“ป๋า/พล.อ.เปรม” ในบริบทการเมืองไทย 2523 - 2531

“ป๋า/พล.อ.เปรม” ในบริบทการเมืองไทย 2523 - 2531

หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 กองทัพได้แตกออกเป็นหลายฝักฝ่าย ที่เด่นชัดมี 3 กลุ่ม

 1.“กลุ่มยังเติร์ก” 2.กลุ่ม “จปร. ๕” และ 3. กลุ่ม “ทหารประชาธิปไตย” โดยกลุ่ม ยังเติร์ก มีความเชื่อว่า ประเทศไทยต้องการผู้นำที่เข้มแข็งและมีประวัติใสสะอาด ในขณะที่กลุ่ม จปร. 5” ให้ความสำคัญกับการรักษาสถานะของการเป็นชนชั้นปกครองของทหารในสังคมไทย ส่วน กลุ่ม “ทหารประชาธิปไตยสนับสนุน การปฏิวัติที่เป็น “ประชาธิปไตย” ตามแนวทางประชาธิปไตยรวมศูนย์ของเลนินนิสต์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 มีการพยายามช่วงชิงอำนาจรัฐโดยกองทัพที่แตกเป็นหลายฝ่าย และผู้ที่สามารถประสานให้ทุกอย่างไม่ต้องแตกหักรุนแรงคือ พล.ท.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้ที่ฝ่ายยังเติร์กให้ความนับถือ และทหารผู้ใหญ่ให้ความไว้วางใจ 

 ต่อมาเกิดรัฐประหาร 20 ต.ค.2520 ผู้นำกองทัพที่ทำรัฐประหารคือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2521 มีเลือกตั้งในปี 2522 พรรคประชาธิปัตย์ต้องมีหัวหน้าพรรคใหม่ คือคุณถนัด คอมันตร์ เพราะหมดสภาพจากวิกฤตการเมือง 6 ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นในขณะที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แต่ประชาธิปัตย์ก็แพ้กราวรูดในกรุงเทพฯ เหลือแต่คุณถนัดคนเดียวได้เป็น ส.ส. ส่วนพรรคฝ่ายขวาก็อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ไม่ต่างกัน 

 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้เป็นนายกฯอีก จากการลงคะแนนเสียงของรัฐสภา แต่เมื่อถึงปี 2523 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และความขัดแย้งในกองทัพ ส่งผลให้พล.อ.เปรม ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้นได้เป็นนายกฯ เพราะพรรคการเมืองต่างๆ ขาดหัวหน้าพรรคที่มีภาวะผู้นำเพียงพอที่จะเข้ามาแบกรับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีทั้งปัญหาภัยคอมมิวนิสต์จากทั้งภายในและในประเทศเพื่อนบ้านและเป็นที่ยอมรับของฝ่ายทหาร แต่ด้วยบุคลิกภาพและประวัติการทำงานของพล.อ.เปรม ทำให้ฝ่ายกองทัพไว้ใจว่า ท่านจะสามารถรับมือกับนักการเมืองได้ และนักการเมืองก็เชื่อว่า ท่านจะสามารถทำให้กองทัพไม่ทำรัฐประหาร 

ตั้งแต่พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ การเมืองไทยสามารถดำเนินไปอย่างมีเสถียรภาพพอสมควร นั่นคือ ปราศจากการทำรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะมีความพยายามถึง 2 ครั้งในปี 2524และ 2528 โดยทหารกลุ่ม “ยังเติร์ก” และปัจจัยที่ทำให้การเมืองไทยสามารถดำเนินต่อเนื่องภายใต้การการนำของพล.อ.เปรม คือ พล.อ.เปรมได้รับการสนับสนุนจาก 1.พระบรมวงศานุวงศ์ 2.กองทัพโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากลุ่ม จปร. 5” และ กลุ่ม ทหารประชาธิปไตยและ 3.พรรคการเมืองที่ไม่สามารถมีผู้นำที่เข้มแข็งและได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอย่างพล.อ.เปรม และทั้งหมดนี้ดำเนินไปภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ นั่นคือ นายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

นักรัฐศาสตร์อาวุโสท่านหนึ่งได้กล่าวถึงความพยายามในการทำรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งว่า “...กรณี 1 เมษาฯ ฮาวาย และ ยังเติร์ก ปี 2528 เป็นการขัดแย้งเชิงอำนาจในกลุ่มของคณะทหารด้วยกันเอง มีความไม่พอใจทหารบางกลุ่มที่พล.อ.เปรมให้การสนับสนุนอยู่ แล้วมีความรู้สึกคล้ายๆ กับว่าพล.อ.เปรมต้องทำอะไรที่เด็ดขาดกว่านี้ ยังเติร์กก็ต้องการจะให้พล.อ.เปรมดำเนินการอย่างที่ยังเติร์กต้องการ แต่พล.อ.เปรมไม่ยอมก็เกิดความขัดแย้งขึ้นในกลุ่มทหาร 

