จากลมหนุนเป็นลมต้าน

จากลมหนุนเป็นลมต้าน

ภาพเศรษฐกิจการลงทุนโลกในช่วงครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลังกำลังเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ในครึ่งปีแรก

เศรษฐกิจและตลาดเงินตลาดทุนโลกได้รับลมหนุนจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ (1) การเปิดเศรษฐกิจ ที่ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการที่ถูกอั้นไว้ (Pent-up Demand) ฟื้นตัวขึ้นชัดเจน (2) แนวนโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุนการฟื้นตัว ทั้งมาตรการการคลังที่อัดฉีดอย่างเต็มที่โดยเฉพาะในสหรัฐและญี่ปุ่น และนโยบายการเงินที่ลดดอกเบี้ยและอัดฉีดสภาพคล่องอย่างเต็มที่ และ (3) การฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายในประเทศเจริญแล้วทำให้การเปิดเศรษฐกิจและการเดินทางทำได้ง่าย 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ภาพเศรษฐกิจโลกเริ่มเปลี่ยนไป เศรษฐกิจประเทศที่ขยายตัวได้ระดับสูง เช่น สหรัฐและจีน ตัวเลขล่าสุดเริ่มต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานและผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในสหรัฐ ยอดค้าปลีกในสหรัฐและจีน รวมถึงภาคการผลิตที่เริ่มชะลอตัวลงจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ 

ปัญหาดังกล่าว รวมถึงค่าแรงที่เริ่มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกินคาด ทั้งจากดัชนีราคาผู้ผลิต ผู้บริโภค ความคาดหวังเงินเฟ้อ โดยล่าสุดเงินเฟ้อผู้บริโภคสหรัฐและผู้ผลิตจีนเดือน พ.ค. ก็ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี และเหนือกว่าความคาดการณ์ของตลาด ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ที่หลายตัวต่างปรับขึ้นและบางตัวพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์  แม้ว่าราคาเริ่มปรับลดลงในระยะหลังแล้วจากการที่รัฐบาลจีนประกาศจะควบคุมราคาและสั่งห้าม (Zero tolerance) ในตลาดโภคภัณฑ์ก็ตาม 

นอกจากนั้น หากพิจารณาพัฒนาการราคาน้ำมัน จะเห็นได้ว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลจากการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันระดับโลก (OPEC+) ในต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ปรับเพิ่มการคาดการณ์ความต้องการน้ำมันโลกเป็น 6 ล้านบาร์เรลต่อวันจนถึงสิ้นปี ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับขึ้นเกินระดับ 70 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี และยังปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

หากเป็นเช่น OPEC+ คาดไว้จริง อาจเป็นไปได้ที่จะเห็นอุปทานส่วนเกิน (Demand surplus) ที่สูงถึง 4 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงปลายปี และอาจทำให้ราคาน้ำมันอาจไป peak ได้ถึง 94 ดอลลาร์ (หรือประมาณ 100 ดอลลาร์หากมีการเก็งกำไร) ในไตรมาสที่สามได้ แม้ว่าเราจะเชื่อว่ามีโอกาสยากที่ราคาน้ำมันจะขึ้นไปแตะระดับที่สูงมากดังกล่าว แต่ความเสี่ยงที่ราคาน้้ำมันจะสูงขึ้นมากและกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนมีมากขึ้น 

เรามองว่า หากราคาน้ำมันยังคงปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเริ่มกระทบต่อความเสี่ยงเงินเฟ้อมากขึ้น ทำให้ Fed อาจต้องส่งสัญญาณแรงขึ้นในการที่จะถอนสภาพคล่องออกจากระบบ สาเหตุที่เรามองเช่นนั้น เป็นเพราะว่าหากพิจารณาในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าความต้องการรวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันทั่วโลกแทบไม่ได้แตกต่างจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เลย (ประมาณ 93-94 ล้านบาร์เรลต่อวัน) แต่ราคาปรับเพิ่มขึ้นถึงกว่า 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเรามองว่าเป็นผลจากการเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์เป็นหลัก ดังนั้น หากราคายังขึ้นต่อเนื่อง Fed อาจต้องส่งสัญญาณรีบลดทอนสภาพคล่องมากขึ้น 

ขณะที่ในระยะต่อไป ความเสี่ยงเริ่มมีมากขึ้น ทั้งจาก (1) นโยบายภาษีที่เป็นขาขึ้น โดยเฉพาะภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ที่ทางรัฐบาลสหรัฐพยายามผลักดันให้ทั่วโลกขึ้นภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15%

(2) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐและจีนที่จะเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดวุฒิสภาสหรัฐอนุมัติแผนงบประมาณในการวิจัยพัฒนาประมาณ 2.5 แสนล้านเพื่อสามารถแข่งขันกับจีนได้ รวมถึงยังจะพิจารณาทบทวน Application ของประเทศคู่แข่งว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ รวมถึงประกาศคว่ำบาตรบริษัทเทคโนโลยีจีนกว่า 59 บริษัท นอกจากนั้น ทางสหรัฐยังสามารถชักจูงให้ประเทศพันธมิตรในกลุ่ม G-7 และกลุ่ม NATO มองจีนอย่างไม่เป็นมิตรและแสดงท่าทีแข็งกร้าวกับจีน ขณะที่จีนก็ออกกฎหมายต่อต้านการคว่ำบาตรของต่างชาติ พัฒนาการเหล่านี้บ่งชี้ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่จะเพิ่มขึ้นในครึ่งหลังของปี และ 

(3) เราเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจต้องส่งสัญญาณลดทอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) เร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้ เนื่องจากกระแสการเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ซึ่งเกิดจากการอัดฉีดสภาพคล่อง มีส่วนทำให้เงินเฟ้อขึ้นเกินคาด และอาจกดดันเศรษฐกิจในอนาคต โดยเราเชื่อว่าเฟดจะเริ่มทำ QE tapering ในเดือนพ.ย. หรือ ธ.ค. ปีนี้ และขึ้นดอกเบี้ยในปี 2023 หรือเร็วกว่านั้น 

นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นจะกดดันบรรยากาศและแนวโน้มการลงทุนในระยะต่อไป ขณะที่ความเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งนโยบายการคลัง และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะทวีความรุนแรงขึ้น  จะกระทบต่อทิศทางการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

 

ด้วยภาพเศรษฐกิจและการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้นในระยะต่อไป เราจึงแนะนำให้เริ่มลดน้ำหนักในสินทรัพย์เสี่ยงลง โดยตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วน่าจะยังมีโอกาสเติบโตมากกว่าตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเสี่ยงจากการระบาด อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่การลงทุนในตลาดกำลังพัฒนาบางตลาดอาจปรับเพิ่มขึ้นจากพัฒนาการการฉีดวัคซีน ทำให้มีความคาดหวังในการเปิดประเทศมากขึ้น ขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้ว เราเห็นว่าตลาดยุโรปและญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มที่จะสามารถเติบโตได้ เมื่อเทียบกับสหรัฐที่ดูจะมีความเสี่ยงเชิงนโยบายมากขึ้น

 

ในฝั่งของไทย เรามองว่า ทิศทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะมีความเสี่ยง แต่สภาพคล่องที่มีอยู่สูง (โดยจากการติดตามปริมาณการออกพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท. เราพบว่า ธปท. ออกพันธบัตรลดลงถึงกว่า 9.2 แสนล้านบาทตั้งแต่เดือน ก.ค. ปีที่แล้วถึงปัจจุบัน บ่งชี้ถึงการผ่อนคลายนโยบายการเงินโดยพฤตินัยท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจและการออกพันธบัตรของภาครัฐเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ) จะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทยได้บ้าง เช่นเดียวกับความหวังในการเปิดประเทศตามที่นายกรัฐมนตรีได้ตั้งเป้าไว้ภายใน 120 วัน

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ความเสี่ยงที่มีมากขึ้น จะเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของหุ้นไทย เราจึงแนะนำให้เลือกลงทุนอย่างระมัดระวังและเลือกในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีในกลุ่ม Defensive รวมถึงหุ้นขนาดเล็กที่ดำเนินธุรกิจในต่างจังหวัดและอาจได้รับประโยชน์จากโครงการภาครัฐ

 

ลมที่เคยหนุนหลังการลงทุนเปลี่ยนเป็นลมปะทะหน้าแล้ว นักลงทุนควรพิจารณาปรับกลยุทธ์อย่างระมัดระวัง