เกิดอะไรขึ้นกับ ‘เซ็นทรัล รีเทล’ ปิด ‘Tops Club’ รุกค้าส่ง ท้าชนชิงเค้กก้อนใหญ่?

เกิดอะไรขึ้นกับ ‘เซ็นทรัล รีเทล’ ปิด ‘Tops Club’ รุกค้าส่ง ท้าชนชิงเค้กก้อนใหญ่?

ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง! “เซ็นทรัล รีเทล” ลุยค้าส่งเต็มตัว หลังปูทางแบรนด์ “GO!” บุกเวียดนามก่อนตีตลาดเมืองไทย ล่าสุดปิด “Tops Club” หลังเปิดทำการได้เพียง 1 ปี ตอกย้ำทิศทาง “เซ็นทรัล รีเทล” ที่จากนี้ขอลุยค้าส่งเต็มสูบ!

Key Points:

  • ตั้งแต่ปี 2022 ถึง 2023 “เซ็นทรัล รีเทล” มีการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจหลายครั้ง ตั้งแต่การควบรวม-รีแบรนด์ “ท็อปส์” การถอนทุนจากไทยของ “แฟมิลี่ มาร์ท” รวมทั้งการบุกค้าส่งเต็มตัวในนาม “โก โฮลเซลล์”
  • ล่าสุด “เซ็นทรัล รีเทล” ปรับพอร์ตอีกครั้งด้วยการปิดตัวของ “Tops Club” ค้าปลีกที่ใช้โมเดล “เมมเบอร์ชิปสโตร์” หลังเปิดมาได้เพียง 1 ปีเศษๆ
  • หลังจากนี้ “ยักษ์รีเทล” จะห้ำหั่นดุเดือดมากขึ้น ฝั่ง “กลุ่มซีพี” เตรียมเข็นโมเดล “Hybrid Wholesale” เร็วๆ นี้ ด้าน “เซ็นทรัล รีเทล” ปักธงดัน “โก โฮลเซลล์” 1 เดือน 1 สาขาต่อเนื่อง


หลังจากที่ “เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” (Central Retail Corporation) เปิดตัว “โก โฮลเซลล์” (GO! Wholesale) ธุรกิจค้าส่งน้องใหม่ในไทยเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ล่าสุดก็มีความเคลื่อนไหวการปรับพอร์ตของกลุ่ม “เซ็นทรัล รีเทล” อีกครั้ง โดย “ท็อปส์ คลับ” (Tops Club) ได้มีการส่งข้อความและอีเมลแจ้งแก่สมาชิกพรีเมียมให้ทราบว่า “ท็อปส์ คลับ” จะให้บริการถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2566 และหลังจากนี้จะปรับการให้บริการผ่านระบบออนไลน์แทน เป็นอันปิดฉากค้าปลีก “เมมเบอร์ชิปสโตร์” สาขานำร่องหลังให้บริการมาได้เพียง 1 ปีเศษเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในรอบปีที่ผ่านมา “เซ็นทรัล รีเทล” มีการปรับทัพ-เติมพอร์ตหลายระลอกด้วยกัน ตั้งแต่รีแบรนด์ ลุยธุรกิจน่านน้ำใหม่ ไปจนถึงปรับเปลี่ยนการทำงานระหว่างทาง แม้มูลค่าตลาดอาหารในไทยจะสูงถึง 2.6 ล้านล้านบาท และยังมีโอกาสให้ไปต่ออีกมาก แต่การแข่งขันที่ห้ำหั่นกันอย่างดุเดือดอาจทำให้ “ยักษ์” ในสนามจำต้องเลือกเพื่อ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” ต่อไป

เกิดอะไรขึ้นกับ ‘เซ็นทรัล รีเทล’ ปิด ‘Tops Club’ รุกค้าส่ง ท้าชนชิงเค้กก้อนใหญ่?

  •  “Tops Market-Tops Daily-Tops Online” ควบรวมสู่ “Tops” (ท็อปส์) เพียงหนึ่งเดียว

ปี 2022 “ท็อปส์” (Tops) ถือวาระครบรอบ 26 ปี รีแบรนด์ครั้งใหญ่ ยกเลิกการใช้ “ซับแบรนด์” จากเดิมที่ซูเปอร์มาร์เก็ตตระกูลท็อปส์แตกไลน์ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ท็อปส์ มาร์เก็ต (Tops Market) ท็อปส์ เดลี่ (Tops Daily) และท็อปส์ ออนไลน์ (Tops Online) เพื่อกันความสับสน-เสริมแกร่งให้ง่ายต่อการจดจำของผู้บริโภคจึงมีการจัดกระบวนทัพใหม่สู่ “ท็อปส์” เพียงหนึ่งเดียว

พร้อมกันนี้ยังมีการรีแบรนด์ของเดิมให้พรีเมียมมากขึ้น โดย “เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์” (Central Food Hall) เปลี่ยนเป็น “ท็อปส์ ฟู้ด ฮอลล์” (Tops Food Hall) เพิ่มสินค้าระดับเวิลด์คลาสทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงมีการแตกไลน์พรีเมียมสโตร์แห่งใหม่ “ท็อปส์ ไฟน์ ฟู้ด” (Tops Fine Food) ประเดิมสุขุมวิท 49 เป็นสาขานำร่อง เน้นสินค้านำเข้าระดับเวิลด์คลาส การันตีว่า “ท็อปส์ ไฟน์ ฟู้ด” เป็นผู้นำเข้าเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย

  • ปิดฉาก “แฟมิลี่ มาร์ท” แต่งตัวใหม่เป็น “ท็อปส์ เดลี่”

เดือนสิงหาคม 2566 ข่าวคราวการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจใต้ร่ม “เซ็นทรัล รีเทล” กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง หลังมีการปลดป้ายร้านสะดวกซื้ออิมพอร์ตจากแดนปลาดิบอย่าง “แฟมิลี่ มาร์ท” สู่ “ท็อปส์ เดลี่”

ในอดีต “แฟมิลี่ มาร์ท” ประเดิมสาขาแรกในไทยเมื่อปี 2535 โดยเป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท แฟมิลี่มาร์ท ประเทศญี่ปุ่น ในเครือเซซัน กรุ๊ป, บริษัท อิโตชู บริษัทการค้าระหว่างประเทศรายใหญ่ในญี่ปุ่น และบริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน) กระทั่งปี 2555 “เซ็นทรัล รีเทล” เข้าซื้อหุ้นจาก “สยามแฟมิลี่มาร์ท” จำนวน 49 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นก็มีการเปิดตัวโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อทำการตลาดให้คอนวีเนียนสโตร์ใต้ร่ม “เซ็นทรัล รีเทล” มากขึ้น

ถึงอย่างนั้นก็ยังพบว่า ผลประกอบการย้อนหลังของ “บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด มินิมาร์เก็ต จำกัด” ดูจะไม่สดใสสักเท่าไร ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ผลประกอบการ “แฟมิลี่ มาร์ท” ติดลบต่อเนื่องกันแทบทุกปี โดยปี 2564 “ขาดทุน” หนักสุดกว่า “1 พันล้านบาท” 

  • ปี 2561: รายได้ 17,884 ล้านบาท ขาดทุน 360 ล้านบาท
  • ปี 2562: รายได้ 16,754 ล้านบาท ขาดทุน 182 ล้านบาท
  • ปี 2563: รายได้ 11,877 ล้านบาท ขาดทุน 281 ล้านบาท
  • ปี 2564: รายได้ 7,481 ล้านบาท ขาดทุน 1,049 ล้านบาท
  • ปี 2565: รายได้ 7,849 ล้านบาท กำไร 29 ล้านบาท

เกิดอะไรขึ้นกับ ‘เซ็นทรัล รีเทล’ ปิด ‘Tops Club’ รุกค้าส่ง ท้าชนชิงเค้กก้อนใหญ่?

ต้นปี 2566 มีความเคลื่อนไหวจาก “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่า ปัจจุบันเทรนด์ร้านสะดวกซื้อกำลังเปลี่ยนไป ร้านไซซ์เล็กไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่แล้ว แม้กระทั่งคอนวีเนียนสโตร์เบอร์ 1 ก็ยังปรับขนาดร้านให้รองรับความต้องการได้มากขึ้น ร้านค้าพื้นที่ 1-2 คูหากำลังจะหายไป ทำให้ภายในสิ้นปีนี้ (ปี 2566) ร้านแฟมิลี่ มาร์ท จะเปลี่ยนเป็น “ท็อปส์ เดลี่” ทั้งหมด ปิดฉากร้านค้าสัญชาติญี่ปุ่นที่ตัดสินใจถอนทุนจากประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย

  • ยักษ์ค้าปลีกขอลงสนามค้าส่ง ดัน “GO! Wholesale” สยายปีก 1 เดือน 1 สาขา

หลังผงาดเป็น “เบอร์ 1” ในกลุ่มค้าปลีกมาร่วม 76 ปี ถึงคราวที่ “เซ็นทรัล รีเทล” ขอออกจาก “เซฟโซน” ท้าชนสมรภูมิค้าส่ง เปิดตัว “โก โฮลเซลล์” เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ปักหมุดสาขาแรก “ศรีนครินทร์” โดยจะเปิดให้บริการในวันที่ 27 ตุลาคม พร้อมดับเครื่องชนลุย 1 เดือน 1 สาขา ด้าน “สุชาดา อิทธิจารุกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ ให้ข้อมูลว่า เดือนพฤศจิกายนจะข้ามห้วยเปิดสาขาสองที่ “จ.เชียงใหม่” และในเดือนธันวาคมจะเปิดพร้อมกันถึง 2 สาขา ได้แก่ สาขาพัทยา และสาขาอมตะนคร

“โก โฮลเซลล์” มีกลุ่มเป้าหมายหลักทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ กลุ่มฟู้ดรีเทล กลุ่มฟู้ดเซอร์วิส กลุ่มฟู้ดเลิฟเวอร์ และกลุ่มโฮเรก้า (ธุรกิจโรงแรมและจัดเลี้ยง) ก่อนหน้านี้ “เซ็นทรัล รีเทล” เคยบุกเวียดนามในนามแบรนด์ “โก” มาก่อนแล้วเมื่อปี 2018 เป็นแบรนด์ค้าปลีกในรูปแบบศูนย์การค้าสองชั้น รวมถึงเชนโรงแรม “โก” ในไทยที่มี “กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา” นั่งหัวเรือใหญ่ และในปีนี้ “เซ็นทรัล รีเทล” ขอปักหมุดห้างค้าส่งแห่งแรก การันตีด้วยความสำเร็จจากการบริหารงานกลุ่มค้าปลีกมาหลายทศวรรษ เป็นการสร้างการรับรู้ให้แบรนด์ “โก” เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

เกิดอะไรขึ้นกับ ‘เซ็นทรัล รีเทล’ ปิด ‘Tops Club’ รุกค้าส่ง ท้าชนชิงเค้กก้อนใหญ่?

การกระโดดลงสนามค้าส่งของ “เซ็นทรัล รีเทล” นับเป็นความท้าทายครั้งใหม่ทั้งในแง่เม็ดเงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท รวมทั้งยังเป็นการท้าชิงตำแหน่ง “ยักษ์ค้าส่ง” ครั้งแรกหลัง “แม็คโคร” ครองเบอร์ 1 มานาน นับจากนี้การแข่งขันของ “สองยักษ์” จะเข้มข้นมากยิ่งขึ้นไปอีก ฝั่ง “กลุ่มซีพี” เตรียมเข็นโมเดล “Hybrid Wholesale” ผนึกจุดแข็งแม็คโคร-บิ๊กซีสู้ศึก อีกทั้งฝั่ง “บิ๊กซี” เอง ก็เริ่มลุยธุรกิจ “ฟู้ดเซอร์วิส” ในนาม “บิ๊กซี ฟู้ดเซอร์วิส” (Big C Food Service) แล้วด้วย 

  • ปรับพอร์ตครั้งใหม่ ปิด “Tops Club” ดันขึ้นตลาดออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์

วันที่ 26 กันยายน 2566 สมาชิกพรีเมียม “ท็อปส์ คลับ” ได้รับข้อความและอีเมลแจ้งปรับระบบการให้บริการ โดยมีข้อความระบุว่า “ท็อปส์ คลับ” จะเปิดให้บริการที่สาขาพระราม 2 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2566 หลังจากนี้จะปรับระบบสมาชิกสู่ “ท็อปส์ ออนไลน์” แทน เป็นอันปิดฉากโมเดล “ท็อปส์ คลับ” หลังให้บริการมาได้เพียงปีเศษเท่านั้น

สำหรับ “ท็อปส์ คลับ” นับเป็นค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่คนไทยอาจยังไม่คุ้นชินนัก ขับเคลื่อนโดยระบบ “เมมเบอร์ชิปสโตร์” มีทั้งแบบสมาชิกทั่วไป (ฟรี) และสมาชิกแบบพรีเมียม (คิดค่าบริการ) “เซ็นทรัล รีเทล” ใช้เวลาในการศึกษาและพัฒนาโมเดลดังกล่าวมาร่วม 2 ปี โดยก่อนหน้านี้ได้ทดลองใช้ระบบ “เมมเบอร์ชิปสโตร์” มาแล้ว 4 สาขา ได้แก่ สาขาเซ็นทรัล พระราม 2, สาขาเซ็นทรัล เอ็มบาสซี, สาขาเมกา บางนา และสาขาเซ็นทรัล เวิลด์ จากนั้นจึงประเดิมสาขาแรกอย่างเป็นทางการ คือสาขาพระราม 2 เพราะต้องการที่ตั้งขนาดใหญ่รวมทั้งมองว่า ทำเลดังกล่าวมีศักยภาพในการเติบโตมาก เนื่องจากผู้บริโภคในเขตพระราม 2 มีกำลังซื้อสูง มีการขยายตัวของเมืองค่อนข้างหนาแน่น 

เกิดอะไรขึ้นกับ ‘เซ็นทรัล รีเทล’ ปิด ‘Tops Club’ รุกค้าส่ง ท้าชนชิงเค้กก้อนใหญ่?

น่าจับตามองต่อไปว่า “เซ็นทรัล รีเทล” จะมีการขยับปรับตัวกับสถานการณ์การแข่งขันที่ดุเดือดเช่นนี้ต่อไปอย่างไรบ้าง และ “โก โฮลเซลล์” จะผงาดสู่ “พระเอกขี่ม้าขาว” ของ “เซ็นทรัล รีเทล” ได้หรือไม่

 

อ้างอิง: Asia NikkeiCentral RetailData WarehouseMGR 1MGR 2Positioning MagazinePrachachatThansettakijTHE STANDARDTODAY