ศึกเจ้าสัวค้าปลีกเดือด! ‘เซ็นทรัล VS ซีพี’ ชักธงรบ ท้าชนหมัดต่อหมัด

ศึกเจ้าสัวค้าปลีกเดือด! ‘เซ็นทรัล VS ซีพี’ ชักธงรบ ท้าชนหมัดต่อหมัด

สมรภูมิสุดเดือด! หลังยักษ์ตลาด “เซ็นทรัล” เปิดเกมท้าชน ส่ง “Go! Wholesale” บุกค้าส่งลงสนามชิงส่วนแบ่ง ฝั่งค้าปลีกไม่น้อยหน้าเร่งปรับทัพผนึกโมเดล “แม็คโคร-โลตัส มอลล์” คาด หลังจากนี้จะได้เห็น “ยักษ์ใหญ่” หันมาชนกันเองตรงๆ แบบหมัดต่อหมัด!

Key Points:

  • กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ในไทยอย่าง “เซ็นทรัล” และ “ซีพี” เร่งปรับพอร์ตโฟลิโอกันต่อเนื่อง ด้าน “เซ็นทรัล” ลุยตลาดค้าส่ง “Go! Wholesale” เป็นครั้งแรก ส่วน “ซีพี” ผสานจุดแข็งปลีก-ส่ง “แม็คโคร-โลตัส” ดัน “Hybrid Wholesale” โมเดลใหม่แกะกล่องแห่งแรกในไทย
  • นอกจากธุรกิจค้าปลีกแล้ว ทั้งสองเครือยังลุยธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วย  “เซ็นทรัล” เจาะพื้นที่ครบทุกสเกล ลักชัวรี-พรีเมียม-ไลฟ์สไตล์ราคาประหยัด “ซีพีแลนด์” เน้นเมืองรองต่อเนื่อง จาก 13 แห่ง สู่ 31 แห่งภายในปี 2568
  • หลังจากนี้เราคงได้เห็นการประดาบกันของ “เจ้าตลาด” ที่กลับมาใส่เกียร์เดินหน้าเต็มที่หลังการบริโภคภายในประเทศทยอยฟื้นตัว นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาสู่ระดับ 50 เปอร์เซ็นต์ก่อนช่วงโควิด-19


ตลาดค้าปลีกไทยไต่ระดับต่อเนื่องจากที่ปี 2565 มีมูลค่า 2.7 ล้านล้านบาท ปี 2566 การบริโภคภายในประเทศคึกคักดันมูลค่าตลาดขึ้นไปอยู่ที่ 3.7 ล้านล้านบาท โดยมี “เจ้าตลาด” หลักๆ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มซีพี กลุ่มเซ็นทรัล และกลุ่มทีซีซี แต่ละกลุ่มคลุกคลีอยู่ในวงการค้าปลีกมายาวนานหลายทศวรรษ พัฒนาโปรดักต์-แตกไลน์เซกเมนต์ธุรกิจใหม่ๆ สม่ำเสมอ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ “กรุงเทพธุรกิจ” พบว่า กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่สองเจ้าผลัดกันออกมา “แลกหมัด” สร้างความฮือฮาให้กับวงการค้าปลีกไทยอย่างคึกคัก โดยเป็นครั้งแรกที่ “กลุ่มเซ็นทรัล” ลงสนามค้าส่ง หลังจากคร่ำหวอดมาแล้วเกือบทุกภาคส่วนของค้าปลีกตั้งแต่ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ค้าปลีกเฉพาะอย่าง รวมถึงศูนย์การค้า-ห้างสรรพสินค้าที่เป็นธุรกิจเรือธงในเครือ

การตัดสินใจเติมพอร์ตโฟลิโอให้ครบถ้วนสมบูรณ์จากการเหยียบคันเร่งปั้น “โก โฮลเซลล์” (Go! Wholesale) กลายเป็นที่จับตามองทันที เพราะแม้จะประสบความสำเร็จในเกมค้าปลีกแต่สนามค้าส่งถือเป็นเรื่องใหม่ ทั้งยังมีเจ้าตลาดที่ครองพื้นที่มายาวนานจนแบรนด์ติดลมบน-มีฐานลูกค้าเหนียวแน่น แต่หลังจากนั้นไม่นานเราก็เห็นการ “โต้กลับ” ของฝั่ง “กลุ่มซีพี” ด้วยการเดินเกมผสานจุดแข็งค้าปลีก-ค้าส่งในรูปแบบ “Hybrid Wholesale” ผนึก “แม็คโคร-โลตัส มอลล์” ครบจบในที่เดียว

น่าสนใจว่า “เซ็นทรัล” และ “ซีพี” จะมีไพ่ลับเตรียมปล่อยออกมาชิงส่วนแบ่งกันอีกระลอกหรือไม่ และหลังจากนี้เราจะได้เห็นการออกมาชนกันเองตรงๆ ผ่านธุรกิจใดอีกบ้าง

ศึกเจ้าสัวค้าปลีกเดือด! ‘เซ็นทรัล VS ซีพี’ ชักธงรบ ท้าชนหมัดต่อหมัด

  • “ซีพี” ครองเค้กก้อนใหญ่ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต-คอนวีเนียนสโตร์-ค้าส่ง” ภารกิจล้มช้างที่ไม่ง่าย

ที่ผ่านมา “กลุ่มซีพี” สร้างชื่อในฐานะเจ้าตลาด “คอนวีเนียนสโตร์” โดยมีร้านค้า “เซเว่น-อีเลฟเว่น” (7-Eleven) เป็นธุรกิจเรือธง ท่ามกลางการแข่งขันชิงก้อนเค้กร่วมกับคู่แข่งมากมายแต่ก็ยังไม่มีใคร “ล้มช้าง” ตัวนี้ได้สำเร็จ ในช่วงเวลาที่ “ร้านสะดวกซื้อ” ยังไม่เป็นที่นิยมในไทย “ซีพี” เลือกบุกตลาดเป็นรายแรกๆ พร้อมกับปั้นแบรนด์ธุรกิจอาหารและเบเกอรีของตนเอง สร้างเครือข่ายอีโคซิสเทมปักธงสู่ “ร้านอิ่มสะดวก 24 ชั่วโมง” จนถึงปัจจุบันแม้จะมีรายใหญ่-รายเล็กเข้ามาเปิดเกมร้านสะดวกซื้อมากมาย แต่ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ก็ยังคงเป็นแบรนด์ “Top of mind” ที่หลายคนนึกถึงเป็นร้านแรกๆ

นอกจาก “คอนวีเนียนสโตร์” กลุ่มซีพียังปิดดีลสะเทือนวงการเมื่อปี 2563 ด้วยการเข้าซื้อ “โลตัส” กลับมาอยูในอ้อมอกอีกครั้ง หลังจากเป็นผู้ปลุกปั้นในช่วงแรกและตัดสินใจ “ขายทิ้ง” ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 การเติมพอร์ตครั้งนี้ของซีพีจึงทำให้อำนาจต่อรองในตลาดมีมูลค่ามหาศาล เพราะหากเทียบในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตขณะนี้ “โลตัส” มีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 46.79 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วย “บิ๊กซี” ใต้ร่วมเจ้าสัวเจริญอีก 38.56 เปอร์เซ็นต์ และ “ท็อปส์” ในเครือเซ็นทรัล 1.89 เปอร์เซ็นต์

“โลตัส” ในมือตระกูล “เจียรวนนท์” ตั้งแต่ปี 2563-2565 ไม่ได้มีความเคลื่อนไหวมากนัก มีเพียงการปรับเปลี่ยนชื่อจาก “เทสโก้ โลตัส” สู่ “โลตัส โกเฟรช” รวมถึงในส่วนของโมเดลมินิซูเปอร์มาร์เก็ตก็มีการปรับเพิ่ม-ลดสาขาบางส่วนเท่านั้น กระทั่งปี 2566 กลับมีความเปลี่ยนแปลงเขย่าแบรนด์ “โลตัส” อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จากเดิมที่วางจุดยืนในฐานะเจ้าตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต “โลตัส” เริ่มบุกสนามใหม่ๆ เจาะกลุ่มไลฟ์สไตล์ ปรับฟอร์แมตให้มีความยึดโยงกับวิถีชีวิตผู้คนมากขึ้น ทั้งการปั้นแบรนด์ “โลตัส พรีเว่” (Lotus’s Prive’) พรีเมียมไฮเปอร์มาร์เก็ตเน้นนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

ศึกเจ้าสัวค้าปลีกเดือด! ‘เซ็นทรัล VS ซีพี’ ชักธงรบ ท้าชนหมัดต่อหมัด

และล่าสุดกับการปล่อยหมัดเด็ด “Hybrid Wholesale” ใช้จุดแข็งของสองแบรนด์ยักษ์ “แม็คโคร” และ “โลตัส” ผนึกกำลังชูจุดยืนเป็น “One stop service” ให้กับทุกคน ซึ่งเป็น “จังหวะสวน” หลังจากที่กลุ่มเซ็นทรัลเปิดตัวแบรนด์ค้าส่งน้องใหม่ “โก โฮลเซลล์” ตั้งเป้าภายใน 5 ปีมีสัดส่วนผลประกอบการ 25 เปอร์เซ็นต์ของเครือ “เซ็นทรัล รีเทล” และยังบุกตลาดต่อเนื่องด้วยการปักธง “1 เดือน 1 สาขา” หลังจาก “แม็คโคร” ยืนหนึ่งในไทยมาหลายทศวรรษ ตลาดค้าส่งคงจะดุเดือดไม่น้อยเมื่อมีคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อเข้ามาท้าชิงในสมรภูมิเดียวกัน

