“ชา” หรือ “กาแฟ” แก้วไหนดีกับ “สุขภาพ” มากกว่ากัน ?

“ชา” หรือ “กาแฟ” แก้วไหนดีกับ “สุขภาพ” มากกว่ากัน ?

เปิดประโยชน์ของ “ชา” และ “กาแฟ” เครื่องดื่มแก้วโปรดของคนทั่วโลก ซึ่งแม้จะมีสารคาเฟอีน แต่ก็มีสารประกอบที่ดีต่อสุขภาพ หากดื่มในปริมาณที่เหมาะสม

เชื่อว่าใครหลายคนคงต้องเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการดื่ม “ชา” หรือไม่ก็ “กาแฟ” ร้อน ๆ สักถ้วย ก่อนจะเริ่มดำเนินกิจวัตรประจำวัน ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยที่เสพติดเครื่องดื่มเหล่านี้ ถ้าวันใดไม่ได้ดื่มก็รู้สึกเหมือนขาดอะไรบางอย่าง 

แต่มีเรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจสงสัย คือ เมื่อต้องดื่ม “ชา” หรือ “กาแฟ” ทุกวัน แล้วเครื่องดื่มชนิดไหนสร้างผลกระทบกับสุขภาพมากกว่ากัน ?

 

  • ปริมาณคาเฟอีน

ปรกติแล้วคนมักจะเลือกดื่มชาและกาแแฟเพราะต้องการความกระปรี้กระเปร่า ความสดชื่น ให้เลือดได้สูบฉีด มีแรงทำกิจกรรมตลอดวัน จากฐานข้อมูล Food Data Central ของกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐ หรือ USDA พบว่า กาแฟชงเองมีคาเฟอีนเฉลี่ย 92 มิลลิกรัมต่อถ้วย 8 ออนซ์ และกาแฟจากร้านกาแฟมีปริมาณคาเฟอีนประมาณ 150-235 มิลลิกรัมต่อ 12 ออนซ์

ส่วนเครื่องดื่มตระกูลชามักจะมีคาเฟอีนน้อยกว่ากาแฟ โดยชาดำ 8 ออนซ์ มีคาเฟอีนประมาณ 47 มิลลิกรัม และชาเขียว 8 ออนซ์ มีคาเฟอีนเพียง 29 มิลลิกรัมเท่านั้น

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐกำหนดให้ผู้ใหญ่สามารถบริโภคคาเฟอีนได้วันละไม่เกิน 400 มิลลิกรัม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยและอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพบางประการ หากบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ นอกจากคาเฟอีนจะสามารถเพิ่มพลังงานและทำให้โฟกัสงานได้ดีขึ้น ยังช่วยอาจลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้า โรคพาร์กินสัน พังผืดในตับ โรคหัวใจ และมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย

  • ชา-กาแฟ ช่วยต่อต้านและป้องกันโรค

สารต้านอนุมูลอิสระ” ที่อยู่ในชาและกาแฟ สามารถช่วยลดการอักเสบและป้องกันความเสียหายของเซลล์ในร่างกายที่เกิดอนุมูลอิสระ อันเป็นโมเลกุลลอยน้ำสร้างขึ้นจากการย่อยอาหารหรือการสัมผัสกับมลภาวะ รังสี และความเครียดอื่น ๆ โดยทั้งกาแฟและชาต่างก็มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือ โพลีฟีนอล (Polyphenol) ซึ่งมีปริมาณแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวิธีแปรรูปหรือเตรียมเครื่องดื่ม 

จากการศึกษาในปี 2013 ระบุว่า “เอสเปรสโซ” มีพลังในการต้านอนุมูลอิสระมากที่สุด ขณะที่การศึกษาในปี 2022 ระบุว่า “ชาเขียว” มีสารต้านอนุมูลอิสระมากที่สุด นอกจากนี้ในชาและกาแฟยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายด้านอีกด้วย

จากการศึกษาแบบวิเคราะห์ทั้ง 201 ชิ้น ในปี 2017 พบว่าผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำมีความเสี่ยงต่ำจากการเสียชีวิตในโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคทางระบบประสาท ระบบเมตาบอลิซึม และโรคตับ นอกจากนี้ยังเช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมลูกหมาก เยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งผิวหนัง

  • ผลข้างเคียงจากการดื่มชาและกาแฟ “มากเกินไป”

นอกจากผลข้างเคียงทั่วไปที่พบได้จากการบริโภคคาเฟอีนมากเกินไปที่เราพบได้เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นอาการนอนไม่หลับ ปวดหัว มือสั่น หัวใจเต้นแรง ใจสั่น และมีความกระวนกระวายใจแล้ว มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่า การดื่มกาแฟมากเกินไปส่งผลอันตรายต่อสุขภาพเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 

จากการศึกษาในปี 2017 พบว่าปริมาณคาเฟอีนที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ เช่น น้ำหนักแรกเกิดต่ำ และเกิดภาวะแท้งลูกในไตรมาสที่สองและสาม นอกจากนี้ยังพบความเสี่ยงกระดูกหักในเพศหญิงจากการดื่มกาแฟอีกด้วย แต่ไม่พบภาวะดังกล่าวในผู้ชาย

วิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งอเมริการายงานว่าการบริโภคคาเฟอีนต่ำกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับกาแฟที่ชงเองที่บ้านประมาณ 2 แก้ว มีส่วนทำให้น้ำหนักเด็กแรกเกิดต่ำ แต่ไม่พบความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการแท้ง ขณะที่ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Osteoporosis International พบว่าผู้หญิงดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวัน มีความเสี่ยงภาวะกระดูกหักเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเสี่ยงโรคกระดูกพรุน

 

  • อันตรายจากสารเติมแต่ง

น้ำตาล ครีม นม นมทางเลือก และสารให้ความหวานประเภทต่าง ๆ ที่ใส่ในชาหรือกาแฟถ้วยโปรดของคุณสามารถส่งผลต่อสุขภาพและปริมาณแคลอรี่ของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณจำเป็นต้องดื่มทุกวัน แน่นอนว่าปัญหาสุขภาพอย่างแรกที่ตามมาจากการบริโภคน้ำตาลที่มากเกินไปคือ โรคอ้วนและเบาหวาน ตามมาด้วยภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ส่งผลให้เส้นประสาท หลอดเลือด และอวัยวะต่าง ๆ ถูกทำลายจนมีปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมาได้

ขณะที่ น้ำตาลเทียม และสารให้ความหวานต่าง ๆ ที่แม้เป็นทางเลือกให้กับสายหวาน 100% ได้ดี เพราะให้ความหวานที่มากกว่าน้ำตาล แต่ก็สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิด “สารเคมีตกค้าง” ในร่างกาย เมื่อสะสมมาก ๆ ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ แถมสารให้ความหวานเหล่านี้ให้พลังงานน้อย ยิ่งทำให้ต้องคุณต้องหันไปหาอาหารชนิดอื่นเพื่อเติมพลังงานที่หายไป แทนที่จะได้คุมน้ำหนักกลับกลายเป็นกินหนักกว่าเดิม

โดยสรุป คือ ไม่ว่าจะกาแฟ หรือ ชา ต่างก็มีสารประกอบที่ดีต่อสุขภาพของคุณ ตราบใดที่คุณบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ เพียงแต่กาแฟมีปริมาณคาเฟอีนที่มากกว่าชา ดังนั้นผู้ที่มีอาการไวต่อสารคาเฟอีนควรเลือกดื่มชา ส่วนผู้ที่ติดรสหวาน ควรระมัดระวังปริมาณน้ำตาลไม่ให้สูงจนเกินไปจนทำร้ายสุขภาพได้

 

ที่มา: Forbes