ปวดหัวตอนเช้า ปวดหัวแบบไหน? ต้องรีบพบแพทย์

ปวดหัวตอนเช้า ปวดหัวแบบไหน? ต้องรีบพบแพทย์

ปวดหัวตอนเช้า ไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะเมื่อตื่นนอนในตอนเช้าไม่สดใส ย่อมส่งประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน ยิ่งวันนั้นทั้งวันมีอาการปวดหัวเป็นๆ หายๆ อาจจะกลายเป็นวันที่แสนจะแย่

Keypoint:

  • ปวดหัวตอนเช้า ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ทั้งพฤติกรรมการนอน สุขลักษณะนิสัยการนอนหลับ สภาพแวดล้อม ลักษณะที่นอน หมอน สุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตของผู้ป่วย
  • พฤติการใช้ชีวิต ดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน การตั้งครรภ์ และการใช้ยาบางชนิด เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ปวดหัวตอนเช้าได้เช่นกัน 
  • สัญญาณปวดหัวที่ไม่ควรมองข้าม อันตรายถึงชีวิต ต้องรีบพบแพทย์ ปรึกษาอาการต่างๆ เพราะหากปล่อยไว้อาจนำมาซึ่งโรคร้ายแรงได้ 

อาการที่เราตื่นนอนแล้วปวดหัวตอนเช้า อาจจะรู้สึกปวดหัวตุบ ๆ ทุกเช้าหลังตื่นนอน หรือรู้สึกหนักหัวแทบลุกไม่ไหว เหมือนยังนอนไม่อิ่ม ซึ่งบ่งบอกถึง 'ความผิดปกติในการนอนหลับ' หากเกิดขึ้นทุกเช้าหลังจากตื่นนอน เรียกว่า Early morning headache

โดยปัญหาอาการปวดหัวนับเป็นหนึ่งในอาการที่ทุกคนพบเจอ ไม่ว่าจะปวดจากความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือปวดจากโรคไมเกรน โดยส่วนใหญ่แล้วอาการปวดหัวจะกลายเป็นเรื่องปกติที่ดูเหมือนจะไม่เป็นอันตราย แต่อาการปวดเหล่านี้ก็สามารถรบกวนการใช้ชีวิตได้เช่นกัน

แต่อย่านิ่งนอนใจไปว่าอาการปวดหัวที่เราเป็นอยู่นั้นเป็นเรื่องปกติที่นอนพักกินยาแล้วก็หาย เพราะอาการปวดบางอย่างเหล่านี้ อาจจะเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง เนื้องอกในสมอง หลอดเลือดในสมองตีบตัน ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

ปวดหัวตอนเช้า ปวดหัวแบบไหน? ต้องรีบพบแพทย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'โรคตา'ที่คาดไม่ถึง ปวดหัวแบบไมเกรนอาจเกี่ยวกับดวงตา

ไขข้อสงสัยทำไมบางคนถึงเป็น “ไมเกรน” ก่อนมี “ประจำเดือน”

รู้จักและเตรียมรับมือ 5 โรคร้อนที่มาพร้อม “อากาศร้อน”

เช็ค "อาการปวดหัว" เข้าข่ายเสี่ยงติด "โควิด-19"

 

เช็กสาเหตุของอาการปวดหัวทุกเช้า

สาเหตุของ อาการปวดหัวทุกเช้า อาจเกิดได้จากหลากหลายปัจจัยรวมกัน ตั้งแต่ สาเหตุจากโรคที่มีอยู่ก่อน พฤติกรรมการนอน สุขลักษณะนิสัยการนอนหลับ สภาพแวดล้อม ลักษณะที่นอน หมอน สุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตของผู้ป่วย

  • นอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

การนอนกรน (snoring) และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea หรือ OSA) มักสัมพันธ์กับอาการปวดหัวทุกเช้า เนื่องจากร่างกายถูกกระตุ้นให้ทำงานหนักตลอดทั้งคืน และรบกวนการพักผ่อนของสมอง ทำให้สมองต้องทำงานหนักและไม่ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตื่นนอนแล้วปวดหัวตอนเช้า

ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ ภาวะ OSA หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี จะส่งผลกระทบกับอวัยวะสำคัญ ๆ ของร่างกายเรา ไม่ว่าจะเป็นสมอง และหัวใจ ดังนั้น ควรศึกษา อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ พร้อมแนวทางการรักษา 