จริงๆ แล้ว มีความขัดแย้งอยู่แล้ว เพราะมีกลุ่มทหารจำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจยังเติร์ก คือกลุ่มรุ่น 5 ฉะนั้น ก็มีความขัดแย้งอยู่ 2 กลุ่ม เมื่อยังเติร์กทำรัฐประหาร พวกรุ่น 5 ก็ให้การสนับสนุนพลเอกเปรม และก็ได้ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรุ่น 5 ซึ่งก็ไม่ได้ชอบยังเติร์กอยู่แล้ว ก็เป็นเรื่องของความขัดแย้งในทหาร จริงๆ ก็อาจจะมีความขัดแย้งในแง่ของการยอมรับในตัวพล.อ.เปรมที่ยังคงมีอยู่สูงทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบนสุดจนถึงระดับกองทัพ ดังนั้น เมื่อพล.อ.เปรมไม่เอาด้วยกับยังเติร์ก ยังเติร์กก็ไปหาผู้นำคนใหม่ก็คือพล.อ.สันต์ จิตรปฏิมา” 

 อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่การเมืองไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพนี้เองที่ ได้เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ สร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มต่างในสังคมและภาคธุรกิจ และการมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างความเป็นสถาบันให้กับการเลือกตั้ง ฝ่ายนิติบัญญัติและการเผยแพร่ค่านิยมประชาธิปไตยขึ้นในหมู่ประชาชน จนเมื่อเวลาผ่านพ้นไป 8 ปี กระแสประชาธิปไตยเริ่มกลับมามีความเข้มแข็งมากขึ้น  ส่งผลให้พลเอกเปรมต้องเผชิญกับแรงกดดันจากประชาชน ให้ต้องเลือกระหว่างยุติบทบาททางการเมืองหรือถ้าจะยังต้องการอยู่ในการเมือง ก็จะต้องลงมาเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งในปี 2531 

จากสภาวะแรงกดดันดังกล่าว พล.อ.เปรมเลือกที่จะยุติบทบาททางการเมือง ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดสภาวะประชาธิปไตยครึ่งใบที่นายกฯไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหลังจากนั้น การเมืองไทยได้เข้าสู่สภาวะประชาธิปไตยเต็มใบอีกครั้งหนึ่งภายใต้การนำของพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทย อันเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้น

หากพิจารณาจากสถานการณ์การเมืองขณะนั้น จะพบว่า เงื่อนไขเรื่องแรงกดดันจากประชาชนให้ต้องเลือกระหว่างยุติบทบาททางการเมือง หรือถ้าจะยังต้องการอยู่ในการเมือง ก็จะต้องลงมาเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งในปี 2531 นั้น ดูจะมีน้ำหนักน้อยมาก แต่ปัจจัยสำคัญน่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างพล.อ.เปรมกับผู้นำกองทัพคือพล.อ.อาทิตย์ และกลุ่มยังเติร์ก ซึ่งดำเนินมาระยะหนึ่งแล้ว 

ก่อนจะเกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักวิชาการ จำนวน 99 คน เพื่อทูลเกล้าถวายฎีกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ “ฎีกา 99” มากกว่า กล่าวคือ แม้ว่าสถานการณ์หลังการยุบสภาและเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2531 กระแสทางการเมืองได้แปรเปลี่ยนในลักษณะ ไม่เอาเปรมโดยเฉพาะจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ในขณะที่ กองทัพก็ยังคงนำทหาร “ตบเท้า” ให้กำลังใจพล.อ.เปรม หลายครั้งหลายหน กับข่าวลือรัฐประหารออกมาเป็นระยะๆ จนเกิดความไม่แน่ใจว่า จะมีการเลือกตั้งขึ้นได้หรือไม่ สอดรับกับการเคลื่อนไหวทางสังคมคือ การทูลเกล้าถวายฎีกาการเมืองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของกลุ่มบุคคล 99 คน ในวันที่ 27 พ.ค.2531 เช่น ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช นพ.กระแส ชนะวงศ์ ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร และ รศ.ธงทอง จันทรางศุ เป็นต้น 

