หลังจากนี้โลกอาจไม่มีขนมหวานชื่อ ‘ช็อกโกแลต’ อีกแล้ว ?

หลังจากนี้โลกอาจไม่มีขนมหวานชื่อ ‘ช็อกโกแลต’ อีกแล้ว ?

ปลูกได้น้อย-ราคาสูงต่อเนื่อง สะเทือนผลผลิต “ช็อกโกแลต” สาเหตุหลักโลกร้อน-ความซับซ้อนของตลาดซื้อขายล่วงหน้า ด้านยักษ์ช็อกโกแลตระดับโลกเพิ่มโปรดักต์ใหม่ ใช้ส่วนผสมเทียมแก้เกม Hershey’s-Mars เตรียมดันเยลลี่เป็นสินค้าหลักทดแทน

KEY

POINTS

  • ปัญหาโกโก้ขาดแคลนไม่ได้เกิดขึ้นที่ไทยเท่านั้น นี่คือปรากฏการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยมีสาเหตุหลักจากสภาพอากาศแปรปรวน และค่าแรงที่ต่ำจนทำให้เกษตรกรผู้ปลูกฟาร์มโกโก้ลดน้อยลง
  • ภาวะขาดแคลนโกโก้ทำให้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพิ่มขึ้นหลายฉบับ แต่ก็พบว่า ผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการในตลาดอยู่ดี กระทั่งยักษ์ผู้ผลิตช็อกโกแลตหลายเจ้าทยอยปรับแผน หันไปผลิตขนมอื่นทดแทนแล้ว
  • แม้กระแสโกโก้ขาดตลาดจะทำให้คนในพื้นที่หันมาทำการเกษตรเพิ่มขึ้น แต่ระยะรอคอยในการเก็บเกี่ยวก็ไม่อาจทำให้ซัพพลายฟื้นตัวในเร็ววันได้

ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงฉายชัดขึ้นเรื่อยๆ จากระดับอุณหภูมิที่เราสัมผัสได้ด้วยตัวเอง รวมถึงราคาสินค้าตามท้องตลาดโดยเฉพาะพืชผักผลไม้ เป็นที่รู้กันว่า หน้าร้อนมักมาพร้อมกับราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในที่นี้ก็รวมไปถึง “ราคาโกโก้” ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 2 ปีเต็มด้วย

ที่ผ่านมา กระแสข่าวราคาโกโก้ปรับตัวสูงขึ้นจากผลผลิตที่น้อยลงท่ามกลางภาวะโลกเดือดอาจจะยัง “มาไม่ถึงตัว” คนไทยดีนัก ทว่า ประกาศปรับราคาเมนูที่มีส่วนผสมของโกโก้จากแบรนด์ “เต่าบิน” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา คงจะทำให้เริ่มเห็นเค้าลางความเปลี่ยนแปลงชัดเจนกว่าครั้งไหนๆ แม้ว่าตอนนี้โกโก้ และขนมหวานยอดนิยมอย่าง “ช็อกโกแลต” จะยังหากินได้ทั่วไปตามท้องตลาด แต่หากสภาพอากาศยังดุเดือดขึ้นทุกปีเช่นนี้ ก็ไม่แน่ว่า ในอนาคตอันใกล้เราอาจไม่มีช็อกโกแลตให้กินแล้วก็ได้

ข้อมูลจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ “โนอา”) ระบุว่า ต้นโกโก้อาจสูญพันธุ์ภายในปี 2593 หรืออีก 26 ปีข้างหน้า จากอุณหภูมิที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งจะมีผลทำให้ต้นโกโก้คายน้ำเร็วขึ้น กระทบกับกระบวนการสังเคราะห์แสง และนำไปสู่ผลผลิตที่น้อยลงเรื่อยๆ ในท้ายที่สุด

สถานการณ์ผลผลิตน้อย-ราคาสูงของโกโก้ สร้างความกังวลให้กับอุตสาหกรรมยักษ์ขนมหวานระดับโลกมากมาย ที่เริ่มมีการวางแผนปรับการผลิตให้สอดรับกับอนาคตกันแล้ว รายงานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ระบุว่า หลังจากนี้ “บิ๊กแบรนด์” ในอุตสาหกรรมขนมหวานช็อกโกแลตทั้งหลายจะเริ่มหันมาพัฒนาโปรดักต์ขนมหวานรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น รวมถึงการใช้ส่วนผสมที่ให้รสชาติใกล้เคียงกับช็อกโกแลต เพื่อทดแทนวัตถุดิบราคาแพง และมีแนวโน้มจะกลายเป็นของหายาก

หลังจากนี้โลกอาจไม่มีขนมหวานชื่อ ‘ช็อกโกแลต’ อีกแล้ว ?

อากาศแปรปรวน-ค่าแรงต่ำ-สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทำราคาโกโก้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

ปลายเดือนมีนาคม 2567 ราคาซื้อขายโกโก้แพงทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แตะระดับ 10,000 ดอลลาร์ต่อตัน หรือคิดเป็นเงินไทยราว “370,725 บาท” ต่อตัน (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 25 เมษายน 2567) หากนับเฉพาะปีนี้ ราคาโกโก้ทำ New High ทะยานเกิน 140% ไปแล้ว

ข้อมูลจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุถึงสาเหตุหลักของสถานการณ์โกโก้ขาดแคลนว่า เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในพื้นที่เพาะปลูกฟาร์มโกโก้ขนาดใหญ่ รวมถึงความซับซ้อนของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาด ที่เป็นเหตุผลต่อเนื่องจนนำไปสู่ภาวะ “Over demand”

แม้โกโก้จะเป็นที่ต้องการของผู้ผลิตทั่วโลก แต่ฐานการผลิตที่สำคัญกลับมีพื้นที่จำกัด แตกต่างจากพืชผลทางการเกษตรชนิดอื่นๆ ที่มีการทำฟาร์มเกษตรเชิงพาณิชย์ขึ้นมาโดยเฉพาะ ทุกวันนี้ฟาร์มโกโก้ได้รับการดูแลและควบคุมโดยเกษตรรายย่อยในแอฟริกาตะวันตก ที่ครองสัดส่วนการผลิตมากถึง 53% ของตลาดโกโก้ทั้งโลก โดยมี “ไอวอรี่ โคสต์” และ “กาน่า” เป็นผู้นำตลาด

แต่อย่างไรก็ตามกลับพบว่า ระยะหลังมานี้ผลผลิตจากทั้งไอวอรี่โคสต์และกาน่ามีสัดส่วนลดลงจากปัญหาความรุนแรงของสภาพอากาศ ทั้งหน้าฝนที่มีปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก รวมถึงหน้าร้อนที่ทำให้ต้องเผชิญกับความแห้งแล้งรุนแรงกว่าปกติ ปริมาณฝนที่ชุกชุมกว่าเดิมทำให้เกิดหนองน้ำจำนวนมากภายในไร่ นำไปสู่การแพร่กระจายของโรคพืช อาทิ โรคฝักดำ โรคไวรัสหน่อบวม ทำให้ฝักโกโก้เน่าเปื่อย และอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ต้นโกโก้ตายได้

ปัญหาเรื่องค่าแรงต่ำก็เป็นอีกปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน “บลูมเบิร์ก” ให้ข้อมูลว่า เกษตรกรรายย่อยในไอวอรี่ โคสต์ และกาน่า ได้รับค่าจ้างอันน้อยนิดมานานแล้ว ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการกำหนดเพดานราคาขายจากรัฐบาลก่อนเริ่มฤดูกาลใหม่ ทำให้ผู้ผลิตไม่ได้รับกำไรจากการปรับขึ้นราคาในรอบปัจจุบัน

ประเด็นเรื่องค่าแรงส่งผลกระทบเป็นวงกลมทั้งระบบ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ไม่มีต้นทุนในการกำจัดศัตรูพืช  ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิต-ขยายฟาร์มได้ รวมถึงไม่มีแรงจูงใจในการดึงดูดให้คนในพื้นที่ประกอบอาชีพดังกล่าวต่อไป

หลังจากนี้โลกอาจไม่มีขนมหวานชื่อ ‘ช็อกโกแลต’ อีกแล้ว ? -เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกโกโก้ในประเทศไอวอรี่ โคสต์-

ภาวะขาดแคลนโกโก้จึงนำไปสู่การซื้อขายล่วงหน้าในตลาด “Futures Market” หรือการทำสัญญาซื้อขายที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกัน ณ ราคาปัจจุบัน ไม่ว่าในอนาคตสินค้าจะแพงขึ้นหรือถูกลงก็ตาม การวางเดิมพันในลักษณะนี้มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงในตลาด ผู้ขายที่มีโกโก้ในมือจะทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันราคาตกต่ำในอนาคต หากสินค้าในสต๊อกมีมูลค่าน้อยลง การเดิมพันในระยะสั้นเช่นนี้จะช่วยให้ผู้ขายรอดพ้นจากภาวะขาดทุนได้

ทว่า “Future Market” เหมาะกับสินค้าที่มีการขึ้นลงในกรอบปานกลางมากกว่าจะใช้กับสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ หากพิจารณาจากตลาดโกโก้ในปัจจุบันที่กำลังการผลิตน้อยกว่าความต้องการซื้อ การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก็อาจทำให้ผู้ขายเสียโอกาสได้เช่นกัน ความซับซ้อนจึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่โกโก้มีค่าดั่งทองคำ โดยผู้ขายบางรายได้ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพิ่มอีกหลายฉบับเพิ่มเติม ซึ่งบลูมเบิร์กระบุว่า มีผลทำให้ราคาโกโกโก้สูงขึ้นไปอีก 

ในรอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีการทำสัญญาซื้อขายโกโก้เยอะขึ้นกว่าที่เคยมีมา ที่นิวยอร์กราคาสัญญาซื้อขายโกโก้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมีนาคม 2567 ที่ 10,800 ดอลลาร์ต่อตัน หลังจากนั้นแม้ราคาจะขยับขึ้นลงบ้าง แต่ก็ไม่มีครั้งไหนที่ต่ำกว่า 9,500 ดอลลาร์อีกเลย

ภาวะขาดแคลนซัพพลายผลักดันให้ราคาโกโก้ทะยานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยปีนี้เป็นปีที่สามแล้วที่โลกเข้าสู่ภาวะขาดดุลโกโก้ ด้านองค์กรโกโก้ระหว่างประเทศ (International Cocoa Organization) ก็มีการคาดการณ์ว่า การผลิตในปีนี้จะลดลงอีกราว 370,000 ตัน ส่งผลให้ผู้ผลิตทั่วโลกยังต้องเผชิญกับสภาวะเช่นนี้ไปอีกนาน

หลังจากนี้โลกอาจไม่มีขนมหวานชื่อ ‘ช็อกโกแลต’ อีกแล้ว ?

อาจไม่มีขนมชื่อ “ช็อกโกแลต” Hershey’s-Mars ปรับพอร์ต ผลิตเยลลี่แทน

เมื่อรู้ว่า ต้องรับมือกับสถานการณ์ขาดดุลไปอีกนานรวมถึงต้นทุนที่สูงขึ้น หากปล่อยไว้คงหนีไม่พ้นการปรับขึ้นราคาสินค้าเป็นแน่ กลวิธีที่ “บิ๊กแบรนด์” เลือกทำก่อน คือลดขนาดสินค้า หรือที่มีชื่อเรียกว่า “Shrinkflation” ขายราคาเดิมแต่ลดปริมาณลงเล็กน้อย โดยมี “Mars” ยักษ์ผู้นำตลาดช็อกโกแลตระดับโลกนำร่องลดขนาดสินค้าลง 10 กรัม พร้อมกับปรับเปลี่ยนหน้าตาบรรจุภัณฑ์ใหม่ ตั้งแต่ปี 2566  โดยไม่มีการลดราคาลงแต่อย่างใด 

ผลสำรวจข้อมูลเชิงลึกจาก “นีลเส็นไอคิว” (Nielsen IQ) บริษัทชั้นนำด้านการวิจัยทางธุรกิจ ระบุว่า มีแนวโน้มสูงมากที่ผู้บริโภคจะลดค่าใช้จ่ายในการซื้อช็อกโกแลตและลูกอมหากอัตราเงินเฟ้อยังคงดำเนินต่อไป จากการจัดอันดับสินค้าที่ผู้บริโภคมองว่า ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตนั้น “ช็อกโกแลต” รั้งอันดับที่ 3 เป็นรองเพียงแอลกอฮอล์และเครื่องสำอางเท่านั้น

จากความเคลื่อนไหวทั้งหมด ทำให้บิ๊กแบรนด์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวต้องเร่งปรับแผนเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ด้านโฆษก “Mars” กล่าวผ่านอีเมลเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ว่า บริษัทกำลังเร่งหาวิธีจัดการต้นทุนและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมระบุว่า การลดขนาดผลิตภัณฑ์ผ่านการตัดสินใจมาอย่างรอบคอบแล้ว

