วิกฤตพลังงานจีนหนุนหุ้นเหมืองอินโดฯ-อินเดีย

วิกฤตพลังงานจีนหนุนหุ้นเหมืองอินโดฯ-อินเดีย

การที่จีนเผชิญวิกฤตพลังงานครั้งเลวร้ายที่สุด และประสบปัญหาขาดแคลนถ่านหินในรอบหลายปี ล่าสุด ทางการจีนต้องสั่งให้เหมืองมากกว่า 70 แห่งในมองโกเลียใน เพิ่มกำลังการผลิตถ่านหินเกือบ 100 ล้านตันเพื่อแก้ปัญหานี้

บรรดาเหมืองถ่านหินทั้งในอินโดนีเซีย และในอินเดียต่างได้อานิสงส์ บรรดานักลงทุนเข้ามาลงทุนในหุ้นกลุ่มถ่านหินกันอย่างคึกคัก ท่ามกลางการรณรงค์ทั่วโลกให้ลดการใช้พลังงานจากถ่านหินเพื่อบรรเทาปัญหาโลกร้อน

ราคาหุ้นของ “ภูมิ รีซอร์สเซส”  บริษัทเหมืองถ่านหินรายใหญ่สุดของอินโดนีเซียทะยานมากกว่า 70% นับตั้งแต่ปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ส่วนราคาหุ้นของบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันอย่างอะดาโร อีเนอร์ยี และอินดิกา อีเนอร์ยี ต่างทะยานขึ้น 50% และ74% ตามลำดับ         

อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกถ่านหินที่นำไปผลิตกระแสไฟฟ้ารายใหญ่สุดของโลก ในปี 2563 อินโดนีเซียส่งออกถ่านหินคิดเป็นปริมาณเกือบ 400 ล้านตัน หรือ 40% ของปริมาณถ่านหินทั่วโลก 

กรณีของบริษัทเหมืองในอินโดนีเซีย คล้ายกับบริษัทเหมืองในออสเตรเลียและอินเดีย  ที่ราคาหุ้นของ“หยานโคล ออสเตรเลีย” บริษัทในเครือ“หยานโจว โคล ไมนิง”ของจีนที่ทะยานขึ้นกว่า 80% ในช่วงปลายเดือนส.ค.ส่วนราคาหุ้นของ“โคล อินเดีย” ผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่สุดของโลก เพิ่มขึ้นกว่า 30% 

การปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นบริษัทเหมืองถ่านหินสวนทางอย่างมากกับดัชนีหุ้นโลก โดยดัชนี The MSCI World and MSCI All Country Asia Pacific indexes ต่างอยู่ในช่วงขาลงเมื่อเทียบกับช่วงปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ส่วนดัชนีหุ้นหลักในประเทศอื่นๆ รวมทั้งในจีนและญี่ปุ่นก็ปิดตลาดแดนลบเป็นส่วนใหญ่ 

บรรดานักลงทุนแห่เข้าลงทุนในกลุ่มบริษัทเหมืองถ่านหินกันอย่างคึกคักเพราะใกล้เข้าสู่ฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงที่การผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น โดยราคาถ่านหินปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่านับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยราคาถ่านหินที่ให้ความร้อนในเอเชียทะยานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนนี้ ราคาอยู่ที่ตันละ 269 ดอลลาร์
 

 การทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาถ่านหินส่วนใหญ่มีปัจจัยหนุนมาจากจีนและอินเดีย ที่ต่างก็เป็นผู้บริโภคถ่านหินให้ความร้อนรายใหญ่สุดของโลก และทั้ง2ประเทศก็พยายามนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาปริมาณถ่านหินในประเทศมีอย่างจำกัด 

ในประกาศฉบับเร่งด่วนลงวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานประจำภูมิภาคมองโกเลียในได้ขอให้เมืองหวูไห่, ออร์ดอส และฮูหลุนเป้ยเอ่อ รวมถึงซีหลินกัวเล่อ แจ้งเหมือง 72 แห่งว่า ให้เพิ่มกำลังการผลิตตามที่กำหนดโดยทันที หากรับรองได้ว่ามีการผลิตที่ปลอดภัย

เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพลังงานประจำภูมิภาคมองโกเลียใน ยืนยันตามประกาศดังกล่าว แต่ไม่เปิดเผยว่าจะอนุญาตให้เพิ่มการผลิตได้นานเพียงใด

ทั้งนี้ ราคาถ่านหินประเภทให้ความร้อนของจีนพุ่งขึ้นจากอุปสงค์พลังงานที่รุนแรง และอุปทานเหมืองที่ตึงตัว

หนังสือพิมพ์อินเนอร์ มองโกเลีย เดลี ของรัฐบาลรายงานว่า ประกาศของทางการจีนมีขึ้น หลังจากการประชุมในวันเดียวกันที่หน่วยงานระดับภูมิภาคได้กำหนดมาตรการสำหรับการจัดหาพลังงานในฤดูหนาวเพื่อตอบสนองคำสั่งของสภาแห่งรัฐ หรือคณะรัฐมนตรีของจีน

สื่อมองโกเลียระบุว่า หน่วยงานด้านถ่านหินของรัฐบาลจะผลักดันให้คนงานเหมืองเพิ่มการผลิตอย่างเร่งด่วน ในขณะที่ทีมงานด้านพลังงานจะเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตพลังงานรับประกันว่า จะสามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าและความร้อนในช่วงฤดูหนาวได้

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนออกมาตรการควบคุมการทำเหมืองหลังจากเกิดอุบัติเหตุรุนแรงตามเหมืองต่างๆถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตบ่อยครั้งในปีนี้ ต่อมาทางการจีนได้ดำเนินการปฏิรูปอุตสาหกรรมนี้โดยตั้งเป้ากำจัดเหมืองขนาดเล็ก เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างมาตรการที่ปลอดภัยขึ่้นสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองในประเทศ

ขณะที่ในอินเดีย การที่ฝนตกหนักช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ย.ซึ่งเป็นช่วงฤดูมรสุมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตถ่านหินและการขนส่งถ่านหินทางระบบราง ทำให้ปริมาณถ่านหินในตลาดโลกลดลงอย่างมาก

นอกจากนี้ ความต้องการถ่านหินจากประเทศในยุโรปก็เพิ่มขึ้นเนื่องจากขณะนี้ยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับราคาแก๊ซที่ทะยานขึ้นอย่างมากแต่นักวิเคราะห์อย่างฮิโรชิ ฮาชิโมโตะ จาก Institute of Energy Economics ญี่ปุ่นมีความเห็นว่าราคาถ่านหินมีแนวโน้มถูกลงและขณะนี้ถ่านหินมีราคาแค่หนึ่งในสามของราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี)