'พัฒนากำลังคน' กุญแจสำคัญ ดันไทยสู่ Medical Hub

'พัฒนากำลังคน' กุญแจสำคัญ ดันไทยสู่ Medical Hub

ประเทศไทยเรียกว่ามีศักยภาพในการเดินหน้าสู่การเป็น Medical Hub ทั้งระบบการรักษา การผลิตแพทย์เชี่ยวชาญ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ อย่างไรก็ตาม กุญแจสำคัญ คือ การพัฒนากำลังคน เช่น พยาบาล ซึ่งกำลังการผลิตอยู่ที่ 15,000 คนต่อปี แต่ขณะนี้มีคนสนใจเรียนเพียง 8,000 คนต่อปี

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 นายแพทย์ ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป กล่าวในงาน Dinner Talk "Medical Hub กับความยั่งยืน" จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ ว่า Medical Hub ในความหมายโดยแคบ คือ ภาคบริการทางการแพทย์ที่เน้นดึงคนต่างชาติเข้ามารักษาทางการแพทย์ในประเทศไทย แต่ความหมายโดยกว้างครอบคลุมทั้งการแพทย์ใน 4 แขนง คือ

  • Medical service Hub การแพทย์และบริการที่เกิดในโรงพยาบาล ขับเคลื่อนโดยหมอและพยาบาล นอกจากคนไข้ในประเทศแล้วในละปียังมีคนไข้ต่างประเทศบินตรงเข้ามารักษาในประเทศไทยจำนวนมาก
  • Wellness Hub บริการทางสุขภาพที่เกิดนอกโรงพยาบาล
  • Academic Hub เป็นบทบาทของโรงพยาบาลขนาดใหญ่และวิทยาลัยการแพทย์ ถ้าไม่มีวิชาการจะไม่มีหมอเก่งๆ ที่สามารถรักษาโรคซับซ้อนได้
  • Product Hub อุตสาหกรรมและธุรกิจการผลิตยา สมุนไพรเพื่อจำหน่ายทั้งในและส่งออกเป็น Global business ของภาคอุตสาหกรรม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำหรับ ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG มีเป้าหมายอยากให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี ประเทศไทยมีสุขภาพดี คือ มีความมั่งคั่งแบบยั่งยืน ส่วนหนึ่งในนั้นคือ Medical hub แปลงสุขภาพให้เป็นเศรษฐกิจเรื่องปากท้องและยั่งยืนด้วย เพราะเมื่อคนไทยสุขภาพดีจะมีความสัมพันธ์ทางตรงกับประเทศ สุขภาพดีผ่านระบบ Medical Hub ในสี่แกนหลัก

 

ซึ่ง THG มีการดำเนินการทั้ง 4 ส่วน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ทางภาครัฐและเอกชนในส่วนของการพัฒนาและยกระดับ Medical Service Hub ขณะที่ Wellness Hub เรามี ‘จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้’ และโปรเจค Horizon Rehab Center ในการฟื้นฟู พักฟื้น บำบัดยาเสพติด อดเหล้า-สุรา การร่วมมือกับ คณะพยาบาลศาสตร์ เช่น มหาวิทยาลัยสยาม ในการผลิตบุคคลากรทางการแพทย์และการคิดค้นยาในการรักษาโรคอย่างต่อเนื่อง

 

นายแพทย์ธนาธิป กล่าวต่อไปว่า ในระยะแรกที่ประเทศไทยมีแนวคิดโปรโมต Medical Tourism หลายภาคส่วนมีความกังวลว่าจะเป็นการทำให้แพทย์ หันไปรักษาคนต่างชาติมากกว่ารักษาคนในประเทศ แต่ปัจจุบันความเชื่อนี้หายไป เพราะพิสูจน์แล้วว่าเมื่อคนไทยสุขภาพดีทำให้แพทย์ พยาบาลเก่งขึ้นสามารถรักษาโรคยากๆ ได้มากขึ้น

 

 

สำหรับ Medical Tourism ในปี 2011 ไทยติด Top 5 ของโลก และเป็นเบอร์ 1 ของเอเชีย กุญแจสำคัญของความสำเร็จ คือ Resource ที่จะใช้ขับเคลื่อน Medical Hub ต่อไป เนื่องจากไทยมีกำลังการผลิตแพทย์เฉพาะทางสูงสุดในอาเซียน ราว 2,000 คนต่อปี ขณะที่เมียนมา 60-00 คนต่อปี และ อินโดนีเซียราว 600 คนต่อปี ทำให้ไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน

 

นายแพทย์ธนาธิป กล่าวต่อไปว่า อยากให้คนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ให้ความสำคัญกับนโยบายสุขภาพและทำให้เกิดความมั่งคั่งแบบยั่งยืนไม่ใช่นโยบายแบบชั่วข้ามคืน รวมทั้งการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐาน ก็คือ “คน” เพราะ Healthcare เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานทักษะเฉพาะ และใช้จำนวนบุคลากรจำนวนมาก คนไข้ 1 เตียงใช้บุคลากรทางการแพทย์ 8 คน ใน 8 คนนั้น 4-5 คนเป็นคนที่มีความสามารถในการการรักษาเฉพาะทาง เป็นคนที่ต้องการทักษะและมีราคาแพง เพราะฉะนั้นการรักษากำลังการผลิตเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะพยาบาลที่ขาดแคลน ทำให้เราไม่สามารถขยายโรงพยาบาลได้

 

ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีคณะพยาบาลศาสตร์ 80 แห่ง กำลังการผลิตอยู่ที่ 15,000 คนต่อปี แต่ในระยะหลังๆ มีคนสนใจเข้ามาเรียนพยาบาลเพียง 8,000 คนต่อปี ต่างจากเมื่อ 30 ปีที่แล้วที่อาชีพพยาบาลเป็นอาชีพอันดับ 1 เป็น Top of mind แต่ปัจจุบัน ลดลงเพราะคนรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานบริการและเป็นบริการที่ใช้วิชาการสูง เราอยากให้บรรจุพยาบาลเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ไม่ให้พยาบาลหายไปทำอาชีพอื่นเพราะไม่ได้รับการบรรจุ ทำให้เสียแรงงานดีๆ ออกจากระบบ เพราะฉะนั้น จะต้องรักษาพยาบาลดีๆ ให้อยู่ในระบบด้วยผลตอบแทนที่ดี