เช็ค "อาการปวดหัว" เข้าข่ายเสี่ยงติด "โควิด-19"

เช็ค "อาการปวดหัว" เข้าข่ายเสี่ยงติด "โควิด-19"

อาการปวดหัวแบบไหน เข้าข่ายเสี่ยงติด "โควิด-19" ปวดหัวแบบไซนัส ปวดหัวไมเกรน พร้อมวิธีการรักษา เช็คได้ที่นี่!!

อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท เผยอาการปวดศีรษะเป็นอาการทางระบบประสาทที่เจอได้บ่อยในผู้ติดเชื้อ COVID-19 โดยสามารถพบผู้ป่วยที่มีอาการได้มากถึง 30% ส่วนใหญ่จะไม่เคยมีประวัติโรคปวดศีรษะมาก่อน และอาการปวดมักจะพบภายใน 7 วันแรกหลังจากการติดเชื้อ

อาการปวดหัวที่เข้าข่ายความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 มีดังนี้

  • มีอาการปวดหัวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ระดับอาการปวดหัวที่มีความรุนแรง ไปจนถึง ปวดปานกลาง 
  • ไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวด หรือ ปวดซํ้าหลังจากยาแก้ปวดหมดฤทธิ์
  • ปวดแบบบีบรัดที่บริเวณขมับ หน้าผาก รอบกระบอกตาทั้ง 2 ข้าง หรือปวดทั่วทั้งศีรษะ ซึ่งอาจจะพบลักษณะการปวดแบบปวดตุ๊บๆ คล้ายกับเส้นเลือดเต้นได้ 
  • อาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อโน้มศีรษะไปด้านหน้า การไอ การจาม และการออกแรงจะทำให้อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้น 
  • อาการปวดสามารถเกิดขึ้นได้นานถึง 2 สัปดาห์ 

อาการโควิดอื่นๆ

นอกจากอาการปวดหัวในลักษณะดังกล่าวแล้ว ยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น

  • เวียนศีรษะ
  • มีไข้
  • จมูกไม่ได้กลิ่น
  • ลิ้นไม่รับรส ไอ
  • หอบเหนื่อย
  • ปวดเมื่อย
  • ถ่ายเหลว
  • เจ็บคอขณะกลืน
  • อาจมีอาการแพ้แสง แพ้เสียงดัง คล้ายคนที่ปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย

อาการปวดศีรษะตามปกติ มักจะมีสาเหตุมาจากอาการต่าง ๆ ดังนี้  

ปวดไมเกรน (Migraine)
อาการปวดศีรษะตุบๆ บริเวณข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ มักปวดนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน สู้แสงหรือเสียงไม่ได้ร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการนำก่อนอาการปวดหัว โดยมักเห็นเป็นแสงวูบวาบ หรือมองเห็นภาพไม่ชัด

 

ปวดชนิดกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension)
อาการปวดศีรษะมีลักษณะเหมือนถูกกด บีบ หรือรัดที่ศีรษะทั้งสองข้าง มักมีอาการเริ่มที่ท้ายทอย ร้าวไปขมับทั้งสองข้าง แล้วจึงปวดร้าวทั้งศีรษะ อาจจะมีอาการกดเจ็บที่หนังศีรษะร่วมด้วย มักมีอาการปวดตั้งแต่ 30 นาทีขึ้นไป โดยมักพบในผู้ที่มีอาการเครียด โกรธ หรือเหนื่อย


ปวดแบบไซนัส (SINUS)
ปวดศีรษะเนื่องจากโพรงจมูกติดเชื้อ มีอาการปวดแบบหน่วงๆ บริเวณหน้าผาก หัวตา โหนกแก้ม และรอบกระบอกตา เนื่องจากโพรงจมูกติดเชื้อและน้ำมูกไหลออกมาไม่ได้ บางรายมีอาการปวดเมื่อก้มศีรษะหรือเปลี่ยนท่า

 

ทั้งนี้การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากอาการปวดศีรษะสามารถทำได้ไม่ยาก อย่างแรกควรสังเกตและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ นอนพักผ่อนให้เพียงพอและตรงตามเวลาทุกวัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมจนเกินไป งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง และถ้าอาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้นหรือมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป ควรปรึกษาแพทย์ทันที

 

ขอบคุณข้อมูล : นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท (โรคปวดศีรษะและใบหน้า) ศูนย์สมอง รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล