ม.หอการค้าไทยชี้ชุมนุม ‘ลากยาว’ ฉุดจีดีพี 1%

สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้น และการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษกิจที่ภาคธุรกิจทุกส่วนมีความกังวล

อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ระบุ สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้น และการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษกิจที่ภาคธุรกิจทุกส่วนมีความกังวล เพราะการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า มีทำให้การจัดทำงบประมาณล่าช้าออกไปด้วย ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อตัดสินใจ หรือวางแผนธุรกิจของนักลงทุน และส่งผลต่อฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า แต่ยังอยู่ในกรอบเดือน สิงหาคม-กันยายน 2566 ทำให้เศรษฐกิจเสียโอกาสไม่รุนแรง เพราะรัฐบาลรักษาการสามารถประคองการจ่ายงบประมาณไปได้ ส่วนการชุมนุมประท้วงทางการเมือง ขณะนี้ประเมินว่าจะไม่ยืดเยื้อจนกระทบการเติบโตของเศษฐกิจไทย และหากสามารถตั้งรัฐบาลได้ภายในเดือน สิงหาคม-กันยายนนี้ คาดว่าว่าจีดีพีปีนี้จะเติบโตได้อยู่ในกรอบ 3.5-4% 

สำหรับภาคการท่องเที่ยว ยังเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งตั้งเป้าว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 30 ล้านคน ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยทุก 10 ล้านคน จะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยครึ่งปีแรกนักท่องเที่ยวเข้าไทยแล้ว 12-13 ล้านคน ครึ่งปีหลังน่าจะเข้ามาอีก 17-18 ล้านคน โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาถึง 7-9 ล้านคน

ทั้งนี้ หากมีสถานการณ์การเมืองกระทบการท่องเที่ยว จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพียงเดือนละ 1 ล้านคน จากเดิมเดือนละ 2-3 ล้านคน ซึ่งถ้าสถานการณ์ทางการเมืองบานปลาย ต้องลากยาวไปถึง 6 เดือน หรือถ้าการชุมนุมเกิดขึ้นตั้งแต่ ก.ค. หากรุนแรงนักท่องเที่ยวจะหายไปครึ่งหนึ่ง หรือหายไป 10 ล้านคน รายได้หายไป 5 แสนล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยลงดลงประมาณ 1% ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่น และการจ้างงานเริ่มติดขัด การเคลื่อนเศรษฐกิจชะงัก แต่ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน แต่ยังมองว่าการชุมนุมประท้วงรุนแรงไม่น่าจะเกิดขึ้น จึงยังไม่ประเมินว่าจะเลวร้ายถึงขั้นนั้น

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นสูงสุดรอบ 40 เดือน

สำหรับผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน มิ.ย.2566 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 40 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลงทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งและเสถียรภาพทางการเมืองรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สถาบันการเงินของโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค