รู้จักและเตรียมรับมือ 5 โรคร้อนที่มาพร้อม “อากาศร้อน”

รู้จักและเตรียมรับมือ 5 โรคร้อนที่มาพร้อม “อากาศร้อน”

เมื่อ "อากาศร้อน" คือวายร้าย ทำลายสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม มาทำความรู้จักโรคฮิตที่มาคู่กับ "ฤดูร้อน" ก่อนจะกลายเป็นเหยื่อของโรคเหล่านี้

เดือดกันทั้งแผ่นดิน สำหรับ อากาศร้อน ปีนี้ที่ในบางพื้นที่มีอุณหภูมิทะลุเกิน 40 องศาไปแล้ว นอกจากเหงื่อไหลไคลย้อยและความรู้สึกคล้ายซ้อมตกนรก อากาศร้อนแบบนี้มาพร้อมโรคร้ายที่บางอาการหากเป็นอาจถึงตาย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปรู้จักกับ 5 โรคที่มาพร้อมอากาศร้อน ถึงบางโรคจะคุ้นหูคุ้นตา ทว่าพิษภัยร้ายกว่าที่หลายคนคิด

1.โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก

แค่คำว่า “เป็นลม” คงไม่น่ากลัวเท่าไร แต่กับ โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือ โรคลมแดด มีอันตรายเกินคาด เพราะเป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส

อาการเบื้องต้นของ “โรคลมแดด” คือ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หน้ามืด ระยะถัดมาอุณหภูมิในร่างกายจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รูขุมขนปิดจนระบายเหงื่อไม่ได้ ในบางรายอาจถึงขั้นชักกระตุกและหมดสติ มีไข้สูง ตัวร้อนมาก ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง

ความน่ากลัวของ “โรคฮีทสโตรก” คือถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้

2.ท้องเสียและอาหารเป็นพิษ

"อากาศร้อน" ทำให้อาหารบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ รวมทั้งอากาศร้อนทำให้เชื้อโรคและแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี ช่วงฤดูร้อนจึงเป็นเวลาทองของโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารอย่าง โรคบิด (Dysentery) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรืออะมีบา ติดต่อได้ผ่านการรับประทานอาหาร ผักดิบ รวมถึงน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรค

สำหรับโรคบิดหากเป็นมักจะมีไข้ ปวดท้องแบบปวดเบ่ง ถ่ายอุจจาระบ่อย และอาจทำให้อุจจาระมีมูกหรือมูกเลือดได้ด้วย

ส่วน โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Diarrhea) เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปโตซัว พยาธิ ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระเหลวมากกว่าวันละ 3 ครั้ง หรือถ่ายเป็นน้ำหรือเป็นมูกเลือด ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็วร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อก หมดสติ และอาจทำให้เสียชีวิตได้

3.โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ

โรคพิษสุนับบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ เป็นโรคที่ติดหูเมื่อกล่าวถึงฤดูร้อน โรคนี้เกิดจากการรับเชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ส่วนมากเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่สัตว์กัดหรือข่วน

หน่วยงานด้านสาธารณสุขแนะวิธีป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าด้วยคาถา 5 ย. คือ อย่าแหย่ให้สัตว์โมโห, อย่าเหยียบบริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์, อย่าแยกสัตว์ที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า, อย่าหยิบอาหารขณะสัตว์กำลังกิน และอย่ายุ่งกับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย เพราะสัตว์เหล่านี้อาจกัดหรือข่วนได้

หากถูกสัตว์ที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า กัด ข่วน หรือเลียตามบาดแผล ให้รีบล้างแผล ใส่ยา ไปพบแพทย์ และกักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน

4.โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก เป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตช่วง "ฤดูร้อน" ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากไข้เลือดออกจำนวนมาก โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี มียุงลายเป็นพาหะ อาการคือไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายมีจุดแดงที่ผิวหนัง ตับโต กดเจ็บบริเวณชายโครงด้านขวา อาจมีภาวะเลือดออก เกิดภาวะช็อก การไหลเวียนของเลือดล้มเหลว ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้

การป้องกันคือต้องเก็บบ้านให้สะอาด, เก็บขยะเศษภาชนะที่อาจมีน้ำขัง และเก็บภาชนะใส่น้ำปิดฝาให้มิดชิด

5.ไมเกรน

หลายคนที่รู้จักแต่ชื่อ โรคไมเกรน จะเข้าใจว่าเป็นอาการปวดหัวธรรมดาหรือว่าเกิดจากความเครียดเท่านั้น แต่อันที่จริงไมเกรนมีสิ่งกระตุ้นทั้งจากภายนอกและภายในมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “อากาศร้อน”

อาการ “ไมเกรน” มักจะปวดหัวข้างเดียว ปวดแบบตุบๆ และค่อยๆ รุนแรงมากขึ้น จนทำให้ปวดทั้งสองข้าง ในบางรายปวดร้าวบริเวณกระบอกตาและมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย

สำหรับอากาศร้อนส่งผลให้หลอดเลือดสมองขยายตัว เกิดการหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนิน เมื่อระดับเซโรโทนินเพิ่มสูงขึ้น ทำให้การมองเห็นผิดปกติ โดยจะเห็นแสงเป็นเส้นซิกแซกคล้ายฟันเลื่อย อาจจะมีหรือไม่มีสี มองเห็นภาพมืดเป็นบางส่วน หรือมองเห็นภาพไม่ชัด

และเมื่อระดับฮอร์โมนเซโรโทนินลดต่ำลง จึงส่งผลให้หลอดเลือดสมองเกิดการบวมและอักเสบจนทำให้ปวดหัวไมเกรนได้

นอกจากนี้ความสว่างและความเข้มของแสงแดดในช่วงฤดูร้อนก็กระตุ้นอาการไมเกรนด้วย โดยแสงแดดจะเดินทางผ่านจอประสาทตา (Retina) และ เส้นประสาทตา (Optic nerve) ไปกระตุ้นเซลล์ประสาทที่บอบบางในสมอง

รวมทั้งรังสีอุลตร้าไวโอเลต (Ultraviolet radiation) จากดวงอาทิตย์ก็ทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีในชั้นผิวหนังทำให้หลอดเลือดขยายตัว จนทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน

ดังนั้น อย่ามองว่า “อากาศร้อน” จะเป็นแค่อุณหภูมิ แต่มีผลต่อสุขภาพอย่างมาก อย่าเพิ่มความเสี่ยงให้ร่างกายไม่ว่าจะกับโรคใด หรือถ้ามีอาการต้องรีบรักษาอย่างถูกวิธี มิเช่นนั้นจากแค่เสียเหงื่ออาจกลายเป็นเสียชีวิต