  • “ซีพีแลนด์” ลุยเมืองรอง “เซ็นทรัล” ครอบคลุมห้าดาวถึงโรงแรมราคาประหยัด

“เครือซีพี” ไม่ได้มีเพียงธุรกิจค้าปลีกเท่านั้น แต่ยังบริหารบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2531 โดยปัจจุบัน “บริษัท ซี. พี. แลนด์ จำกัด (มหาชน)” มีโรงแรมในเครือ 13 แห่ง รวมมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมด 4,150 ล้านบาท ภายในสามปีนี้ตั้งแต่ปี 2566 ถึง 2568 “ซีพีแลนด์” มีแผนขยายการลงทุนอีกไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ตั้งเป้าขยายอาณาจักรเพิ่มอีก 18 แห่ง รวมเป็น 31 แห่ง เน้นการปักธงสาขาตามจังหวัดเมืองรองภายใต้ชื่อ “Forture Hotel”

สำหรับเครือเซ็นทรัลที่ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2526 เป็นที่รู้จักในเซกเมนต์โรงแรมลักชัวรีห้าดาว แต่หลังจากนี้ “บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน)” ขอลุยสเกลธุรกิจให้ครบทุกกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น หลังจากปีที่แล้วเปิดตัวโรงแรมพรีเมียมบัดเจ็ต “โก โฮเทล” (Go! Hotel) ประเดิมสาขาแรกที่ อ.บ่อวิน จ.ชลบุรี โดยมีโมเดลประกบ “โก โฮเทล” คู่กับศูนย์การค้าในเครือทุกแห่งทั้งเซ็นทรัลและโรบินสัน ดันสู่ “มิกซ์ยูส” ให้เป็นมากกว่าอสังหาฯ สำหรับพักอาศัย ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของเครือเซ็นทรัลอยู่แล้วในการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีก-ไลฟ์สไตล์มอลล์

ศึกเจ้าสัวค้าปลีกเดือด! ‘เซ็นทรัล VS ซีพี’ ชักธงรบ ท้าชนหมัดต่อหมัด

  • “อาหาร” ไม่ใช่ธุรกิจหลัก แต่ช่วยเสริมแกร่งเติมเต็มแบรนด์มากขึ้น

ฝั่ง “เซ็นทรัล” มีธุรกิจอาหารในเครือราว 20 แบรนด์ โดยเป็นการบริหารภายใต้ “บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด” หรือ “CRG” มีแบรนด์ในเครือที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยม อาทิ เคเอฟซี, มิสเตอร์ โดนัท, เปปเปอร์ ลันช์, คัตสึยะ, ชาบูตง, โอโตยะ, ชินคันเซน ซูชิ เป็นต้น โดย “CRG” มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา

รายได้ที่ผ่านมาของ “CRG” มีการปรับตัวขึ้นลงเล็กน้อย ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2565 รายได้รวมอยู่ที่ 8,000 ถึง 10,000 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิพบว่า ปี 2563 ซึ่งตรงกับช่วงการแพร่ระบาดใหญ่โควิด-19 “CRG” ขาดทุนกว่า 11 ล้านบาท และนับเป็นภาวะขาดทุน “ครั้งแรก” ในรอบ 10 ปีเมื่อเทียบกับตัวเลขย้อนหลัง แต่หลังจากนั้นในปี 2564 ถึง 2565 ก็สามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้สำเร็จ โดยในปีล่าสุด (ปี 2565) ตัวเลขกำไรสุทธิอยู่ที่ 449 ล้านบาท 

ศึกเจ้าสัวค้าปลีกเดือด! ‘เซ็นทรัล VS ซีพี’ ชักธงรบ ท้าชนหมัดต่อหมัด

ด้าน “ซีพีเอฟ” ที่มีพอร์ตธุรกิจอาหาร 13 แบรนด์ อาทิ เชสเตอร์, ไก่ย่างห้าดาว, เป็ดย่างเจ้าสัว, ทัค คาลบี้, ก.ไก่อร่อย เป็นต้น ข้อมูลจากรายงานประจำปี “บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)” พบว่า สัดส่วนรายได้จากธุรกิจร้านอาหารมีเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเค้กก้อนใหญ่ของ “ซีพีเอฟ” คือธุรกิจอาหารสัตว์ แต่ถึงอย่างนั้นธุรกิจร้านอาหารก็ยังมีความจำเป็นในการเสริมพอร์ตเหมือนกับธุรกิจอาหารในร้านสะดวกซื้อที่มีการผลิตภายใต้ชื่อ “ซีพีแรม” หากเทียบเคียงสัดส่วนแล้วก็จะพบว่า “ซีพีแรม” เป็นส่วนน้อยของรายได้ทั้งเครือ “ซีพีออลล์” ด้าน “ซีพีเอฟ” ก็เช่นกัน ฉะนั้น สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่ตัวเลขเพียงอย่างเดียวแต่ยังรวมถึงการวางจุดยืนของแบรนด์ในฐานะผู้ผลิตอาหารครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วย


ค้าปลีก ค้าส่ง ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม อาหาร มากันหมดแล้ว ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจได้เห็นธุรกิจ “ศูนย์การค้า” แห่งใหม่ขึ้นมาเขย่า “ยักษ์เจ้าถิ่น” ก็เป็นได้

 

อ้างอิง: Bangkokbiznews 1Bangkokbiznews 2TopsCP LandCRGCreden DataData WarehouseMarketing Oops!THE STANDARD