'ท้องเสีย' ทำไมห้ามดื่มนม 'อาหาร' อะไรที่ควรทาน ไม่ควรทาน

'ท้องเสีย' ทำไมห้ามดื่มนม 'อาหาร' อะไรที่ควรทาน ไม่ควรทาน

อาการท้องเสีย เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะการติดเชื้อ ทานอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อนจากอาหาร ฯลฯ ซึ่งเมื่อเราท้องเสีย การดื่มนม อาจทำให้อาการ 'ท้องเสีย' แย่ลงได้ รวมถึงบางคน เมื่อดื่มนม ก็ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้เช่นกัน

KEY

POINTS

  • อาการท้องเสีย เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ การติดเชื้อ การกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสารพิษจากเชื้อโรคปนเปื้อน และ สาเหตุอื่น ๆ คือ กรณีที่มีการอักเสบของลำไส้จากโรคต่าง ๆ ยา หรือการฉายแสง
  • เมื่อมีอาการท้องเสีย ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม เช่น เนย ไอศกรีม ชีส เพราะเมื่อท้องเสีย ผนังลำไส้มีความบกพร่องในการสร้างเอนไซม์ที่ชื่อว่า แลคเตส ที่มีไว้ย่อยน้ำตาลแลคโตส ทำให้อาการแย่ลงได้ 
  • นอกจากนี้ หลายคนยังพบว่า “ดื่มนมแล้วท้องเสีย” ดังนั้น วิธีแก้ คือ ค่อยๆ ดื่มนมทีละน้อย (ไม่เกินครึ่งแก้ว) ต่อครั้ง ไม่ควรดื่มตอนท้องว่าง หรือเลือกดื่มนมทางเลือก เช่น นมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม หรือ ผลิตภัณฑ์นมที่ระบุข้างฉลาก ว่า "Iactose free" 

อย่างที่รู้กันว่า นม มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นแหล่งแคลเซียม เสริมความแข็งแรงของกระดูกและฟัน แต่ในช่วงที่เรา “ท้องเสีย” นม กลับเป็นสิ่งที่ไม่ควรดื่ม เนื่องจาก อาการท้องเสียทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำไป ความสามารถในการในการย่อย แลคโตส (Lactose) ที่มีอยู่ในนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมน้อยลง ซึ่งอาจจะทำให้อาการท้องเสียนั้นแย่ลงได้

 

ข้อมูลจาก รศ.นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายในช่องทาง RAMA Channel ว่า อาการท้องเสีย เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ การติดเชื้อ ทั้งจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับอาหาร ที่ไม่สะอาดหรือปรุงไม่สุก อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ลำไส้และก่อให้เกิดอาการถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียนได้

 

อาหารเป็นพิษ เนื่องจากการกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสารพิษจากเชื้อโรคปนเปื้อน พบเป็นสาเหตุให้มีอาการถ่ายเหลวได้เช่นกัน โดยทั่วมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังกินอาการเมื่อเทียบกับการติดเชื้อที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงก่อนเริ่มมีอาการ

 

สาเหตุอื่น ๆ คือ กรณีที่มีการอักเสบของลำไส้จากโรคต่าง ๆ ยา หรือการฉายแสง

 

อาการ ท้องเสีย เป็นอย่างไร ?

  • ปวดท้อง
  • ท้องอืด มีลมในลำไส้
  • ถ่ายอุจจาระเหลวและถ่ายบ่อย (มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน)
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีเสียงท้องร้องจากการบีบตัวในกระเพาะอาหาร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ท้องเสียแบบไหน...ถึงต้องพบแพทย์ เสี่ยงถูกตัดนิ้วมือนิ้วเท้าจริงหรือ?

กิน ‘ไข่ดิบ’ เสี่ยงติดเชื้อ ท้องเสียหนัก 10 วัน ไม่มั่นใจปลอดภัย อย่าเสี่ยงกิน

แพทย์ เตือน อุจจาระร่วงเฉียบพลัน อาจเสี่ยงเสียชีวิตได้

 

อาการท้องเสีย หรือ อุจจาระร่วง พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยทั่วไปหากมีอาการท้องเสียไม่รุนแรงและได้รับการดื่มน้ำและเกลือแร่ทดแทนอย่างเพียงพอ มักไม่เกิดอันตราย โดยอาการท้องเสียส่วนใหญ่มักหายเองในไม่กี่วัน ยกเว้นการติดเชื้อบางชนิดที่ทำให้มีอาการท้องเสียที่ค่อนข้างมาก และมีอาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์

 

โดยทั่วไปหากมีอาการท้องเสียไม่รุนแรง อาจหายได้เองและไม่ถึงขั้นเสียชีวิต ยกเว้นหากมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียค่อนข้างมาก และสูญเสียน้ำจำนวนมากรวมถึงมีระดับเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ อาจ มีอาการซึมลง และทำให้ความดันเลือดต่ำลงจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

ท้องเสีย ห้ามดื่มนม จริงหรือ

เมื่อมีอาการท้องเสีย ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม เช่น เนย ไอศกรีม ชีส เพราะในนมมักมีส่วนประกอบของน้ำตาลที่ชื่อว่า แลคโตส (lactose) โดยหากเกิดอาการท้องเสียจะทำให้เซลล์ที่ผนังลำไส้มีความบกพร่องในการสร้างเอนไซม์ที่ชื่อว่า แลคเตส ที่มีไว้ย่อยน้ำตาลแลคโตส ทำให้น้ำตาลไม่ถูกย่อยและหมักจนเกิดเป็นลม ท้องอืด และยิ่งทำให้ถ่ายเหลวมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การดื่มนมอาจทำให้อาการท้องเสียแย่ลงได้

 