สาระสำคัญสรุปได้ว่า ขอพระบารมีเป็นที่พึ่งเพื่อให้ผู้นำทางการเมืองวางตัวเป็นกลาง และคัดค้านการใช้กำลังทหารของชาติมาสนับสนุนสถานภาพทางการเมืองส่วนบุคคล รวมทั้งการเปิดอภิปรายที่สนามหลวงของนักศึกษาภายใต้การนำของ ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาในวันที่ 17 มิ.ย.2531 แต่กระนั้นก็เป็นเพียงการเคลื่อนไหวต่อต้านที่จำกัดในวงแคบๆ หาได้มีการเคลื่อนไหวในลักษณะของการกดดันที่มีน้ำหนักและมีผลต่อสังคมมากมายเท่าใดนัก

ขณะเดียวกัน พล.อ.เปรมก็ยังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากนายทหารคนสำคัญอย่าง พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์สงครามพิเศษลพบุรี และยังมีพรรคการเมือง หลายพรรคที่พร้อมจะสนับสนุนให้พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งนายกฯดังจะเห็นว่า หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2531 พรรคการเมืองที่ร่วมกันเตรียมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 4 พรรค อันประกอบด้วยพรรคชาติไทย กิจสังคม ประชาธิปัตย์และราษฎร ที่ได้เชิญพล.อ.เปรม ให้มาดำรงตำแหน่งนายกฯต่อไป แต่พล.อ.เปรมได้ปฏิเสธ โดยกล่าวว่า ผมพอแล้วนับเป็นการสิ้นสุด ประชาธิปไตยครึ่งใบโดยสมบูรณ์  

เห็นได้ชัดว่า กองทัพในเวลานั้นก็ไม่ได้มีความเป็นเอกภาพในท่าทีที่มีต่อพล.อ.เปรม มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านมาโดยตลอดช่วงเวลาที่ท่านขึ้นเป็นนายกฯ ความไม่เป็นเอกภาพนี้ปรากฏให้เห็นจากความพยายามในการทำรัฐประหารอยู่หลายครั้งตลอดเวลาที่ “ป๋า” เป็นนายกฯอยู่ แต่ด้วยศิลปะความสามารถในการบริหารจัดการที่เมื่อถึงเวลาป๋าก็เด็ดขาด ไม่เอาพวก แต่เอาชาติบ้านเมือง จนสามารถทำให้แปดปีไม่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยรัฐประหาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องเผชิญกับทาง 2 แพร่งระหว่างรับหรือปฏิเสธรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร อีกทั้งไม่ต้องทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยมีรัฐบาลเผด็จการเต็มตัวไม่มีเลือกตั้ง-ไม่มีรัฐธรรมนูญยาวนานเหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์-จอมพลถนอม (พ.ศ. 2502 - 2511) เพราะในสมัยพล.อ.เปรมมีการเลือกตั้งถึง 3 ครั้งใน 8 ปี เฉลี่ยมีการเลือกตั้งทุกๆ 2 ปีกว่า ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพต่อเนื่อง แม้จะไม่ “เต็มใบ” และส่งผลให้มีการเติบโตของพรรคและนักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น อีกทั้งยังสามารถวางรากฐานเศรษฐกิจให้เข้มแข็งมั่นคง และท่านรู้จักขอบเขตความพอดีทางการเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณลักษณะสำคัญที่เป็นสากลของรัฐบุรุษ 

พล.อ.เปรมสิ้นสุดการเป็นนายกฯ ในวันที่ 4 ส.ค.2531 และวันที่ 23 ส.ค. ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี และในวันที่ 29 ส.ค.ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า “โดยที่นายกฯ นำความกราบบังคมทูลว่า พล.อ.เปรม ได้เคยรับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งที่สำคัญฯ ทั้งด้านการทหารและการบริหารราชการแผ่นดินมาแล้วหลายตำแหน่ง ครั้งสุดท้ายดำรงตำแหน่งนายกฯ มาเป็นเวลานานถึง 8 ปี 5 เดือนเศษ ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ เหล่านั้น พล.อ.เปรม ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จนเป็นที่ประจักษ์ในความปรีชาสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติและความเป็นอยู่ของชาวชนบทให้มั่นคงอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯยกย่อง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษ เพื่อเป็นเกียรติประวัติและตัวอย่างอันดีงามต่อไป” 

 หลังจากนั้น “ป๋า” ในฐานะรัฐบุรุษและประธานองคมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทำหน้าที่ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดียิ่งตลอดมา และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงที่บ้านเมืองเข้าสู่การผลัดแผ่นดินจนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสร็จสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี

(ส่วนหนึ่งจาก รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการ “รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 กับอนาคตประชาธิปไตยของไทย” ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2557 ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยวิจัยสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก)