แบงก์ยังกระทบจำกัด หั่นดอกเบี้ย 0.25% เฉพาะกลุ่ม

แบงก์ยังกระทบจำกัด หั่นดอกเบี้ย 0.25% เฉพาะกลุ่ม

วัดใจ “นายแบงก์” ว่าได้ สำหรับหัวข้อ “ขอลดดอกเบี้ย” ตามที่ 4 แบงก์ใหญ่ของไทยตบเท้าเข้าหารือกับนายกรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 ท่ามกลางแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ฟื้นตัวช้า การใช้จ่ายของภาครัฐชะลอ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการคลังยังไม่ชัดเจน

  โดยเฉพาะ โครงการ ดิจิทัล วอลเล็ต ส่งผลทำให้มีการพุ่งเป้าไปที่นโยบายทางการเงิน ซึ่งหนีไม่พ้นภายใต้ภารกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ผู้ว่าฯ ธปท. ที่ยืนยันไม่อ่อนให้ภาคการเมืองด้วยการยอมลดอัตราดอกเบี้ยจากการประชุมครั้งล่าสุดที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.50% ด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 2 เพราะมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ 

  ดังนั้นจึงกลายเป็นภาพที่ ฝ่ายบริหาร ใช้การ “ขอแกมสั่ง” แบงก์ไทยพิจารณาลดดอกเบี้ยเองโดยตรง ไม่ผ่านหน่วยงานที่กำหนดทิศทางนโยบายดอกเบี้ยอย่าง กนง. ที่สั่งการ และบีบบังคับได้ยากเช่นกัน 

   สถานการณ์แบงก์ใหญ่ของไทยย่อมกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเมื่อเจอภาวะบีบบังคับจากทุกด้าน ยิ่งมีฐานะการเงิน และการประกาศจ่ายเงินปันผลรอบปี 2566 การันตีจากความอู้ฟู้ของกำไรแบงก์ทำให้เกิดข้อครหาว่าทำกำไรโดยไม่สนใจประชาชนที่เผชิญส่วนต่างอัตราดอกเบี้นเงินฝาก 2.50% เทียบกับเงินกู้ที่สูงระดับ 6-7% ตามภาวะตลาดการเงินที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องปี 2566 “ ภารกิจหั่นกำไรเพื่อชาติจึงถูกทวงถามไปถึงนายแบงก์” อย่างต่อเนื่อง 

   ช่วง งบการเงินไตรมาส 1 ปี 2567  ทั้ง 7 แบงก์ไทยประกาศกำไรรวม  62,484 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 6.3% แต่เพิ่มขึ้นถึง 24% จากไตรมาสก่อน  ซึ่งแบงก์ที่มีกำไรเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนมากที่สุดคือ  ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กำไรที่13,486 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.6% 

    และ ธนาคารทหารไทยธนชาต  (TTB)กำไร  5,334 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น  24.2% โดยมี ธนาคารกรุงศรี อยุธยา  (BAY)กำไร 7,543 ล้านบาท ลดลง  13.1% ธนาคารเกียรตินาคิน ภัทร (KKP) มีกำไร  1,506 ล้านบาท  ลดลง 27.8%  และธนาคารทิสโก้ (TISCO) กำไร 1,733 ล้านบาท  ลดลง 3.3% 

ส่วนแบงก์ที่กำไรเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนมากที่สุดคือ KKP เพิ่มขึ้น 129.7% ธนาคารกรุงไทย (KTB) มีกำไร  11,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.3%  และ KBANK เพิ่มขึ้น   43.7%  (ตาราง) 

     แบงก์ยังกระทบจำกัด หั่นดอกเบี้ย 0.25% เฉพาะกลุ่ม

    ล่าสุดทาง สมาคมธนาคารไทย ได้ประกาศช่วยเหลือลูกค้าหลังประชุมร่วมกันด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และSME  เป็นเวลา 6 เดือน  รวมทั้งยังมีทั้งมาตรการระยะสั้นรองรับการเปลี่ยนผ่าน และมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะกลาง และระยะยาว สอดคล้องกับมาตรการ การแก้หนี้อย่างยั่งยืน และการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และเป็นธรรม (Responsible Lending)  ของ ธปท. 

   " การยอมหั่นดอกเบี้ย " และ "เฉือนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ NIM"  ในครั้งนี้ เป็นการตอบรับคำร้องขอของภาครัฐ และไม่ได้กระทบฐานะการเงินของแบงก์อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นการโฟกัสกลุ่มเฉพาะ และกินระยะเวลาแค่ 6 เดือน ซึ่งเป็นข่าวบวกสำหรับผู้ถือหุ้น และหุ้นในตลาดหุ้นซะด้วยซ้ำ 

   ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย)   ประเมินหาก แบงก์มีการปรับลดดอกเบี้ยจะส่งผลให้ผลตอบแทนสินเชื่อลดลง และทำให้ NIM  ของกลุ่มธนาคารลดลงไปอีก อย่างไรก็ตามมองว่าผลกระทบอาจจะจำกัด เนื่องจากสินเชื่อบ้านไม่ใช่สินเชื่อที่มีสัดส่วนสูงในพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร ส่วนสินเชื่อ SME ที่บางธนาคารอาจจะมีสัดส่วนสูง แต่มองว่าถ้ามีการปรับลดจริงไม่น่าจะเป็นการปรับลดเป็นการทั่วไปจะเป็นเฉพาะรายเท่านั้น เนื่องจากสินเชื่อ SME เป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง

    กลุ่มธนาคารมีกำไรไตรมาส ปี 2567 เพิ่มขึ้น 6.3%  (y-y )และ 24% ( q-q) รายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลมาจาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และกำไรเพิ่มขึ้นด้วย24%  (q-q) จากการตั้งสำรอง และค่าใช้จ่ายที่ลดลง

      โดย KBANK กำไรเด่นสุด (y-y) เป็นธนาคารที่มีกำไรสูงที่สุดในกลุ่มในไตรมาสนี้ และเพิ่มขึ้นมากที่สุดในกลุ่ม จากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และการตั้งสำรองลดลง ส่วน KKP  เด่นสุด (q-q) จากผลขาดทุนรถยึด และการตั้งสำรองที่ลดลง

    อย่างไรก็ตามสินเชื่อเติบโตชะลอ เพิ่มขึ้นเพียง  0.5% (q-q)  ถึงแม้จะเป็นการเติบโตที่ไม่สูง แต่ก็ยังสูงกว่าไตรมาส 4 ปี 2566  ที่สินเชื่อหดตัว 0.9%  (q-q)  และเป็นปกติที่ไตรมาส 1 สินเชื่อจะเติบโตไม่มาก โดยหากย้อนหลังไป 10 ปี มีถึง 6 ปีที่สินเชื่อในไตรมาส 1 จะเติบโตน้อยที่สุดในปี หรือติดลบ

    ด้านหนี้เสียหรือ NPL กลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 3.02% จากไตรมาสก่อนที่ NPL ลดลงเหลือ 2.87% อย่างไรก็ตามมีหลายธนาคารที่สามารถลดปริมาณ NPL ลงได้   แต่การที่สินเชื่อหดตัวทำให้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มมากขึ้นแต่ธนาคารส่วนใหญ่มีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นซึ่งสะท้อนมาในการตั้งสำรอง ลดลงเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 4 ปี 2566 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์