แล้วอาหารอะไร ที่กินได้ หรือไม่ควรกินตอนท้องเสีย

  • อาหารที่ควรกิน ได้แก่ อาหารที่มีรสจืด ย่อยง่าย อาหารที่ไม่มีส่วนประกอบของนม
  • อาหารที่ควรงด ได้แก่ ผัก ผลไม้

 

วิธีการรักษาอาการอาการท้องเสีย

อาการท้องเสียระยะสั้นมักหายได้เองและมีอาการที่ไม่รุนแรง จึงมีวิธีแก้ท้องเสียและสามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มเกลือแร่บ่อย ๆ เพื่อชดเชยน้ำและแร่ธาตุที่สูญเสียไป
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีนมเป็นส่วนประกอบ
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
  • รับประทานอาหารอ่อน เน้นการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง

ถ้ามีอาการขับถ่ายเหลวปริมาณมากให้ดื่มน้ำหรือน้ำที่มีเกลือแร่ผสมเพื่อทดแทนน้ำในร่างกายที่สูญเสียไป แต่อย่างไรก็ตามหากอาการขับถ่ายมีความรุนแรงมากจนไม่สามารถให้น้ำหรือเกลือแร่เพื่อทดแทนได้ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาด้วยการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และถ้าขับถ่ายแล้วมีอาการปวดท้องบิดรุนแรงมีมูกเลือดต้องรีบไปพบแพทย์

 

ดื่มนมแล้วทำไม “ท้องเสีย”

นอกจากเมื่อเราท้องเสีย ห้ามดื่มนมแล้ว ในหลายคนยังพบว่า “ดื่มนมแล้วท้องเสีย” และคิดว่าตัวเองแพ้นม ข้อมูลจาก กรมอนามัย อธิบายว่า ในกรณีที่มีอาการท้องอืด จุกเสียดท้องเสียหลังการดื่มนม ไม่ใช่การแพ้นม แต่เป็นเรื่องของการที่อายุมากขึ้น ร่างกายย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมได้น้อยลง เพราะผลิตเอนไซม์ที่ชื่อว่า แลกเตส (lactase) ได้ลดลง ไม่เพียงพอสำหรับย่อยน้ำตาลในนมที่ชื่อว่า แลคโตส (Lactose) จึงทำให้เกิดอาการดังกล่าว

 

วิธีแก้ กินนมแล้วท้องเสีย

ค่อยๆ ดื่มนมทีละน้อย (ไม่เกินครึ่งแก้ว) ต่อครั้ง ไม่ควรดื่มตอนท้องว่าง และสามารถเพิ่มเป็นครั้งละหนึ่งแก้วได้ในเวลาประมาณ 1–2 สัปดาห์ ก็จะช่วยให้อาการเบาลง ทำให้สามารถดื่มนมได้ดีขึ้น หรือบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมอื่นๆ เช่น โยเกิร์ต และหากอาการดีขึ้นไม่มีอาการท้องเสียขอให้ดื่มนมสูตรปกติและควรเป็นรสจืด ไม่จำเป็นต้องดื่มนมแลคโตสฟรี หรือปราศจากแลคโตส

 

เทคนิคเลือกนมอย่างไร ไม่ให้ท้องเสีย 

โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ แนะเทคนิคการเลือกดื่มนม สำหรับคนที่ดื่มนมแล้วปวดท้อง ท้องเสีย และการเลือกโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติกส์ ว่า อาจเลือกดื่มนมทางเลือกอื่นทดแทน เช่น นมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม ผลิตภัณฑ์นมที่ระบุข้างฉลาก ว่า "Iactose free" ซึ่งจะไม่มีน้ำตาล lactose

 

หรือสามารถเลือกเป็นโยเกิร์ต ซึ่งจะทำให้ได้รับแคลเซียมคล้ายกับการดื่มนม (แนะนำเลือกสูตรออริจินัล)  หรือหากอยากจะดื่มนมวัว อาจปรับโดยการค่อยๆ กลับมาดื่มทีละน้อย เช่น ครั้งละ 30-50 มิลลิลิตรติดต่อกัน 2-3 วันแล้วค่อยเพิ่มปริมาณในวันถัดไป และหลีกเลี่ยงการดื่มนมตอนท้องว่าง

 

วิธีการเลือกซื้อ โยเกิร์ต สูตรที่มีโพรไบโอติกส์ (Probiotic)

โพรไบโอติกส์ คือ จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่งกาย ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรคในลำไส้ ลดการเกิดท้องเสีย ลดการอักเสบและอาการผิดปกติอื่น ๆ ของลำไส้ เช่น ท้องอืด แน่นท้อง ป้องกันมะเร็งลำส้ ส่งเสริมการดูดซึสารอาหาร ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน การมีโพรไบโอติกส์ที่สมดุลและเพียงพอในลำไส้จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคได้

 

โพรไบโอติกส์ สามารถพบในอาหารต่าง ๆ เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโสะ

ตัวอย่างสายพันธุ์โพรไบโอติกส์ที่พบในโยเกิร์ตส่วนใหญ่ เช่น

  • ไบฟิโดแบคทีเรียม ไบฟิดุม (Bidobacterium bidum)
  • ไบฟิโดแบคทีเรียม แอนิมาลิส (Bidobacterium animalis DN173010)
  • แล็คโตแบซิลลัส คาเซอิ (Lactobacillus casei)
  • แล็คโตแบซิลลัส แอซิโดฟิลลัส (Lactobacillus acidophilus)

หากเลือกนมเปรี้ยวโยกิร์ต สูตรที่มีโพรไบโอติกส์แล้ว อย่าลืมดูปริมาณน้ำตาลและไขมัน ร่วมด้วย ปัจจุบันมีหลายยี่หัอ ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เพื่อเป็นทางเลือกสุขภาพอีกทางหนึ่ง