‘จงดื่มน้อยลง’ควรเชื่อหรือไม่ | วรากรณ์ สามโกเศศ

‘จงดื่มน้อยลง’ควรเชื่อหรือไม่ | วรากรณ์ สามโกเศศ

แม้แต่เรื่องที่สำคัญต่อความเป็นความตายก็ยังไม่มีความแน่ชัดว่าความจริงคืออะไร ดังเรื่องของการใช้น้ำตาลเทียม การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ กาแฟ ช็อคโกแลตดำ วิธีการ ไดเอท ปริมาณการออกกำลังกาย ฯลฯ

ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอาหารของมนุษย์ ยังมีข้อจำกัดอยู่มากแม้แต่ในปัจจุบันโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการดื่มแอลกอฮอร์ เมื่อไม่นานมานี้ WHO หรือองค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำประชาชนว่าให้หลีกเลี่ยงการใช้น้ำตาลเทียม (artificial sweeteners) เพื่อลดน้ำหนัก หรือเพื่อลดความเสี่ยงปัญหาโรคหัวใจและโรคเบาหวาน  

ข้อสรุปนี้มาจากการศึกษาผลวิจัยของงานหลายชิ้น อย่างไรก็ดี ผู้คนก็ไม่เชื่อคำแนะนำนี้มากเท่าใดเนื่องจากเป็นที่รู้กันดีในแวดวงวิชาการว่า งานศึกษาเรื่องทำนองนี้ที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันประสบปัญหาในด้านวิธีการวิจัยอยู่มาก จนไม่น่าจะสรุปได้ชัดขนาดนั้น

ในที่สุด WHO ก็ยอมถอยและรับว่าความแน่นอนของหลักฐานในเรื่องนี้อยู่ในระดับต่ำ ฟังแล้วก็มึน  อะไรกันนี่  ตกลงแล้วมันเป็นอย่างไร (WHO เคยแนะนำใน     ตอนแรกของการระบาดโควิด19ว่าแมสก์ไม่ใช่สิ่งจำเป็น

นี่คือตัวอย่างว่าสถานการณ์ของงานวิจัยด้านอาหารของโลกในปัจจุบัน อยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ เพราะยังไม่สามารถสรุปได้อย่างเด็ดขาด ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงในการบริโภคอาหารกับสไตล์การดำรงชีวิต   เช่น  การดื่มไวน์    การดื่มกาแฟ     รูปแบบไดเอท ฯลฯ  

เพราะมีปัญหาด้านวิธีวิจัยที่มีความหลากหลายและมีจำนวนมากมายทั่วโลก แถมยังมีเรื่องของผลประโยชน์ด้านธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย

หัวใจของปัญหาในการวิจัยคือมนุษย์มิใช่ตุ๊กตาหรือสัตว์ทดลองที่อยู่ในกรง     หากมีความหลากหลายในอายุ   ฐานะทางเศรษฐกิจ สถานะของสุขภาพและพันธุกรรม   เมื่อมีการวิจัยเช่นให้กลุ่มหนึ่งบริโภคน้ำตาลเทียมปริมาณหนึ่ง และอีกกลุ่มหนึ่งไม่บริโภค และเปรียบเทียบผลที่มีต่อสุขภาพ    

ถึงจะมีผลวิจัยออกมาก็ไม่น่าเชื่อถือร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะความแตกต่างของกลุ่มผู้คนที่ทดลอง เช่น ในสถานะสุขภาพที่มีอยู่เดิม  ปัจจัยอายุ   ลักษณะทางพันธุกรรม ฯล ฯจนทำให้น้ำตาลเทียมที่บริโภคมีผลกระทบต่อร่างกายอย่างซับซ้อนแตกต่างกัน และสุดท้ายจะรู้ได้อย่างไรว่าสถานะทางสุขภาพที่เกิดขึ้น เป็นผลที่เกิดจากการบริโภคน้ำตาลเทียมอย่างแน่นอน    

นอกจากนี้ลักษณะการบริโภคของคนในห้องทดลองกับโลกเป็นจริงก็แตกต่างกันด้วย    เวลาทดลองก็เป็นระยะสั้นกับผู้คนจำนวนน้อย  ดังนั้น จึงไม่แปลกที่งานวิจัยหลายชิ้นให้ผลสรุปที่ตรงข้ามกัน  ดังนั้นอะไรคือความจริง

                อีกปัญหาที่ผู้วิจัยต้องเอาชนะก็คือ การรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุอะไร เป็นผลงานศึกษาเน้นการศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัย โดยไม่อาจแยกออกได้โดยง่ายว่าอะไรเป็นสาเหตุ    อะไรเป็นผล    

ตัวอย่างเช่น ปริมาณไนโตรเจนที่ใส่ต้นไม้และถูกดูดซับหมดกับผลไม้ที่ออกมานั้น คาดว่ามีความสัมพันธ์กันแต่ไม่อาจรู้ได้จริงแท้ว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล      ไนโตรเจนอาจเป็นเหตุที่ทำให้ผลไม้ดก หรืออาจเป็นว่าผลไม้ออกดกเองแล้วจึงต้องการใช้ไนโตรเจนมากก็เป็นได้

                เรื่องที่ถกเถียงกันมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ “แต่พอ         ประมาณ” เป็นผลดีต่อสุขภาพดังที่เชื่อกันมานั้นจริงหรือไม่   ความเชื่อนี้ตรงข้ามกับงานศึกษาล่าสุดที่พบว่ายิ่งบริโภคน้อยหรือไม่บริโภคเลยจะยิ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพ

                งานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อต้นปี 2023 ในวารสาร JAMA Network Open  เป็นการศึกษาแบบที่เรียกว่า meta-analysis (การศึกษางานวิจัยที่ทำเสร็จแล้วและมีข้อสรุปที่เหมือนหรือแตกต่างกันนั้น  จริง ๆ แล้วข้อสรุปหลักที่ได้ทำวิจัยมาคืออะไร)  

 โดยศึกษางานวิจัย 107 ชิ้นใน 40 ปี ที่เกี่ยวพันกับประชาชน 4.8 ล้านคน และพบว่าข้อสรุปดั้งเดิมที่ว่าการดื่ม “แต่พอประมาณ” มีผลดีต่อการลดความเสี่ยงจากการตายอันเนื่องมาจากโรคหัวใจ    มะเร็ง     การติดเชื้อ  อุบัติเหตุรถยนต์    ฯลฯ นั้นผิดพลาด  จุดบกพร่องจนได้ข้อสรุปที่ผิดมาจากการออกแบบงานวิจัยที่มิได้ปรับหลายปัจจัยซึ่งอาจมีผลกระทบต่อ

                            ผลการศึกษา  เช่น  อายุ เพศ   ฐานะทางเศรษฐกิจ  พฤติกรรมของการดำรงชีวิต  เช่น การออกกำลังกาย      การสูบบุหรี่   และไดเอท   ซึ่งกลุ่มผู้ทดลองมีแตกต่างกัน

                นักวิจัยจึงใช้วิธีการทางสถิติกำจัดหลายปัจจัยที่เป็นปัญหาทำให้เกิดความผิดพลาดในข้อสรุปออกไป และพบว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอร์มิได้ทำให้เกิดการลดลงของความเสี่ยงจากการตายจากหลายโรคดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญในหมู่คนที่ดื่ม “แต่พอประมาณ”

                    งานศึกษานี้สรุปว่าความเสี่ยงจากการตายอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพมากมาย หรือตายก่อนเวลาอันควรเพิ่มอย่างมากหลังจากการดื่มแอลกอฮอร์เกินกว่า 2 แก้วต่อวันสำหรับผู้หญิง และ 3 แก้วต่อวันสำหรับผู้ชาย

                  อีกงานศึกษาขนาดใหญ่ประเภท meta-analysis ในปี 2022 โดยนักวิจัยชาวอังกฤษ    พิจารณาข้อมูลทางการแพทย์และพันธุกรรมของคนเกือบ 400,000 คน  และสรุปว่าไม่ว่าจะบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ในระดับใดก็ตาม ล้วนโยงใยกับความเสี่ยงด้านโรคหัวใจทั้งสิ้น

              ไอเดียในเรื่องการดื่มแอลกอฮอร์เป็นผลดีต่อร่างกายมาจากงานวิจัยหลายชิ้นในทศวรรษ1980 จากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “French paradox”   กล่าวคือคนฝรั่งเศสมีอัตราการเป็นโรคหัวใจต่ำเพราะดื่มไวน์ทุกวัน  ต่อมาพบว่างานวิจัยเหล่านี้บกพร่อง    

แต่ความเชื่อนี้ก็ไปไกลแล้วและงานวิจัยสนับสนุนไอเดียนี้มีมากขึ้นเป็นลำดับโดยเงินทุนสนับสนุนมาจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอร์   รายงานปี 2020 ระบุว่างานวิจัย 13,500 ชิ้นได้รับการสนับสนุนทางการเงินทั้งทางตรงและทางอ้อมจากอุตสาหกรรมดังกล่าว

               ปัจจุบันมีงานศึกษาหลายชิ้นพบว่าแม้แต่การดื่ม “แต่พอประมาณ” ก็อาจมีส่วนร่วมในการทำให้เป็นโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น เต้านม  หลอดอาหาร   สมอง และคอ    ตลอดจนทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจอีกหลายลักษณะ

                ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อผลสรุปจากงานวิจัยว่าแอลกอฮอร์ไร้ประโยชน์ในด้านเสริมสร้างสุขภาพก็ตาม   ในปัจจุบันทางการสหรัฐอเมริกาได้ออกหลักเกณฑ์แนะนำว่าผู้ชายควรดื่ม 2 แก้วต่อวันหรือน้อยกว่า และ 1 แก้วต่อวันหรือน้อยกว่าสำหรับผู้หญิง   และ “การดื่มน้อยเป็นผลดีต่อสุขภาพมากกว่าการดื่มมาก”  อีกทั้งเตือนว่าถึงแม้จะดื่มตามเกณฑ์นี้ แต่ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการตายโดยรวมจากหลายโรค เช่น บางชนิดของโรคมะเร็งและโรคหัวใจอยู่ดี  

ส่วนทางการแคนาดาประกาศว่าไม่ว่าจะดื่มปริมาณใดก็ตามล้วนไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพทั้งสิ้น และขอให้ลดการดื่มให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

                 ผู้เขียนไม่เชื่อว่า งานศึกษาชิ้นใหญ่นีัที่ชี้ผลเสียของการดื่มแอลกอฮอร์อย่างตรงข้ามกับความเชื่อเดิม จะเป็นข้อสรุปสุดท้าย    อีกไม่นานก็คงมีงานศึกษาที่สรุปผลตรงข้าม (ได้รับเงินสนับสนุนจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอร์?)  และต่อสู้กันไปมาจนกว่างานวิจัยด้านอาหารของโลกจะมีคุณภาพที่สามารถขจัดข้อสงสัยไปได้สิ้น

   ระหว่างนี้หากต้องดื่มแต่ก็รักสุขภาพด้วยก็ทำตามหลัก “less is more” (น้อยลงคือมากขึ้น) กันไปพลางก่อนก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีนะครับ.