'โลคัล อีโคโนมี' หลังอิงเศรษฐกิจไทย

'โลคัล อีโคโนมี' หลังอิงเศรษฐกิจไทย

หากมองโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลังโควิด คงถึงเวลาที่ต้องกลับมามองถึงการพึ่งพาตัวเอง จากทั้งทรัพยากรประจำถิ่น ซึ่งมีหลายเสียงพูดถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน หรือโลคัล อีโคโนมี ดังขึ้นเรื่อยๆ ที่อาจจะกลบโกลบอล อีโคโนมี และทำให้ท้องถิ่นนิยมกำลังจะกลับมา

การระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนค่อนโลกแล้ว ยังส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย ผ่านการระบาดมาราว 3 เดือนนับจากปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ในไทย รัฐบาลตัดสินใจประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) เพื่อสกัดการระบาดของเชื้อโรค ล่าสุดวานนี้ (27 เม.ย.) ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ยังได้พิจารณาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปอีก 1 เดือน หลังจากที่จะครบกำหนดในวันที่ 30 เม.ย.นี้

ขณะที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (28 เม.ย.) จะมีการพิจารณา “ผ่อนคลายกฎเกณฑ์” ในการเปิดดำเนินการของภาคธุรกิจประเภทต่างๆ ตามระดับความเสี่ยง หลังปิดดำเนินการชั่วคราวมานานกว่า 1 เดือน โดยมีมาตรการคุมเข้มด้านสุขอนามัยที่เคร่งครัด หลังพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยมีจำนวนเฉลี่ยลดลงต่อเนื่อง การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ทำให้ผู้คนใจชื้น จากฟันเฟืองธุรกิจเริ่มหมุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปได้อย่างช้าๆ ยังดีกว่าหยุดนิ่ง ปิดประตูตาย (ล็อกดาวน์)

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังเริ่มมีการพูดถึงแผน “ฟื้นฟูประเทศ” หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ที่แน่นอนว่าสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจและเศรษฐกิจย่อมเปลี่ยนไปอย่างมาก การเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน กลายเป็นตัวเร่งให้ภาคธุรกิจต้องติดสปีดสู่การค้าในโลกออนไลน์ ขณะเดียวกันในแง่ของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ถึงเวลาที่จะต้องหันกลับมามองลึกถึงการ “พึ่งพาตัวเอง” จากทั้งทรัพยากรประจำถิ่น สินค้าชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็น “รากเหง้า” ของประเทศ เสียงของการพูดถึงการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจชุมชน” หรือโลคัล อีโคโนมี ดังขึ้นเรื่อยๆ กลบคำว่า “โกลบอล อีโคโนมี” ก็คราวนี้

จะเห็นได้ว่า ช่วงเวลาของผู้คนที่ถูกขอความร่วมมือเก็บตัวอยู่ในบ้าน ไปถึงการถูกบังคับห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว (22.00-04.00 น.) สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือ “การเบ่งบาน” ของสินค้าชุมชนผ่านโลกออนไลน์ในทุกภูมิภาคของประเทศ ที่ดาหน้ามาให้เลือกสรรผ่าน “ชุมชนออนไลน์” จนเกิดปรากฏการณ์ที่น่าทึ่ง ในเชิงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนจากนี้ 

โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงบีบให้คนอยู่บ้าน แต่ทำอย่างไรได้เมื่อพวกเขายังต้องทำมาหากิน ช่องทางออนไลน์คือทางออก เลยทำให้ผู้บริโภคคนเมืองหรือในภูมิภาคอื่นๆ ได้เรียนรู้ว่า สินค้าจากภูมิปัญญา หรือทรัพยากรเฉพาะถิ่นที่หาได้ยาก มันมีคุณค่าเพียงใด ที่สำคัญยังเห็นการค้าขายกันเองผ่านเพจ ผ่านกลุ่มออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องผ่าน “พ่อค้าคนกลาง” อย่างบริษัทค้าออนไลน์ระดับโลกอีกต่อไป เป็นอีกแง่งามที่เกิดขึ้นในวันที่ผู้คนถูกล็อกดาวน์ ที่ทำให้มุมมองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอาจเปลี่ยนไป ต่างจังหวัดไม่ได้เต็มไปด้วยผู้ยากไร้ ทว่ากลับเต็มไปด้วยภูมิปัญญา “ท้องถิ่นนิยม” กำลังจะกลับมา