หอการค้าลุยภารกิจดึง“จีน-อินเดีย”ลงทุนไทย

หอการค้าลุยภารกิจดึง“จีน-อินเดีย”ลงทุนไทย

หอการค้าไทย เล็งดึงนักลงทุน จีน อินเดีย ลงทุนในไทย ชี้เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ตลาดส่งออกกำลังซื้อสูง จี้รัฐเร่งเปิดกรอบเจรจาการค้าเสรี สร้างแรงจูงใจนักลงทุน ชี้ หากช้าเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง

การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงและรัฐบาลเตรียมเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.2564 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักขึ้น ซึ่งมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยดึงชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ในขณะที่ภาคเอกชนมีความเคลื่อนไหวในการดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาไทยเสียโอกาสหลายด้านไปกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และต้องยอมรับว่าหลายประเทศปรับตัวได้รวดเร็ว โดยเฉพาะในอาเซียนไม่ว่าจะเป็น “สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม” ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น และทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามน่าจับตามองในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ หากพิจารณาขีดความสามารถของประเทศไทยไม่ได้ด้อยกว่าประเทศอื่น แต่ประเทศดังกล่าวเร่งพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น ส่วนประเทศไทยไทยยังคงช้าอยู่ โดยวิธีการและรูปแบบการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติยังเป็นแบบเดิม ซึ่งอาจยังไม่มากพอที่จะสร้างความน่าสนใจได้ 

นอกจากนี้ หากประเทศไทยสามารถรูปแบบการลงทุนใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ และเร่งดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่จะอำนวยความสะดวกในการลงทุนให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว เชื่อว่าจะช่วยสร้างความมั่นใจและดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ได้มากตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้

อ่านข่าว : หอการค้าไทย เสนอ 4 แนวทางเปิดเมืองปลอดภัย

หอการค้าลุยภารกิจดึง“จีน-อินเดีย”ลงทุนไทย

สำหรับประเทศไทยไทยควรมองหากลุ่มนักลงทุนจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่โดยเฉพาะ “จีน” และ “อินเดีย” ซึ่งในประเทศเหล่านี้นอกจากนักลงทุนจะมีศักยภาพสูงแล้วยังเป็นตลาดการส่งออกที่มีกำลังซื้อมหาศาลอีกด้วย

ทั้งนี้ หอการค้าไทยได้มีการหารือกับ “หวัง ลี่ผิง” อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ถึงความสัมพันธ์ของไทยในมิติการค้า การลงทุน โดยฝ่ายจีนให้ความสำคัญกับประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาจีนยังถือว่าลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับที่ 6 ในภูมิภาคอาเซียน 

รวมทั้งมองว่าหลังจากนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่จีนน่าจะต้องเพิ่มการลงทุนในไทยให้มากขึ้น ผ่านการประสานงานร่วมกับหอการค้าไทยในรูปแบบคณะทำงานร่วมหอการค้าไทยและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย หรือ Team Thailand Plus China ซึ่งจะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนของ 2 ประเทศ ในขนาดเดียวกันก็จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งนักลงทุนจีนและไทยในอนาคต

ส่วนประเทศอินเดีย ที่ตอนนี้เป็นอีกประเทศที่น่าสนใจและหอการค้าไทยได้มีการหารือกับเอกอัคราชทูตประเทศอินเดียประจำประเทศไทย โดยได้มีการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในระดับประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย 

ในขณะที่ตะวันออกกลางเป็นอีกภูมิภาคที่หอการค้าไทยเห็นโอกาส เช่น ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งแม้ว่าจากปัญหาในอดีตจะทำให้ประเทศไทยเข้าไปทำธุรกิจกับประเทศซาอุดิอาระเบียได้ยาก แต่ไม่ควรย่อท้อในการแสวงหาโอกาสด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการผลักดันธุรกิจการท่องเที่ยวกับประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็น Mission Impossible ที่หอการค้าไทยพยายามผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกประเด็นที่จะทำให้ไทยน่าสนใจขึ้น คือ กรอบเจรจาความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติมา โดยประเทศที่มีภาคีการค้ามากจะได้เปรียบประเทศที่มีภาคีน้อย จะเห็นได้ชัดกรณีผลิตสินค้าที่มีส่วนประกอบมากแล้วต้องนำเข้าวัตถุดิบจากหลายประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ได้วัตถุดิบราคาถูกลงจากภาษีนำเข้าจึงมีต้นทุนการผลิตสินค้าถูกลง ทำให้ผู้บริโภคในประเทศได้ประโยชน์ และเมื่อส่งออกจะได้ประโยชน์ด้านภาษีของประเทศปลายทางจากการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ต่างประเทศจะตัดสินใจมาลงทุนในไทยหรือไม่

นอกจากนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้หารือเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2564 ถึงประเด็นการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ข้อตกลงความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ CPTPP โดย กกร.จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าร่วมเจรจา CPTPP

รวมทั้ง กกร.จะนำเสนอผลการศึกษาของภาคเอกชนและเร่งรัดการพิจารณาเนื่องจากปัจจุบันจีน สหราชอาณาจักรและไต้หวัน ได้มีเจตจำนงเข้าร่วมเจรจากับ CPTPP อย่างชัดเจนแล้วและหากไทยยังล่าช้าไปกว่านี้ อาจทำให้ต้องเจรจาตามเงื่อนไขของประเทศทั้ง 3 เพิ่มเติมจากเดิมที่จะต้องเจรจากับ 11 ประเทศ ที่เป็นสมาชิก CPTPP ในปัจจุบัน และทำให้ไทยเสียโอกาสในการแข่งขันทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์

ก่อนหน้านี้ กกร.ได้เคยทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ถึงจุดยืนของภาคเอกชนและผลการศึกษาของภาคเอกชน เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาของภาครัฐไปแล้ว กกร.จะขอให้กระทรวงการต่างประเทศ โดย กนศ.จัดประชุมเสวนา เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมโดยเร็ว รวมถึงนำเสนอผลการศึกษาของภาคเอกชน เพื่อสร้างความเข้าใจในภาพรวมของการเข้าร่วมเจรจา CPTPP ของไทย

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้สรุปภาวะ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย.2564 มีมูลค่ารวม 372,068 ล้านบาท โดยประเทศที่เข้ามาลงทุน 3 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.ญี่ปุ่น 2.สหรัฐ 3.สิงคโปร์ ในขณะที่คำขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีมูลค่ารวม 173,780 ล้านบาท และคำขอรับส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายมูลค่ารวม 269,730 ล้านบาท

ส่วนการลงทุนจากจีนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และพลังงาน โดยมีโครงการขนาดใหญ่มีเงินลงทุนตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เช่น กิจการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะ มูลค่า 7,277 ล้านบาท กิจการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ และวัตถุดิบสำหรับเซลล์แสงอาทิตย์ มูลค่า 3,974 ล้านบาท