ปวดหัวตอนเช้า ปวดหัวแบบไหน? ต้องรีบพบแพทย์

  • การนอนกัดฟัน (teeth grinding)

ได้แก่ การขบหรือกัดฟันของเราโดยไม่รู้ตัว (และอาจเป็นบ่อย) ในระหว่างที่นอนหลับ ทำให้เกิดการเกร็งซ้ำ ๆ จนกล้ามเนื้อตึงและกระตุ้นให้มีเราตื่นนอนแล้วปวดหัวในช่วงเช้าได้ กรณีนี้อาจสังเกตได้จากลักษณะของอาการปวดหัว ว่าเป็นการปวดแบบทื่อ ๆ และอาจรู้สึกปวดกรามร่วมด้วย หากพบว่าตัวเองอาจมีอาการเช่นนี้ ควรปรึกษาแพทย์

 

ปัจจัยที่อาจทำให้มีอาการปวดหัว

  • โรคปวดหัวที่เป็นอยู่แล้ว เช่น ไมเกรน

ไมเกรนเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวซ้ำ ๆ โดยอาการปวดหัวมักกำเริบในตอนเช้า และมักจะรุนแรงกว่าอาการปวดหัวในตอนเช้าทั่วไปมาก ทำให้หลายคนตื่นนอนแล้วปวดหัวข้างเดียว หรือปวดทั้งสองข้างอย่างรุนแรงเลยทีเดียว

ในทางกลับกัน ก็มีรายงานว่า คุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี และการนอนหลับมากเกินไป อาจเป็นตัวกระตุ้นอาการไมเกรนให้กำเริบได้อีกด้วย

ดังนั้น เราควรระมัดระวังและเสริมสร้างสุขนิสัยการนอนที่ดี เพื่อลดโอกาสกำเริบของโรค

  • โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง (Chronic Insomnia)

โรคนอนไม่หลับ (insomnia) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง (chronic insomnia) เป็นหนึ่งในสาเหตุของการตื่นนอนแล้วปวดหัวในตอนเช้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพักผ่อนของร่างกาย เนื่องจากไม่ได้รับการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ จึงนำมาสู่ปัญหาตื่นนอนแล้วปวดหัว รวมถึงผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น อ่อนเพลีย สมาธิ และปัญหาความจำ เป็นต้น

ปวดหัวตอนเช้า ปวดหัวแบบไหน? ต้องรีบพบแพทย์

  • ปัจจัยทางด้านจิตใจ 

ความเครียด อาจส่งผลต่อความตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ เช่น ในรายที่มีภาวะเครียดแล้วนอนกัดฟัน ก็อาจทำให้ตื่นนอนแล้วปวดหัวตอนเช้าได้ 

นอกจากนี้มีรายงานว่าผู้ป่วยที่มีภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า มักพบปัญหาตื่นนอนแล้วปวดหัวเรื้อรังในตอนเช้าด้วย แม้จะยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นปัจจัยโดยตรง แต่มีการวิเคราะห์ว่าอาจสัมพันธ์กับภาวะผิดปกติอื่น ๆ รวมทั้งภาวะนอนไม่หลับเรื้อรัง ที่กระทบกับการนอนหลับ 

  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการนอนหลับที่ไม่เหมาะสม

พฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่ง ที่มักสร้างปัญหาเกี่ยวกับการนอนของเรา และมีผลให้ทำให้ตื่นนอนแล้วปวดหัว

  • การอดนอน นอนน้อยเกินไป

การนอนน้อยเกินไปที่เกิดจากพฤติกรรม เช่น ชอบทำงานหรือเล่นมือถือจนดึก แต่มีภารกิจต้องตื่นแต่เช้า หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อย ๆ ทำให้ชั่วโมงการนอนต่อวันมีน้อย กรณีนี้ให้ผลลัพธ์ไม่ต่างกับโรคนอนไม่หลับ เพราะเมื่อสมองไม่ได้รับการการพักผ่อนที่เพียงพอ ทำให้มีปัญหาตื่นนอนแล้วปวดหัว

  • นอนหลับไม่เป็นเวลา

ร่างกายมนุษย์มีระบบการทำงานที่สม่ำเสมอ หรือที่เรียกว่า นาฬิกาชีวภาพ (Biological clock) ที่มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานตรงตามเวลา ซึ่งนาฬิกาชีวภาพจะสัมพันธ์กับช่วงเวลาการตื่นนอนและเข้านอน 

  • หากเวลาการนอนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อย ๆ 

ร่างกายจึงต้องมีการปรับตัว โดยการปรับตัวของร่างกายนั้น มีความเกี่ยวข้องกับการหดหรือขยายตัวของหลอดเลือด เพื่อปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับการตื่นนอนหรือการเข้านอน จึงไปกระตุ้นให้เราตื่นนอนแล้วปวดหัวตอนเช้าได้

ปวดหัวตอนเช้า ปวดหัวแบบไหน? ต้องรีบพบแพทย์

  • นอนมากเกินไป 

การนอนหลับที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดปัญหาตื่นนอนแล้วปวดหัวได้ไม่ต่างกับการนอนหลับไม่เพียงพอ แต่มาจากสาเหตุที่แตกต่างกัน กล่าวคือ การนอนหลับมากเกินไป จะส่งผลต่อฮอร์โมนบางตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง นอกจากนี้ยังเกิดภาวะขาดน้ำหรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงทำให้เกิดอาการปวดหัวได้

การนอนหลับมากเกินไป อาจเป็นได้ทั้งพฤติกรรมและอาการของโรค แต่ในบางรายอาจเกิดจากโรคนอนเกิน (Hypersomnia) ซึ่งไม่เพียงตื่นยากกว่าคนทั่วไปเท่านั้น ยังมีอาการง่วงนอนตลอดวันและมักจะต้องกลับไปนอนซ้ำอีกบ่อย ๆ ให้สังเกตดูว่าตัวเองมีอาการเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน ช่วงใดบ้าง ถ้ารู้สึกอยากนอนตลอดทั้งวัน เผลอแป๊บเดียวก็หลับ กรณีเช่นนี้อาจไม่ใช่แค่พฤติกรรมแต่เกิดจากโรค ควรปรึกษาแพทย์ 

พฤติกรรมการใช้ชีวิตส่งผลต่อการปวดหัว

สาเหตุอื่น ๆ ที่ส่งเสริมให้ปวดหัวหลังตื่นนอน

  • การดื่มคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์

เนื่องจากมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท และการหดหรือขยายตัวของหลอดเลือด ไม่ว่าจะเป็น ชา กาแฟ หรือแอลกอฮอล์ หากดื่มในปริมาณที่มากเกินไป หรือดื่มในช่วงเวลาไม่เหมาะสม เช่น ช่วงบ่ายแก่ ๆ ช่วงเย็น หรือก่อนเข้านอน จะเพิ่มความเสี่ยงให้ตื่นนอนแล้วปวดหัวได้

ปวดหัวตอนเช้า ปวดหัวแบบไหน? ต้องรีบพบแพทย์

  • การตั้งครรภ์

อาจทำให้ตื่นนอนแล้วปวดหัวได้ เนื่องจากการตั้งครรภ์ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า อาจต้องงีบหลับบ่อยขึ้น ซึ่งหลาย ๆ ครั้งก็เป็นการงีบหลับที่ผิดเวลาหรือไม่เหมาะสม รวมถึงความเครียด และภาวะขาดน้ำหรือขาดน้ำตาล ทำให้คุณแม่มักตื่นนอนแล้วปวดหัวบ่อย ๆ

  • การใช้ยาบางชนิด

ยาบางชนิดอาจทำให้เสี่ยงตื่นนอนแล้วปวดหัวมากขึ้น หากใช้เกินขนาด หรือใช้เป็นประจำเกินเหตุจำเป็น อีกทั้งยาบางชนิดก็ไม่ควรกินในช่วงใกล้เวลานอน เพราะจะไปรบกวนวงจรการนอน และกระตุ้นให้มีอาการปวดหัวหลังตื่นนอนได้ ทั้งนี้ ควรใช้ยา หรืออาหารเสริมด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุต้นตอของโรค ในกรณีที่มีอาการปวดเรื้อรัง แทนการใช้ยารักษาเอง 

