ตาลีบันยุคใหม่ห้ามปลูกฝิ่นทั่วประเทศ

ตาลีบันยุคใหม่ห้ามปลูกฝิ่นทั่วประเทศ

รัฐบาลตาลีบันในอัฟกานิสถานห้ามการปลูกฝิ่นทั่วประเทศ พร้อมเตือนว่าจะเผาไร่ฝิ่นและจับกุมคุมขังผู้ปลูกฝิ่นที่ละเมิดคำสั่งนี้

โฆษกตาลีบันประกาศคำสั่งใหม่ที่ครอบคลุมการห้ามผลิต การขนส่ง การซื้อขาย รวมทั้งการนำเข้าและส่งออกเฮโรอีน กัญชา และแอลกอฮอล์ด้วย

คำสั่งของรัฐบาลตาลีบัน มีขึ้นขณะที่กำลังเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวและปลูกฝิ่นชุดใหม่ในอัฟกานิสถาน โดยในจังหวัดกันดาฮาร์ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มตาลีบันกำลังมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตไร่ฝิ่นเพื่อนำไปผลิตเป็นเฮโรอีนต่อไป ขณะที่ภาคตะวันออกของประเทศกำลังมีการปลูกฝิ่นชุดใหม่

ปัจจุบัน อัฟกานิสถาน คือผู้ปลูกฝิ่นรายใหญ่ที่สุดในโลก มีปริมาณการผลิตมากกว่าประเทศอื่นในโลกรวมกันทั้งหมด โดยเมื่อปีที่แล้วก่อนที่ตาลีบันจะยึดครองประเทศได้ อัฟกานิสถานผลิตฝิ่นมากกว่า 6,000 ตันซึ่งมากที่สุดเป็นสถิติใหม่หกปีติดต่อกัน และสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ประเมินว่าสามารถนำไปผลิตเฮโรอีนบริสุทธิ์ได้ราว 320 ตัน
 

เมื่อทศวรรษ 1990 ช่วงที่ตาลีบันปกครองอัฟกานิสถานได้มีการห้ามปลูกฝิ่นมาแล้วโดยระบุว่าขัดกับหลักการของศาสนาอิสลาม โดยตลอดช่วงนั้นปริมาณการปลูกฝิ่นในอัฟกานิสถานลดลงจนเกือบหมด

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตาลีบันถูกโค่นอำนาจเมื่อปี 2544 ชาวอัฟกานิสถานกลับมาปลูกฝิ่นอีกครั้ง และมีรายงานว่ารัฐบาลอัฟกานิสถานชุดก่อนที่มีสหรัฐหนุนหลัง สามารถเก็บภาษีจากการปลูกฝิ่นและค้าฝิ่นได้หลายล้านดอลลาร์ต่อปี

รายงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น)เมื่อปีที่แล้ว ระบุว่า รายได้จากอุตสาหกรรมฝิ่นในอัฟกานิสถานมีมูลค่าราว 1,800 - 2,700 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งมากกว่า 7% ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของประเทศ

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า คำสั่งห้ามปลูกฝิ่นของรัฐบาลตาลีบันจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเกษตรรายย่อยและคนงานรับจ้างที่ยากจนซึ่งต้องพึ่งพารายได้จากไร่ฝิ่นในการดำรงชีพ จนกว่ากลุ่มตาลีบันจะสามารถสนับสนุนให้เกษตรปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ทดแทนการปลูกฝิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สถานการณ์ในอัฟกานิสถานในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจ ถือว่ายังอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตหลายด้าน ทั้งภัยความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิต ขาดแคลนทรัพยากรจำเป็น เช่น ยา อาหาร น้ำดื่ม ไฟฟ้า การเข้าถึงสาธารนูปโภค รวมไปถึงเกิดการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศ หลังจากกลุ่มตาลีบันเข้าปกครองเมื่อช่วงเดือนส.ค.ปี2564 และมีการตกลงกับนานาชาติว่าจะสร้างความเท่าเทียมให้กับคนทุกเพศ ทุกสถานะ แต่อยู่ในระเบียบของศาสนา

ปัจจุบัน ชาวอัฟกานิสถานหลายล้านคนยังคงอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง และขาดสิทธิเสรีภาพในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ที่สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานตรงกันว่า กฎหมายใหม่ของกลุ่มตาลีบันริดรอนสิทธิเสรีภาพของสตรีอย่างเห็นได้ชัด แม้ตาลีบันจะออกมาโต้ว่า ทั้งหมดคือข้อบังคับชั่วคราว เพื่อจัดระเบียบการปกครองเท่านั้น แต่จนตอนนี้ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆที่ส่อถึงสถานการณ์ที่ดีขึ้น

“อันโตนิโอ กูเตียเรส” เลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น) กล่าวกับคณะมนตรีความมั่นคงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆอนุมัติการทำธุรกรรมทั้งหมดที่จำเป็นเพื่อดำเนินกิจกรรมด้านมนุษยธรรมในรัฐที่ปกครองโดยตาลีบันพร้อมทั้งระบุว่า ต้องกระจายเงินจากธนาคารเพื่อช่วยเหลือประชาชนอัฟกันให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ ยังผลักดันให้มีการระงับกฎหรือเงื่อนไขใดๆที่บีบรัดการดำเนินการเข้าช่วยเหลือผู้คนนับล้านในประเทศที่กำลังประสบปัญหาความหิวโหยอย่างรุนแรง การศึกษาและสิทธิมนุษยชนที่เข้าใกล้กับคำว่าล่มสลาย การขาดสภาพคล่องในหลายๆด้านจำกัดความสามารถของสหประชาชาติและกลุ่มที่มีความประสงค์เข้าช่วยเหลือผู้ยากไร้

“เราจำเป็นต้องให้การรับรองทางกฎหมายแก่สถาบันการเงินและพันธมิตรทางการค้า เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาสามารถทำงานร่วมกับผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมโดยไม่ต้องกลัวหรือกังวลว่าจะละเมิดมาตรการการคว่ำบาตรใดๆ” เลขาธิการยูเอ็นกล่าว

เงินสำรองของธนาคารกลางอัฟกานิสถานจำนวน 9,500 ล้านดอลลาร์ยังคงถูกปิดกั้นในต่างประเทศ และการสนับสนุนการพัฒนาระหว่างประเทศก็ลดน้อยลง ตั้งแต่กลุ่มตาลีบันเข้ายึดอำนาจเมื่อเดือนส.ค.ปี2564

"เดโบราห์ ลียง" ทูตพิเศษขององค์การสหประชาชาติประจำอัฟกานิสถาน กล่าวว่า “มีหลักฐานที่น่าสนใจ ว่ามีการคุกคามและเสื่อมถอยในด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการรวมอำนาจของรัฐบาลอาจนำไปสู่การควบคุมประชาชนด้วยความหวาดกลัว”