ฤา Getting Things Done คือคำตอบประเทศไทย | บัณฑิต นิจถาวร

ฤา Getting Things Done คือคำตอบประเทศไทย | บัณฑิต นิจถาวร

ที่อินเดีย สิบกว่าปีก่อน มีการถกเถียงทางวิชาการว่าด้วยแนวทางการพัฒนาประเทศจากที่เศรษฐกิจอินเดียขณะนั้นมีปัญหาจากอัตราการขยายตัวที่ต่ำและความเหลื่อมล้ำมีมาก เป็นการถกเถียงระหว่างนักเศรษฐศาสตร์อินเดียสองกลุ่มที่เป็นปรมาจารย์ระดับโลก

*ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล 
[email protected]

กลุ่มแรกนำโดย จากดิช บักวาติ (Jadish Bhagwati) ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่เขียนหนังสือ “ทำไมการเติบโตจึงสำคัญ” ( Why Growth Matters) ในปี 2013 ชี้ว่า ระบบตลาดและการเปิดเสรีจะทำให้เศรษฐกิจอินเดียเติบโตและลดความยากจน  ถ้าไม่มีการเติบโต เศรษฐกิจหรือก้อนเค้กก็จะไม่โตและจะไม่มีอะไรแบ่งให้คนจนให้มีมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำก็จะแก้ไม่ได้ เสนอให้รัฐบาลเปิดเสรีและใช้กลไกตลาดมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงลดขนาดและบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ 

อีกกลุ่มนำโดย อมรรตยะ เสน (Amartya Sen) ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่เขียนหนังสือ “ความรุ่งโรจน์ที่ไม่แน่นอน” (An Uncertain Glory: India and its Contradictions) ตีพิมพ์ปี 2013 เช่นกัน ชี้ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียทำให้ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น เพราะประโยชน์จากการเติบโตตกสู่คนรวยมากกว่าคนจน ทางแก้คือทำให้คนจนในอินเดียมีโอกาสทางเศรษฐกิจและมีพลังมากขึ้น เพื่อให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย มองว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นผลิตผลของความเหลื่อมล้ำในอำนาจ 

ทั้งสองแนวคิดนี้ทรงพลังและมีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของนักการเมืองอินเดียในการวางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ และแม้ความคิดจะแตกต่าง ก็มีหลายประเด็นที่ทั้งสองกลุ่มเห็นเหมือนกัน คือ เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ ความเหลื่อมล้ำมีมาก และระบบราชการเป็นปัญหาสำคัญของอินเดีย แต่แม้นักการเมืองอินเดียจะพยายามใช้แนวคิดทั้งสองนี้แก้ปัญหา ออกนโยบายตามความเชื่อของตน ปัญหาของอินเดียก็ดูเหมือนจะแก้ไม่ได้ การแก้ปัญหาไม่คืบหน้า 

 

จนมีคนตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่แนวคิดว่าอันไหนถูกอันไหนผิด แต่อยู่ที่สิ่งที่ทุกคนมองข้าม คือ ระบบราชการหรือภาครัฐที่ไม่สามารถ get things done คือทำนโยบายให้เป็นผลสำเร็จ ปัญหาจึงไม่มีการแก้ไข 

ตัวอย่างข้างต้นให้ข้อคิดสำคัญว่า แม้ประเทศจะมีนโยบายดีแค่ไหน ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ ถ้าระบบราชการซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่เต็มใจที่จะ get things done ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นผู้เสียประโยชน์คือ นักการเมืองและประชาชน

นักการเมืองสูญเสียเพราะไม่สามารถทำในสิ่งที่ประกาศหรือสัญญาไว้กับประชาชนได้ กลายเป็นรัฐบาลที่ไม่มีผลงาน ประชาชนผิดหวัง และถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับหลายรัฐบาลต่อเนื่อง ประชาชนก็จะหมดหวังกับนักการเมือง มองว่านักการเมืองเก่งแต่ชนะเลือกตั้ง แต่บริหารประเทศไม่เป็น ไม่มีผลงาน นานเข้าประชาชนก็เบื่อหน่ายระบบประชาธิปไตย เปิดช่องให้มีการทำรัฐประหารเหมือนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่ผู้ที่เข้ามาใหม่ก็เจอปัญหาเดียวกัน และในที่สุดก็ไม่มีผลงาน ไม่มีความชอบธรรมที่จะอยู่ในอำนาจ ต้องลาออกหรือยุบสภา เปิดทางให้นักการเมืองเข้ามาบริหารอีก ซึ่งก็จะเจอกับปัญหาเดิมอีก วนเวียนเป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้ เหตุเพราะระบบราชการไม่สามารถ  get things done ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง 

