลเมดิซีน ระบบแพทย์ทางไกลมาใช้ในการเข้าดูแลรักษา ติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด มีการพัฒนา HealthUp Application ให้บริการทุกมิติ

 

  • รพ.ออกแบบสุขภาพประชาชน

 

นายอัฐ กล่าวอีกว่าตอนนี้ทุกคนหันมาดูแล ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเทรนด์สุขภาพและการแพทย์ในอนาคต จะเป็นการดูแลทุกคนให้มีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บป่วย หรือการป้องกันก่อนเกิดโรคมากกว่าการจะมารักษาโรค โดยจะเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ความเครียด การนอน การรับประทานอาหาร การเดินทาง การสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย ซึ่งทางโรงพยาบาลจะมีโปรแกรมการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อนำไปสู่การออกแบบสุขภาพที่เหมาะสมกับแต่ละคน เพราะทุกคนจะมีร่างกายแตกต่างกัน

 

“ตอนนี้โรงพยาบาลได้มีการออกแบบสุขภาพให้แก่องค์กรต่างๆ เพื่อช่วยดูแลพนักงาน บุคลากรของแต่ละองค์กรให้มีสุขภาพที่ดี อันนำไปสู่การ Health Culture ในองค์กร เพราะการที่พนักงานมีสุขภาพดีในทุกมิติ ไม่เครียด จะทำให้มีความพร้อมในการทำงาน ซึ่งจะดูแลทั้งร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง ให้ได้กินอาหารดีเหมาะสมกับร่างกาย รวมถึงรพ.เองได้มีการทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชนอื่นๆ และสตาร์ทอัพ ในการพัฒนานวัตกรรม และงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพที่สามารถนำมาใช้ได้จริง” นายอัฐ กล่าวทิ้งท้าย

 

แนวโน้มปี 65 คาด “รพ.เอกชน” ฟื้นตัว "Medical Tourism" เริ่มกลับมา