การลดขนาดบรรจุภัณฑ์เป็นด่านแรกที่หลายๆ แบรนด์ “take action” เมื่อเจอกับข้อจำกัดเรื่องต้นทุนด้านการผลิต และอีกกลวิธีสำคัญ คือการปรับลดบทบาทของขนมที่มีส่วนผสมของช็อกโกแลต พร้อมผลักดันโปรดักต์อื่นๆ ขึ้นมาเป็นสินค้าทดแทน

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ “เนสท์เล่” (Nestle’) เปิดตัวช็อกโกแลตแท่งกลิ่นเฮเซลนัทที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับช็อกโกแลตบาร์ของ “เอโร่” (Aero) ยักษ์ช็อกโกแลตในอังกฤษที่โดดเด่นด้วยขนมเคลือบช็อกโกแลตด้านนอก ส่วนด้านในจะมีความโปร่งนิ่มคล้ายฟองอากาศ ซึ่งโปรดักต์ใหม่ของเนสท์เล่ตัวนี้ ยังมีน้ำหนักน้อยกว่า “เอโร่” ประมาณ 1 ใน 3 ด้วย 

ด้าน “คิทแคท” (Kit Kat) ออกรสชาติใหม่ “Chocolate frosted donut” หากมองผิวเผินก็อาจเป็นเพียงการทำการตลาดใหม่ๆ ด้วยการเพิ่มความหลากหลายของสินค้า แต่ข้อสังเกตของเจ้า Chocolate frosted donut คือมันถูกเคลือบด้วยช็อกโกแลตเพียงด้านบนเท่านั้น ด้านหลังและด้านข้างใช้เนยโกโก้ในการเคลือบเวเฟอร์แทน

  หลังจากนี้โลกอาจไม่มีขนมหวานชื่อ ‘ช็อกโกแลต’ อีกแล้ว ? -“คิทแคท รสชาติ” ดั้งเดิมเคลือบช็อกโกแลตทั้งแท่ง-

ส่วน “เฮอร์ชีย์” (Hershey’s) ยักษ์ใหญ่ช็อกโกแลตที่มีอายุมากกว่า 130 ปี ได้เปิดเผยแผนการทำงานในการประชุม “Consumer Analyst Group” ที่รัฐฟลอริดา ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ว่า บริษัทมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนของ “Gummy Candy” หรือขนมหวานประเภทเยลลี่อีก 50% ภายในปีนี้ ซึ่งเฮอร์ชีย์ระบุว่า แผนดังกล่าวจะช่วยให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้ด้วยวิธีการที่ต่างออกไป 

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างที่เรายกมาให้เห็นเป็นเพียงเคสที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้เท่านั้น หากย้อนกลับไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า การเปลี่ยนแปลงของยักษ์ช็อกโกแลตเริ่มต้นขึ้นพักใหญ่แล้ว “Euromonitor” บริษัทสำรวจข้อมูลด้านการตลาดระดับโลก ระบุว่า การปรับลดส่วนผสมช็อกโกแลตมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ด้วยต้นทุนโกโก้ที่สูงขึ้น รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มมองหาของว่างชนิดอื่นๆ

หลังจากนี้เราจะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ เตรียมออกสู่ท้องตลาดอีกมากมาย เพราะกว่า 40% ของโปรดักต์ช็อกโกแลตที่มีการวางจำหน่ายในสหรัฐขณะนี้ ล้วนมีรูปแบบของการสอดไส้คาราเมล  ถั่ว และผลไม้อื่นๆ ไม่ใช่ช็อกโกแลตอัดแท่ง 100% อีกต่อไป

“นิค โมดิ” (Nik Modi) หัวหน้าฝ่ายวิจัยผู้บริโภคและการค้าปลีกระดับโลกจาก “RBC Capital Markets” ให้ความเห็นกับบลูมเบิร์กว่า ตอนนี้ทุกคนเริ่มคิดหนักขึ้นมากจริงๆ ว่า จะทำอย่างไรให้สินค้ามีความหลากหลาย และสามารถเพิ่มส่วนแบ่งได้ในสัดส่วนที่มากกว่าช็อกโกแลต เพราะพวกเขา (ผู้ผลิต) เริ่มเห็นแล้วว่า เกิดอะไรขึ้นกับราคาโกโก้ 

“โมดิ” ระบุว่า สิ่งที่บิ๊กแบรนด์หลายเจ้าตั้งเป้าตอนนี้ คือการเป็นผู้นำขนมหวานแบบ “Holistic candy players” หรือผู้เล่นตลาดขนมหวานแบบองค์รวม เพื่อสร้างความหลากหลายมากกว่าการปักหมุดเป็นผู้นำช็อกโกแลตแบบเดิม