ในทางรัฐศาสตร์เป็นที่ยอมรับว่า การขาดประสิทธิภาพและการไม่สามารถทำหน้าที่ให้สำเร็จหรือ getting things done ของภาครัฐหรือระบบราชการเป็นต้นทุนที่สูงมากต่อการพัฒนาประเทศ เพราะระบบราชการคือตัวกลางระหว่างนักการเมืองกับประชาชน ถ้าระบบราชการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถ get things done การเมืองก็จะประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่และประชาชนได้ประโยชน์ 

ในหนังสือ “ทำไมประเทศล่ม” (Why Nations Fail) เขียนโดย Daron Acemoglu และ James Robinson สรุปว่า ปัจจัยตัดสินสำคัญว่า ทำไมบางประเทศทำได้และบางประเทศล่ม ก็คือประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลในภาครัฐที่สร้างความแตกต่างระหว่างประเทศที่เติบโตและกระจายประโยชน์ต่อประชาชนได้อย่างทั่วถึง กับประเทศที่ล่มเพราะภาครัฐหรือระบบราชการมุ่งให้ประโยชน์แก่กลุ่มคนที่มีอำนาจและตนเอง 

ฤา Getting Things Done คือคำตอบประเทศไทย | บัณฑิต นิจถาวร

ประเทศไทยขณะนี้ก็มีปัญหาเหมือนอินเดียเมื่อสิบปีก่อน คือ อัตราการขยายตัวต่ำ ความเหลื่อมล้ำมีสูงและระบบราชการต้องปรับปรุงเพราะไม่สามารถ get things done จนประเทศมีปัญหามาก ทำให้ประชาชนผิดหวังกับนักการเมืองและมองว่านักการเมืองไม่มีผลงาน ดังนั้น การปฏิรูปและแก้ไขระบบราชการเพื่อให้สมรรถภาพและประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถ get things done จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของประเทศ 

ที่ต้องตระหนักคือ มีหลายส่วนในระบบราชการไทยขณะนี้ที่เข้มแข็ง เป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศ เพราะมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในสายตานักการทูตและนักลงทุนต่างประเทศ เช่น เรื่องต่างประเทศ เศรษฐกิจ และสาธารณสุข ที่ล่าสุดได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 13 ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน แต่ระบบราชการก็ต้องปฏิรูปปรับปรุงโดยเน้นทำในสามเรื่อง 

    1.ลดจำนวนคนในระบบราชการลง เพราะที่ผ่านมาระบบราชการเติบโตมาก ข้าราชการมีจำนวนมากกว่า 2.3 ล้านคนในปี 2563 การลดจำนวนลงจะช่วยในเรื่องประสิทธิภาพและความสามารถในการ get things done เพราะมีการศึกษาในต่างประเทศสรุปว่า ขนาดของระบบราชการที่ใหญ่เป็นปัจจัยลบต่อการพัฒนาประเทศ 

    2.ปรับวิธีคิดและเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เป็นระบบที่เน้นความสำเร็จ (Result-Oriented) แบบเอกชน มีเป้าหมายและตัวชี้วัดชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนงานให้เกิดความสำเร็จ ด้วยระบบงานที่ทันสมัย ด้วยข้อมูลและการใช้เทคโนโลยี โปร่งใสและตรวจสอบได้ ภายใต้การนำของหัวหน้างานที่เป็นมืออาชีพ แต่งตั้งโดยระบบคุณธรรม (Merit) ไม่มีการแทรกแซงโดยระบบพวกพ้องและการเมือง 

    3.เปลี่ยนวัฒนธรรมข้าราชการจากการใช้อำนาจไปสู่การทำงานด้วยใจและธรรมาภิบาลในฐานะบุคคลสาธารณะ คือมองประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง มีเหตุมีผลในการตัดสินใจ ซื่อตรงในหน้าที่ พร้อมให้ตรวจสอบ มีจริยธรรมและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับทุกภาคส่วน

นี่คือสิ่งที่ทุกคนอยากเห็น แม้ฟังดูแล้วอาจจะยาก แต่ก็ต้องพยายาม เพราะเรามีจุดเข้มแข็งหลายจุดในระบบราชการที่เป็นตัวอย่างอยู่แล้ว ทำจากส่วนน้อยไปสู่ส่วนใหญ่ เพื่อให้ทั้งระบบค่อยๆ ดีขึ้น และถ้าทำได้คือระบบราชการมีประสิทธิภาพ สามารถ get things done ผมมั่นใจว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม.