ดาวโจนส์ร่วง 201 จุด กังวลเฟดตรึงดอกเบี้ยสูงนาน

ดาวโจนส์ร่วง 201 จุด กังวลเฟดตรึงดอกเบี้ยสูงนาน

ดัชนีดาวโจนส์ปิดวันพุธ(22 พ.ค.)ปรับตัวลง 201 จุด ขณะที่นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดไว้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลง 201.95 จุด หรือ 0.51%  ปิดที่ 39,671.04 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 14.40 จุด หรือ 0.27% ปิดที่ 5,307.01 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 31.09 จุด หรือ 0.18%  ปิดที่ 16,801.54 จุด

ราคาหุ้นของทาร์เก็ต คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐ ร่วงลงกว่า 8% หลังบริษัทเปิดเผยกำไรต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

นักลงทุนเกาะติดการเปิดเผยผลประกอบการประจำไตรมาส 1/2567 ของบริษัท Nvidia หลังปิดตลาดวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าบริษัทมีกำไรและรายได้พุ่งขึ้น 400% และ 240% ตามลำดับ เมื่อเทียบรายปี

นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในสมาชิกบอร์ดผู้ว่าการเฟด และเป็นสมาชิกถาวรของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) กล่าวว่า เขาไม่คิดว่าเฟดมีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกต่อไป เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจหลายตัวในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลง

อย่างไรก็ดี นายวอลเลอร์กล่าวว่า เขายังไม่พร้อมที่จะสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยเขาต้องการเห็นหลักฐานที่จะสร้างความมั่นใจมากขึ้น ก่อนที่จะดำเนินการดังกล่าว

"เศรษฐกิจดูเหมือนกำลังปรับตัวเข้าใกล้กับที่เฟดคาดการณ์ไว้ แต่เนื่องจากตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง ผมจึงจำเป็นต้องเห็นตัวเลขเงินเฟ้อที่ดีเป็นเวลาหลายเดือน ก่อนที่จะสนับสนุนการผ่อนคลายนโยบายการเงิน" นายวอลเลอร์กล่าว

นายวอลเลอร์ปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ของเขาเกี่ยวกับกำหนดเวลาและขนาดของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด แต่ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 70% ต่อการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้อย่างน้อย 0.25% ในเดือนก.ย.

ตลาดจับตารายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดประจำวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันนี้ รวมทั้งดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันที่ 31 พ.ค. เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้กำหนดเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)