โกโก้ราคาสูง ดึงดูดคนพลัดถิ่นกลับมาทำฟาร์มโกโก้

อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า ปัญหาเรื่องค่าแรงอันน้อยนิด และการกำหนดเพดานราคาขายจากรัฐบาลในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง “ไอวอรี่ โคสต์” และ “กาน่า” ทำให้คนในพื้นที่หันไปประกอบอาชีพอื่นๆ แทน นำไปสู่ภาวะขาดแคลนโกโก้อย่างที่ปรากฏ

ทว่า ผู้ปลูกในประเทศ “แคเมอรูน” และ “ไนจีเรีย” กลับมีอิสระในการเสนอราคาขาย เพราะไม่มีเพดานจากรัฐมาเป็นตัวกำหนด ทำให้ราคาโกโก้จากทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าจากปีก่อนหน้า ซึ่งขณะนี้พบว่า ราคาโกโก้ในตลาดโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ กำลังดึงดูดให้แรงงานพลัดถิ่นเหล่านี้ทยอยกลับสู่บ้านเกิด และหันมาเอาจริงเอาจังกับการปลูกโกโก้แทน

หลังจากนี้โลกอาจไม่มีขนมหวานชื่อ ‘ช็อกโกแลต’ อีกแล้ว ?

“บันยูย เอลซี คินยูย” ครูสอนพิเศษมัธยมปลายวัย 57 ปี เริ่มวางแผนชีวิตบทต่อไปด้วยการซื้อที่ดินกว่า 18 ไร่ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของเธอไปประมาณ 200 กิโลเมตร ในเมืองยาอุนดา ประเทศแคเมอรูน และเริ่มปลูกต้นโกโก้ไว้บางส่วนแล้ว โดยระบุว่า ต้นโกโก้เหล่านี้น่าจะเริ่มออกดอกผลในช่วงที่เธอเข้าสู่วัยเกษียณพอดี

ทุนในการซื้อที่ดินผืนนี้ไม่ได้มีราคาถูกนัก แต่คินยูยระบุว่า จากแนวโน้มของราคาโกโก้ที่ยังสูงต่อเนื่องเรื่อยๆ เธอมั่นใจว่า รายได้จากฟาร์มโกโก้จะให้ผลตอบแทนมากกว่าการสอนอย่างแน่นอน ซึ่งไม่ใช่แค่คินยูยเท่านั้น แต่ยังพบว่า มีอดีตเกษตรกรในแคเมอรูนที่หันไปปลูกพืชชนิดอื่นก่อนหน้านี้ ปัจจุบันเขาเริ่มกลับมาดูแลฟาร์มโกโก้อย่างเอาจริงเอาจังอีกครั้ง

ด้าน “จอห์น คาลู” (John Kalu) ผู้นำเกษตรกรระดับภูมิภาคในประเทศไนจีเรีย ระบุว่า ขณะนี้มีเกษตรกรหันมาให้ความสนใจปลูกโกโก้จำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลเองก็สนับสนุนด้วยนโยบายการเช่าที่ดินใหม่สำหรับเกษตรกร แม้รายละเอียดเบื้องต้นจะยังคลุมเครือแต่ก็นับเป็นสัญญาณที่ดี

อย่างไรก็ตาม ระยะรอคอยของการเก็บเกี่ยวโกโก้เพื่อนำมาแปรรูปเป็นช็อกโกแลตจะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาอุปทานที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ในเร็ววัน แคเมอรูนและไนจีเรียเป็นเพียงสัดส่วนเล็กๆ เมื่อเทียบกับความต้องการทั่วโลก คาดการณ์เก็บเกี่ยวโกโก้ในปีนี้ของไอเวอรี่ โคสต์ ก็คาดว่า จะได้ผลผลิตน้อยกว่าปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำไป

หากพูดอย่างตรงไปตรงมา หลังจากนี้ยักษ์ผู้ผลิต และผู้บริโภคแบบเราคงต้องเผชิญกับวิกฤติขาดแคลนโกโก้ไปอีกพักใหญ่ ตราบใดที่สภาพอากาศยังรุนแรงขึ้นทุกปีเช่นนี้ ก็เตรียมนับถอยหลังโลกที่ไร้ขนมชื่อ “ช็อกโกแลต” ไปได้เลย

 

อ้างอิง: Bloomberg 1Bloomberg 2Bloomberg 3Food Navigator USA