9 สัญญาณอันตรายจากอาการปวดหัวที่ต้องรีบไปพบแพทย์

การปวดหัวตอนเช้า หรือการปวดหัวเป็นประจำไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้น หากมีอาการปวดหัวดังต่อไปนี้ ควรจะรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

  1. โรคและอาการเจ็บป่วยทางกายอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกับอาการปวดหัว เช่น มีไข้ หนาวสั่น เหงื่อออกตอนกลางคืน ปวดกล้ามเนื้อ น้ำหนักลด มีประวัติโรคมะเร็ง การติดเชื้อ หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เอชไอวี ผู้ที่รับประทานยาบางประเภท เช่น ยาสเตอรอยด์ ยาละลายลิ่มเลือด ยากดภูมิคุ้มกัน ประวัติเหล่านี้ บ่งบอกถึงโรคติดเชื้อ การอักเสบ และการแพร่กระจายของมะเร็ง
  2. อาการแสดงผิดปกติทางระบบประสาท ได้แก่พฤติกรรม หรือ บุคลิกภาพเปลี่ยนจากเดิม แขนขาอ่อนแรง ขา หรือการรับรู้ประสาทสัมผัสผิดปกติ การมองเห็น หรือการได้ยินผิดปกติ
  3. อาการปวดหัวที่เริ่มต้นหลังตื่นนอน มักบ่งบอกถึงภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง
  4. อาการปวดหัวที่เกิดขึ้นรุนแรงอย่างเฉียบพลัน ซึ่งมักใช้เวลาเป็นเสี้ยววินาที บ่งบอกถึงภาวะวิกฤตของหลอดเลือดสมองตีบและแตก
  5. อาการปวดศีรษะครั้งแรกหลังอายุ 50 ปี แม้ว่าโรคปวดศีรษะปฐมภูมิหลาย ๆ ชนิดอาจเริ่มต้นครั้งแรกหลังอายุ 40 – 50 ปี โดยโรคปวดศีรษะปฐมภูมิไม่ใช่อาการปวดหัวที่มีผลจากการรับยา แต่เป็นการปวดหัวจากความเครียด ไมเกรน อาการปวดหัวแบบผสม และปวดหัวแบบชุด ๆ แต่อายุที่มากขึ้นมักสัมพันธ์กับโรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดหัวได้ ที่พบบ่อย เช่น ก้อนเนื้องอก การติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง การอักเสบของหลอดเลือด ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะครั้งแรกหลังอายุ 50 ปี จึงควรได้รับการเอกซเรย์สมองทุกราย ถึงแม้ว่าจะไม่พบความผิดปกติจากการตรวจร่างกายทางระบบประสาท
  6. ลักษณะการปวดศีรษะต่างจากอาการปวดหัวที่เป็นประจำ โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีช่วงเวลาหายปวด หรือมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น
  7. อาการปวดศีรษะที่แย่ลงเมื่อไอจามหรือเบ่ง มักสัมพันธ์กับความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้นเช่นกัน
  8. อาการปวดศีรษะที่แย่ลงเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทาง เช่น ปวดมากขึ้นเมื่อยืน นอน หรือเมื่อมีการเคลื่อนไหวของศีรษะและคอ อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบน้ำในโพรงสมองและไขสันหลัง หรือกระดูกต้นคอ
  9. อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นข้างเดียวตลอดเวลา หรือมักปวดในบริเวณด้านหลังของศีรษะ แสดงถึงพยาธิสภาพที่อาจเกิดอยู่บริเวณนั้นของศีรษะ หากเป็นอาการปวดศีรษะทั่วไปมักมีการสลับข้างซ้ายขวาบ้าง แต่มักพบว่าจะปวดข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง

ปวดหัวตอนเช้า ปวดหัวแบบไหน? ต้องรีบพบแพทย์

ปรึกษาแพทย์ ดูแลสุขภาพหัวจะได้ไม่ปวด

หากตื่นนอนแล้วปวดหัวจนเป็นอาการเรื้อรัง วิธีที่ดีที่สุดคือ การเดินทางมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ แพทย์จะค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัว ซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมทั้งวิเคราะห์เจาะลึกความผิดปกติระหว่างนอนหลับ เช่น

ในรายที่แพทย์สงสัยว่า อาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เช่น มีอาการนอนกรนเป็นประจำ (หรือบ่อยครั้ง) หรือมีอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากการวินิจฉัยของแพทย์แล้ว แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการตรวจการนอนหลับ หรือ sleep test  

หรือหากสาเหตุการปวดหัวนั้น มาจากการนอนไม่หลับเรื้อรัง หรือภาวะทางจิตใจ แพทย์อาจแนะนำวิธีบำบัดอาการนอนไม่หลับ เป็นต้น

ฝึกฝนสุขนิสัยการนอนที่ดี ลดปัญหาตื่นนอนแล้วปวดหัว

นอกจากการรับการรักษาจากแพทย์แล้ว สิ่งที่จะสามารถช่วยได้ทั้งป้องกัน และอาจรักษาปัญหาตื่นนอนแล้วปวดหัวได้ คือการปฏิบัติตามสุขนิสัยการนอนที่ดี (Sleep Hygiene) เพราะเป็นหลักปฏิบัติที่ครอบคลุมพื้นฐานการนอนหลับที่ดี ทั้งในแง่ของพฤติกรรมก่อนเข้านอน พฤติกรรมการนอน และการจัดการสิ่งแวดล้อมการนอนให้เหมาะสม ได้แก่

หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่เหมาะสม

  • การสูบบุหรี่ ในบุหรี่มีสารนิโคติน ที่ไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และยังกดสมองทำให้ร่างกายไม่ง่วงนอน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นอนหลับไม่มีคุณภาพ ตื่นนอนแล้วปวดหัว
  • การออกกำลังกายช่วงเย็นหรือหัวค่ำ เปลี่ยนไปออกกำลังกายตอนเช้าดีกว่า
  • การใช้ยานอนหลับติดต่อกันเป็นเวลานาน การทำงานหรือคิดอะไรเครียด ๆ ก่อนนอน
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ รวมถึงเครื่องดื่มบำรุงกำลังต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะช่วงบ่ายแก่ ๆ จนถึงช่วงเย็น ควรงดเด็ดขาด เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจไปกระตุ้นให้นอนหลับได้ยากขึ้น หรือมีอาการกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับรุนแรงขึ้น
  • การงีบหลับระหว่างวันนานเกิน 1 ชั่วโมง ยกเว้นกรณีง่วงมาก ๆ อาจงีบหลับช่วงสั้น ๆ ให้พอสดชื่นได้ อย่านอนนานเกิน 1 ชั่วโมง และอย่างีบหลับในช่วงหัวค่ำ
  • การกินอาหารมื้อหนักก่อนเข้านอน รวมถึงการกินอาหารบางประเภท ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นให้มีอาการตื่นตัว

ส่งเสริมปัจจัยด้านบวกที่ดีต่อการนอนหลับ 

  • การนอนหลับในที่ที่ป้องกันแสงและเสียงรบกวนต่าง ๆ การปรับอุณหภูมิให้เย็นสบาย ไม่หนาวหรืออุ่นเกินไปก่อนนอน แอร์รุ่นใหม่มักจะมีโหมดการทำงานที่ปรับอุณหภูมิให้เข้ากับช่วงเวลาการนอนของเราโดยอัตโนมัติ ลองศึกษาและใช้งานโหมดนั้นดู
  • ปรับท่านอนให้เหมาะกับสรีระ และเลือกหมอนที่เหมาะสมกับสรีระช่วงคอและหัวของเรา เพื่อลดแรงตึงของกล้ามเนื้อ โดยให้เลือกหมอนให้เหมาะสมกับท่านอนที่เราถนัด นอกจากนี้ หากมีอาการนอนกรน ควรเปลี่ยนจากท่านอนหงายมาเป็นท่านอนตะแคงเพื่อลดอาการดังกล่าว
  • สร้างอุปนิสัยการนอนให้ตรงต่อเวลา สม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ควรนอนให้ได้อย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป และพยายามเข้านอนก่อนเที่ยงคืน
  • ควรเข้านอนเมื่อง่วงนอนจริง ๆ แล้วเท่านั้น ไม่ใช้ที่นอนเป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง หากผ่านไป 30 นาทีแล้วยังนอนไม่หลับ ให้ลุกออกมาทำกิจกรรมเบา ๆ อย่างอื่น รอให้ง่วงอีกครั้งค่อยกลับไปนอน
  • หากตื่นกลางดึก ให้ผ่อนคลายเข้าไว้ อย่ากดดันตัวเองให้ต้องนอนต่อให้ได้ เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้กังวลโดยใช่เหตุ นอกจากนี้ ไม่ควรดูนาฬิกา เพราะจะยิ่งสร้างความรู้สึกกดดัน 
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเลือกออกกำลังในช่วงเช้า หรือตอนที่ไม่ใกล้กับช่วงเวลาก่อนนอนมากเกินไป
  • คุมอาหาร ลดน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะความอ้วนเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มโอกาสนอนกรน และโอกาสเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัญหาตื่นนอนแล้วปวดหัว อย่างแรกที่ควรทำคือ การพิจารณาดูว่าตัวเองมีอาการเช่นนี้เป็นประจำหรือไม่? เพราะอาจเกิดจากพฤติกรรมหรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเฉพาะวันนั้น ๆ หากแก้ไขได้แล้ว อาการเหล่านี้ก็หมดไป แต่ถ้ามีอาการเรื้อรัง ควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ เพื่อหาสาเหตุปัจจัยและแนวทางการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

 

 


 

อาการ ปวดหัว มีหลายชนิดครับ อาการปวดหัวทั่วไป ที่พบกันก็อย่างเช่น อาการปวดหัวเพราะความเครียด ปวดหัวไมเกรน (ปวดข้างเดียว) ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (ปวดด้านเดียวรอบตา หรือขมับ มาเป็นชุดๆ) อาการปวดหัวไซนัส (ปวดบริเวณหน้าผาก ร้อนผ่าวๆ ที่กระบอกตา)  และอาการปวดหัวที่มาจากอาการหวัด หรือโรคไวรัสอื่นๆ เมื่อมีไข้ต่ำ

และถึงแม้อาการปวดหัวทั่วไปไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างไรก็ตาม อาการปวดหัวอย่างรุนแรงสามารถส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง ที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษครับ เช่น โรคหลอดเลือดในสมองโป่งพอง และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายมาก จึงจำเป็นต้องสังเกตอาการอย่างละเอียด โดยเมื่อมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย อาการปวดหัวก็ถือว่าเป็นอาการฉุกเฉินครับ

 

ปวดหัว ปวดคอและมีไข้

ปวดคอและมีไข้อาจเป็นสัญญาณของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งอาจกลายเป็นสัญญาณวิกฤตได้ครับ

 

ปวดหัวและคลื่นไส้

เมื่อมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง หรือมีความผิดปกติของระบบประสาท เช่น มีความยากลำบากในการพูด หรือเดิน อาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดตีบตันได้

 

ปวดหัวรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปวดมาก่อน

อาการปวดหัวรุนแรงมาก อาจหมายความว่ากำลังมีภาวะเลือดโป่งพองในสมอง ที่เริ่มมีเลือดไหลเล็กน้อย แต่สามารถกลายเป็นเลือดออกอย่างวิกฤติ และนั่นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 

ปวดหัวแบบนี้ ก็อย่านิ่งนอนใจ

และนอกจากอาการหลักๆ สามอาการข้างต้น ยังรวมถึงอาการปวดหัวในสถานการณ์ต่อไปนี้ ที่ควรถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ควรรีบไปพบแพทย์ครับ

  • มีอาการปวดหัวทันทีหลังจากกิจกรรมต่างๆ เช่นยกน้ำหนัก วิ่ง หรือกิจกรรมทางเพศ
  • ปวดหัวอย่างกะทันหัน และเกิดขึ้นอย่างรุนแรง
  • ปวดหัวพร้อมกับการพูดมีปัญหา พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือสูญเสียสมดุลในการขยับแขนขา
  • สูญเสียความทรงจำไปกับอาการปวดหัว
  • ปวดหัวอย่างรุนแรงเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
  • ปวดหัวในบริเวณที่บาดเจ็บที่ศีรษะ
  • มีอาการปวดหัวรุนแรงและมีรอยในดวงตาด้านหนึ่ง
  • มีอาการปวดหัวพร้อมกับปัญหาสายตา และความเจ็บปวดขณะเคี้ยว
  • มีประวัติมะเร็งและอาการปวดหัวรุนแรงมากขึ้น

 

สิ่งแรกที่ควรทำ ไปหาหมอ

เมื่อมีอาการปวดหัวอย่างไม่ปกติ และมีอาการที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งที่แนะนำอย่างยิ่งคือไปหาหมอทันทีครับ และเล่าอาการให้หมอฟังอย่างละเอียด หมออาจตัดสินใจให้มีการตรวจเพิ่มเติม เช่น ทำ CT Scan เพื่อหาสาเหตุ การไปให้หมอวินิจฉัยก็จะทำให้สามารถรู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงได้ แทนการพยายามเดาสุ่มหรือพยายามรักษาตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดและไม่ทันการณ์ได้ครับ

 

สาเหตุของอาการปวดหัวแบบรุนแรงเป็นอะไรได้บ้าง?

อาจมาจากปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือด และการมีเลือดออกในสมอง รวมถึงความผิดปกติทางเส้นเลือด หลอดเลือดในสมองโป่งพอง หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และสาเหตุอื่นๆ ของอาการปวดหัวที่ควรตรวจโดยผู้ให้บริการด้านแพทย์ในทันที ได้แก่ ปวดหัวจากความดันโลหิตสูงมาก เนื้องอกในสมอง การสะสมของของเหลวภายในกะโหลกศีรษะ ที่นำไปสู่อาการบวมของสมอง พิษคาร์บอนมอนอกไซด์ การติดเชื้อในสมองหรือเนื้อเยื่อรอบสมองรวมทั้งฝีในสมอง

อย่างไรก็ตาม เราจะรู้ชัดได้ถึงสาเหตุหรือโรคเหล่านี้ได้ ก็ต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยเป็นดีที่สุดนะครับ

“อาการปวดหัว” ที่เกิดจากความเครียด ไมเกรนเรื้อรัง และอื่นๆ ยังถือเป็นอาการที่ไม่น่าเป็นห่วงขนาดถึงขั้นอันตรายเสียชีวิต แต่สำหรับอาการปวดหัวบางประเภทสามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกายที่อาจจะนำไปสู่อันตรายจนถึงแก่ชีวิต

จากข้อมูลเชิงวิชาการจากศูนย์สมองและระบบประสาท ทางโรงพยาบาลเวชธานีระบุว่าผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวทั่วไปไม่ถึงขั้นเสียชีวิต จะถูกจำแนกโรคปวดศีรษะจากอาการปวดหัวออกมาด้วยสาเหตุอื่นซ่อนอยู่ โดยเฉพาะจากภายในสมอง เช่นก้อนเนื้องอก เลือดออก และเส้นเลือดผิดปกติ โรคเหล่านี้ถือเป็นอาการปวดหัวรุนแรงและมีแนวโน้มอันตราย  ซึ่งประวัติและรายละเอียดของอาการจากผู้ป่วย ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยโรค รวมถึงการสืบค้นสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นต้นเหตุของการปวดศีรษะที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

เมื่อมีอาการปวดศีรษะครั้งแรก แม้จะมีหรือไม่มีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินว่าเป็นโรคปวดศีรษะชนิดใด

ส่วนผู้ที่มีอาการปวดหัวอยู่แล้ว หรือปวดศีรษะครั้งแรกแล้วมีสัญญาณอันตรายดังกล่าวข้างต้น ให้รีบมาปรึกษาแพทย์ระบบประสาทโดยเร็ว เพื่อสืบค้นสาเหตุที่อาจเป็นอันตรายได้ และเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและตรงกับโรคที่เป็นสาเหตุ การตรวจวินิจฉัยที่สำคัญ ได้แก่การเอกซเรย์สมองด้วยคอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การเจาะเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการ และอื่น ๆ ตามแต่โรคที่แพทย์วินิจฉัย

ถึงแม้ส่วนใหญ่ของโรคปวดศีรษะจะไม่เป็นอันตราย แต่การรักษาอย่างถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การดำรงชีวิตเป็นปกติสุข การคอยสังเกตสัญญาณอันตรายหรือความผิดปกติจะทำให้การวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงทีและส่งผลกระทบกับผู้ป่วยน้อยลงได้

เรื่องของอาการปวดหัวจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราควรคอยสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพราะแพทย์จะได้วินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที

ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี

 

 

อ้างอิงseedoctornow  https://www.seedoctornow.com/emergency-headache/