6 ธีมการลงทุนสำหรับปี 2023 (ตอนที่ 1)

ปี 2022 ที่กำลังจะผ่านไปนับว่าเป็นปีที่หนักหน่วงไม่น้อยสำหรับการลงทุนและการบริหารพอร์ตฟอลิโอ ทั้งในส่วนของสินทรัพย์ดั้งเดิมอย่าง บอนด์ หุ้น และการลงทุนทางเลือกต่างๆ

 รวมถึงสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซีต่างๆ จากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมากมายทั้งเงินเฟ้อและสงคราม อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของปี 2023 มีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์ของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกน่าจะดีขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการเงินที่น่าจะลดลง แต่ก็ยังคงมีหลายปัจจัยที่จำเป็นจะต้องคอยจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยธีมหลักและปัจจัยสำคัญต่างๆ สำหรับปีหน้ามีดังนี้ครับ

  1. จุดสูงสุดของเงินเฟ้อและดอกเบี้ยนโยบาย จุดต่ำสุดของเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน

 ในปีหน้ามีโอกาสที่วัฏจักรเงินเฟ้อของเศรษฐกิจโลกน่าจะปรับตัวสูงที่สุดและค่อยๆ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากนโยบายการเงินที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่เศรษฐกิจโลกน่าจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ขาขึ้นของนโยบายการเงินที่กดดันตลาดการเงินอย่างมากในปีนี้ก็น่าจะสิ้นสุดลงในปีหน้าเช่นกัน

โดยปัจจุบันคาดว่ายุโรปและสหรัฐฯ น่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) จากนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นมาตลอด พร้อมกับปัญหาเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่าจะเป็นเพียงช่วงสั้น 1-2 ไตรมาส ก่อนที่เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปรกติต่อไป ไม่ได้หดตัวรุนแรงถึงขนาดก่อให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้อาจจะมาพร้อมกับ “New Normal”

โดยเฉพาะในเรื่องของเงินเฟ้อ ที่คาดว่ายุคเงินเฟ้อต่ำของโลกน่าจะไม่มีแล้ว ปัจจัยหลักๆ ที่น่าจะทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวสูงกว่าในช่วงทศวรรษก่อนก็ประกอบไปด้วยหลากหลายปัจจัย เช่น เรื่องของโครงสร้างและนโยบายของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะเรื่องของอุตสาหกรรมดั้งเดิมและข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนแรงงานที่ลดลง เรื่องของ De-Globalisation ที่เศรษฐกิจต่างๆ น่าจะเน้นการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนของธุรกิจต่างๆ สูงขึ้นกว่าการทำงานร่วมกันอย่างเสรี

 

รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น ประเด็นเรื่องของนโยบายด้านความยั่งยืน เช่น การกำจัดคาร์บอน (Decarbonization) ต่างๆ ที่อาจเพิ่มต้นทุนให้กับธุรกิจในระยะสั้น โดยในส่วนนี้อาจจะเป็นโอกาสอันดีในการปรับพอร์ตฟอลิโอในหลายๆ ส่วน เช่น การเพิ่มสัดส่วนตราสารหนี้ หรือเป็นจังหวะที่ดีในการทยอยสะสมหุ้นที่มีระดับการซื้อขายที่ถูกกว่าเมื่อ 2-3 ปีก่อนมาก รวมถึงเพิ่มการลงทุนใหม่ๆ ที่ช่วยชดเชยเงินเฟ้อบางส่วน เช่น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

  1. ปัจจัยของตลาดจีนทั้งสั้นและยาวที่แตกต่างกันและอาจเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุนในระยะข้างหน้า

ปี 2022 นับว่าเป็นปีที่ไม่ดีนักสำหรับตลาดหุ้นจีน โดยนับตั้งแต่ต้นปี ดัชนี CSI300 ติดลบไปแล้ว 20.6% เทียบกับดัชนี MSCI All Country Index ที่ติดลบ 19.7% (นับจนถึงวันที่ 19 ธ.ค. 22) โดยมีปัจจัยเฉพาะที่เพิ่มเติมไปจากตลาดหุ้นโลก เช่น เรื่องของนโยบาย zero-COVID ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ การดูแลจัดระเบียบและการผูกขาดของภาครัฐฯ

รวมถึงความไม่มั่นใจเกี่ยวกับผลการเลือกผู้นำและนโยบายต่างๆ จากการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ที่ผ่านมา ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียดก็จะพบว่าบางประเด็นอาจเป็นเพียงแรงกดดันในระยะสั้น ในขณะที่ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการลงทุนในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะเรื่องของนโยบายการผ่อนคลายที่เกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่างๆ เริ่มส่งสัญญาณในทางบวกมากขึ้นเรื่อยๆ

แม้ในช่วงสั้นอาจจะตามด้วยการเร่งตัวขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อดังที่ได้เห็นในหลายๆ ประเทศในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้อาจจะเป็นโอกาสอันดีในการปรับสัดส่วนการลงทุนในจีนเพิ่มเติม หรือ ปรับสัดส่วนจากที่ลดลงในช่วงก่อนหน้านี้ได้ โดยเฉพาะเมื่อระดับการซื้อขายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ตามคงต้องจับตาดูพัฒนาการต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายของภาครัฐฯ กันอย่างต่อเนื่อง

  1. พันธบัตรรัฐบาลจะเป็นการลงทุนที่ช่วยชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ดี

หนึ่งในการลงทุนที่ดีที่จะช่วยชดเชยความเสี่ยงจากการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้าได้ดี คือ การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะถูกปรับลดลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ราคาของพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น ส่วนทางกับสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ที่น่าจะทำได้ไม่ดีโดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว

ในขณะที่พันธบัตรในกลุ่มหุ้นกู้เอกชนเองก็อาจจะทำได้ไม่ดีเช่นกัน เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับพันธบัตรรัฐบาล หรือ Credit Spread ที่ปรับตัวสูงขึ้น จากโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ทำให้อัตราผลตอบแทนโดยรวม (Yield-to-Maturity) เพิ่มขึ้นและทำให้ราคาของหุ้นกู้เอกชนปรับตัวลดลง

โดยกลุ่มแรกที่น่าจะได้รับผลกระทบคือ กลุ่มที่อยู่ในระดับต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้ (High Yield) และหากรุนแรงก็จะส่งกระทบไปยังกลุ่มที่อยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) ด้วย เช่นกัน แต่พันธบัตรรัฐบาลที่ไม่มีความเสี่ยงในส่วนนี้จะเคลื่อนไหวตามแนวโน้มดอกเบี้ยระยะสั้น การคาดการณ์เงินเฟ้อ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ดังนั้นหากเราคาดว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะชะลอตัวลงมากกว่าคาด การเพิ่มน้ำหนักของกลุ่มพันธบัตรรัฐบาลนับว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และช่วยลดทอนความเสี่ยงจากส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ได้

ส่วนธีมที่เหลือ ไว้ว่ากันต่อในสัปดาห์ต่อไปครับ ...

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด