‘สภาพัฒน์’ แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ดัน GDP ไทยหลุดกับดักโตรั้งท้ายอาเซียน

‘สภาพัฒน์’ แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ดัน GDP ไทยหลุดกับดักโตรั้งท้ายอาเซียน

"สภาพัฒน์" แนะไทยเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ดึงการลงทุนเป้าหมาย เร่งการผลิตควบคู่ยกระดับการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หนีบ๊วยโตต่ำสุดในอาเซียน

KEY

POINTS

  • สภาพัฒน์แถลงจีดีพีไตรมาสที่1/67 ขยายตัวได้ 1.5% ปรับเป้าทั้งปีเหลือ 2.5% ยังต่ำกว่าทุกประเทศในอาเซียน 
  • การปรับลดจีดีพีลงเพื่อรับกับความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์
  • การฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจไทยมาจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังเน้นการผลิตสินค้าขั้นกลาง และมีเทคโนโลยีต้นน้ำจำกัด
  • ต้องปรับโครงสร้างจริงจัง ทั้งการดึงการลงทุน และพัฒนาทักษะแรงงานรองรับการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ 

 

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัว 1.5% แม้จะสูงกว่านักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์และทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เจอกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) แต่ “อาการ” ที่เป็นปัญหาเรื้อรังของเศรษฐกิจไทยยังเป็นประเด็นเศรษฐกิจเติบโตต่ำ 

นอกจากนี้มีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2567 ลงเหลือ 2.0-3.0% โดยมีค่ากลางที่ 2.5% จากเดิมก่อนหน้านี้ประมาณการณ์ไว้ 2.7% ซึ่งทำให้รัฐบาลและหน่วยงานทางเศรษฐกิจต้องมีการหารือกันอย่างจริงจังว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรเพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากภาวะจีดีพีโตต่ำรั้งท้ายอาเซียนแบบในปัจจุบัน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “Deep talk” เผยแพร่ทางเฟสบุ๊คและยูทูป “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัวเลข 1.5% เนื่องจากมีแรงส่งจากการบริโภคภายในประเทศและภาคท่องเที่ยวที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 

สำหรับเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์จีดีพีจากเดิมค่ากลางอยู่ที่ 2.7% มาเหลือ 2.5% โดยส่วนที่ลดลงนั้นเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภายนอกประเทศอยู่ โดยเฉพาะการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนจากภาวะภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งขณะนี้ความไม่แน่นอนของโลกมากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งทำให้การคาดการณ์นั้นทำได้ยากขึ้น 

ขณะที่สงครามการค้าและการกีดกันทางการค้าที่ออกมาชัดเจนมากขึ้นระหว่างประเทศมหาอำนาจ ซึ่งความขัดแย้งพวกนี้หากมีมาตรการอะไรออกมามากขึ้นก็จะส่งผล กระทบกับปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าในประเทศไทยได้

‘สภาพัฒน์’ แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ดัน GDP ไทยหลุดกับดักโตรั้งท้ายอาเซียน

“ในปีนี้เศรษฐกิจไทยนั้นยังมีโอกาสมากจากเรื่องของภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีเรื่องของการลงทุนโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นงบลงทุนจากปี 2567 ที่เหลือจากการใช้จ่ายพลางไปก่อนที่ก่อนหน้านี้ยังเบิกจ่ายไม่ได้ ซึ่งในส่วนนี้จะมีเม็ดเงินลงมาในระบบเศรษฐกิจอีกกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้โครงการต่างๆที่เป็นโครงการขนาดใหญ่" 

 

ทั้งนี้การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวส่งผลต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจในภาคขนส่งและการผลิตสินค้าบางส่วนที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ภาคการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังถือว่ายังไม่ฟื้นตัวได้ดีนักซึ่งทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการส่งออกถือว่ามีสัดส่วนค่อนข้างมากในการคำนวณจีดีพี

รวมทั้งมีโครงการในต่างจังหวัดมีการก่อสร้างและเบิกจ่ายงบประมาณออกมาเป็นจำนวนมากึ่งจะช่วยเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้การเติบโตของเศรษฐกิจนั้นมาจากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนหรือมาตรการอื่นที่เข้ามากระตุ้นการท่องเที่ยวได้มากขึ้นกว่าที่คาดไว้ เพื่อให้การใช้จ่ายต่อหัวมากขึ้น ส่วนภาคการผลิตที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งเริ่มลงทุนแล้วเริ่มมีการผลิตส่งออกได้จะทําให้ไทยเติบโตได้ดีขึ้น

นโยบาย “การเงิน-การคลัง” ต้องไปด้วยกัน

ส่วนนโยบายการเงินคงเป็นส่วนที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารือกัน โดยสภาพัฒน์สนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีและลูกหนี้ที่ขาดสภาพคล่องเข้าถึงสินเชื่อยาก

“ในการประเมินเศรษฐกิจมองหลายมุมการมองว่าเติบโตที่ 2.5% ค่อนข้างจะประเมินแบบคอนเซอร์เวทีฟ เราไม่แน่ใจจริงๆว่ามันจะมีช็อคหรืออะไรเกิดขึ้นทําในช่วงถัดไป แต่การที่โต 2.5% ก็ถือว่าอยู่ในจุดที่เราค่อยๆฟื้นตัวขึ้นมา” 

ขณะนี้เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว เพราะหากดูย้อนหลังไป 2-3 ปี ได้ผ่านสถานการณ์ช่วงวิกฤติโควิด-19 แล้วทยอยขยับขึ้นมาต่อเนื่อง โดยการขยับขึ้นมาในลักษณะที่ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นรวมทั้งโครงสร้างภายในของประเทศด้วย

ศักยภาพเศรษฐกิจไทยโตได้เกิน3%

ทั้งนี้ แม้สภาพัฒน์จะคาดการณ์ว่าจีดีพีไทยปี 2567 จะขยายตัวได้ 2.5% และเป็นการฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ โดยต้องยอมรับตามตรงว่าไทยอยู่ในภาวะที่จีดีพีเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาระยะเวลาหนึ่ง เพราะเศรษฐกิจไทยไม่น่าจะขยายตัวได้น้อยกว่า 3.0-3.5% แต่จากภาวะหลังจากวิกฤติโควิดทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไม่สมดุล 

รวมทั้งเจอปัญหาช็อกที่กระทบเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อและราคาพลังงาน ซึ่งเงินเฟ้อระดับสูงเกิดขึ้นทั่วโลกทำให้เศรษฐกิจโลกผันผวน แล้วไทยเจอปัญหาศักยภาพการส่งออกเริ่มลดลง โดยต้องแก้ปัญหาไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

 “ถ้าบอกว่าโต 2.5% ผมก็ไม่ค่อยพอใจ แต่ถ้าเทียบประเทศเพื่อนบ้านในเชิงตัวเลขก็อาจจะยังไม่ค่อยน่าพอใจ แต่ต้องไปดูในแง่ตัวโครงสร้างแต่ละประเทศที่อาจจะแตกต่างกัน โดยอินโดนีเซียเติบโตได้มากเพราะมีการส่งออกพลังงาน ส่วนเวียดนามขนาดเศรษฐกิจยังไม่ใหญ่เท่าไทย”

ถึงเวลาปรับโครงการภาคการผลิต

ส่วนภาคการผลิตโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมหากย้อนกลับไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับผลผลิตอุตสาหกรรมที่ติดลบ 6 ไตรมาส หรือ 18 เดือน ซึ่งสภาพัฒน์ได้ชี้แจงตลอดว่าการปรับโครงสร้างอุตสาหรรมของไทยเป็นสิ่งที่จำเป็น 

ทั้งนี้เพราะตั้งแต่โควิดเห็นชัดเจนว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเริ่มมีปัญหา เพราะภาคอุตสาหกรรมผลิตสินค้าประเภทเดิมเพื่อส่งออก  ซึ่งแม้ว่าในช่วงหลังโควิดการส่งออกจะดีขึ้นมาก แต่เป็นเพราะว่าสต็อกสินค้าของประเทศคู่ค้าลดลง แต่สต็อกสินค้าเริ่มปรับตัวเข้าสู่สมดุลตั้งแต่ปี 2564-2565 ที่การส่งออกยังขยายตัวได้ดี แต่จะเริ่มเห็นปัญหามันปี 2566 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

ดังนั้นต้องโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยจําเป็นต้องปรับโครงสร้าง เพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมปัจจุบันยังเป็นอุตสาหกรรมขั้นกลาง โดยถ้าต้องการทําให้อุตสาหกรรมไทยมีขีดความสารถในการแข่งขันมากขึ้นต้องขยับไปผลิตสินค้าไฮเทคโนโลยีสูงขึ้น ซึ่งไทยมีอยู่ไม่มากจึงต้องดึงการลงทุนเข้ามาเพิ่มขึ้น 

รวมทั้งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดําเนินการหลายแนวทางเพื่อดึงอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยีเข้ามา และจะทําให้เกิดการปรับโครงสร้างในอุตสาหกรรมไทย เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบตเตอรี่ อิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ อุตสาหกรรมการผลิตชิปขั้นสูง

 “มีตัวอย่างฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่เดิมไทยเคยส่งออกได้มาก แต่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปใช้โซลิดสเตจ ซึ่งต้องมีชิปที่จะมาคอนโทรลจึงทําให้อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของไทยหดตัวลงในแง่การผลิต เพราะฉะนั้นตรงนี้ถ้าเร่งดําเนินการก็จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีความแข็งแรงมากขึ้นแล้วก็แข่งขันได้ ควบคู่ไปกับการเตรียมบุคลากรในสถานศึกษาให้แรงงานมีความพร้อม"

ต้อง“อัพสกิล-รีสกิล”แรงงานครั้งใหญ่

ขณะที่ประเด็นอีกนานไหมที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับไปอยู่จุดศักยภาพที่ 3 หรือ 3.5% นายดนุชา ยอมรับว่า ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะวันนี้เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาแค่โครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรม หรือโครงสร้างสินค้าส่งออก แต่มีปัญหากําลังแรงงานด้วย

ทั้งเรื่องคุณภาพแรงงานและสังคมผู้สูงอายุด้วย ซึ่งทําให้ศักยภาพของไทยลดน้อยถอยลง ดังนั้นนอกเหนือจากการปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมแล้วจะต้องดูการผลิตภาคเกษตรกรรมด้วยที่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้มากขึ้น

สำหรับภาคเกษตรกรรมมีปัญหาแรงงานภาคเกษตรเริ่มชราภาพ ดังนั้นต้องนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเพิ่มการพัฒนาศักยภาพการผลิต แล้วแปรรูปสินค้าใหม่ที่นายกรัฐมนตรีกำหนดในนโยบาย IGNITE THAILAND รวมถึงการผลักดันนโยบายอาหารแห่งอนาคต เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหาร รวมทั้งการดึงลงทุนอุตสาหกรรมใหม่เพื่อเข้ามาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย 

เช่นเดียวกับการพัฒนาแรงงานไทยต้องเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการอัพสกิลรีสกิลต้องเริ่มทํามากขึ้น รวมถึงระบบการศึกษาจะมีการปรับเช่นกัน ซึ่งอาจต้องใช้เวลากว่าจะเห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 3.5% หรือเติบโตได้ 4.0-5.0% 

ดึงเอกชนลงทุนยกระดับอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างไม่ใช่ภาครัฐอย่างเดียวแต่ว่าภาคเอกชนต้องมีส่วนร่วมด้วย เพราะกลไกที่มีอยู่ช่วยดึงการลงทุนอุตสหกรรมเข้ามา แต่การใช้มาตรการภาษีอย่างเดียวไม่เพียงพอ ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีมาตรการการอุดหนุนการลงทุนโดยใช้เงินจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเป็นเครื่องมือที่ใช้ดึงดูดการลงทุน 

ทั้งนี้ กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว 3-4 โครงการ ซึ่งเป็นการลงทุนอุตสาหกรรมต้นน้ำ และเมื่อดึงเข้ามาลงทุนแล้วต้องพยายามทําให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ไทยสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว

“ศักยภาพของประเทศไทยวันนี้ต้องดูเรื่องของบริบทในแง่ของโอกาสที่เกิดขึ้นในในโลกด้วย แน่นอนเรารู้ว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้วพัวพันมาในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงมีมาตรการกีดการการค้า ที่ตอนแรกไม่ใช่มาตรการทางภาษี ตอนหลังเริ่มมีมาตรการทางภาษี”

สำหรับสถานะของประเทศไทยอยู่ในสถานะประเทศเล็กแต่ก็เป็นกลาง ซึ่งเหมือนกับสร้างสมดุลในแง่ของความขัดแย้งที่สามารถดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้ามาลงทุนได้ และขณะนี้ภาครัฐพยายามที่จะดึงการลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้แข่งขันได้ในระยะยาว