อุตฯการบินโลกมีโอกาสโตแม้บอบช้ำหนักจากโควิด

อุตฯการบินโลกมีโอกาสโตแม้บอบช้ำหนักจากโควิด

“วิคเตอร์ ชู” นักลงทุนในอุตสาหกรรมการบินฮ่องกง ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและประธานบริษัทเฟิร์สต์ อีสเทิร์น อินเวสต์เมนท์ กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียว่า อุตสาหกรรมการบินโลกอาจจะบอบช้ำหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่เขากลับมองต่างออกไป

เมื่อถูกถามว่าเขายังคงมองแง่ดีเกี่ยวกับแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินโลกอยู่หรือไม่ ในเมื่อปัจจุบันนี้ อุตสาหกรรมการบินโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการเข้มงวดด้านการเดินทางของทุกประเทศทั่วโลกเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 นักลงทุนผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมการบินวัย 63ปีตอบว่า"ถ้าคุณยังอยู่รอดจากความท้าทายต่างๆมาได้จนถึงทุกวันนี้ คำตอบคือ"ใช่"ผมยังมองว่าอุตสาหกรรมนี้มีโอกาสด้านการลงทุน

“เป็นเรื่องโชคดีสำหรับสายการบินพีช ออล นิปปอน แอร์เวย์ส และเจแปน แอร์ไลน์ เราจะอยู่รอดเพราะเรามีเส้นทางบินภายในประเทศเพราะฉะนั้นเราจึงมีเกราะป้องกันหากวิกฤตด้านสาธารณสุขยืดเยื้อยิ่งกว่านี้ สายการบินบางแห่งไม่ได้โชคดีเหมือนเรา ”นักลงทุนในอุตสาหกรรมการบินฮ่องกง กล่าว

สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก ของฮ่องกงและสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ไม่ได้มีเที่ยวบินภายในประเทศ เพราะฉะนั้นสายการบินทั้งสองแห่งนี้ต้องจ่ายต้นทุนธุรกิจตายตัวก้อนใหญ่ รวมถึงค่าเช่าเครื่องบินโดยสารและเงินเดือนพนักงาน โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก รายงานตัวเลขขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 21,880 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง(2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)ในปี 2563 โดยสายการบินขาดทุนในแต่ละวันระหว่าง 1,300 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงและ 1,900 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

“แต่โชคดีที่ทั้งฮ่องกงและสิงคโปร์ต่างก็เป็นศูนย์กลางการบินที่สำคัญมากในภูมิภาค สายการบินทั้ง2แห่งจึงอยู่รอดมาได้แต่ก็ต้องบอบช้ำเช่นกัน”ชู กล่าว

ชู คาดการณ์ว่า การเดินทางภายในประเทศในเอเชียและในสหรัฐจะกลับมาขยายตัวที่ 75-80% ของช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19ในช่วงไตรมาส3ของปีนี้ และภายในกลางปี 2565 การเดินทางระหว่างประเทศจะหวนกลับมาขยายตัวในอัตรา 80% "ผู้คนอยากเดินทาง อยากมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อบรรยากาศมีความปลอดภัยเพียงพอที่จะทำแบบนั้นได้ พวกเขาก็จะเริ่มกลับมาเดินทางอีกครั้ง

แต่นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมก็มีมุมมองที่ค่อนข้างลบเกี่ยวกับแนวโน้การเดินทางในเส้นทางบินระหว่างประเทศ

“ด้วยความที่รัฐบาลประเทศต่างๆยังคงเข้มงวดการเข้า-ออกบริเวณพรมแดน ปีนี้จึงเป็นปีที่มีความเข้มงวดด้านการเดินทางมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้”อเล็กซานเดอร์ เดอ จูนิแอค ผู้อำนวยการและซีอีโอสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(ไออาต้า)ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในมอนทรีออล กล่าวไว้เมื่อเดือนที่แล้ว

ผอ.ไออาต้า ยังกล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมการบินคาดการณ์ในสถานการณ์ที่ดีที่สุดว่าปีนี้สายการบินทั่วโลกจะขาดทุน 75,000 ล้านดอลลาร์ หรืออาจเป็นไปได้ว่าจะขาดทุนมากถึง 95,000 ล้านดอลลาร์ เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาฉุกเฉินจากรัฐบาลเพื่อให้สายการบินอยู่รอด

แต่ชู ยังคงมีความหวังและเขายังคงมองหาโอกาสด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้

“เราไม่ได้โฟกัสแค่การลงทุนในสายการบินเพียงอย่างเดียว แต่มองหาโอกาสด้านการลงทุนในระบบนิเวศของตลาดการบินด้วยทั้ง เทคโนโลยีใหม่ๆ โครงสร้างพื้นฐานของสนามบิน โครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางและระบบนิเวศน์ที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านการบินในการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น” ชู กล่าว

ชู เชื่อว่า การดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนจะเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมการบินโลกให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ พร้อมทั้งหวังว่าจะมีเครื่องบินโดยสารจำนวนมากขึ้นที่ใช้เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานในปริมาณน้อย หรือใช้เชื้อเพลิงอย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้นภายในปี 2578

“ถ้าเครื่องบินรุ่นใหม่ใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานน้ำ สิ่งนี้จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมอย่างแท้จริง ”ประธานบริษัทเฟิร์สต์ อีสเทิร์น อินเวสต์เมนท์ กรุ๊ป กล่าว พร้อมทั้งมั่นใจว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆไหลเข้ามาในอุตสาหกรรมการบินมากขึ้น