เปิดคาดการณ์ 'ตลาดหุ้นญี่ปุ่น' ดาวเด่นขึ้นแท่น 'ผลตอบแทนดีสุดในเอเชีย'

เปิดคาดการณ์ 'ตลาดหุ้นญี่ปุ่น' ดาวเด่นขึ้นแท่น 'ผลตอบแทนดีสุดในเอเชีย'

ญี่ปุ่นกำลังจะโบกมือลาสิ้นปีนี้ในฐานะตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีสุดในเอเชีย ! อานิสงค์เงินเยนอ่อนค่า หนุนหดัชนีนิกเคอิ 225 พุ่งสูงขึ้น 28% สู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1989 นักวิเคราะห์คาดเงินเยนแข็งค่าปีหน้า บีโอเจเปลี่ยนนโยบายการเงิน และยกเลิกอัตราดอกเบี้ยติดลบ

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี เผยว่า ญี่ปุ่นกำลังจะโบกมือลาสิ้นปีนี้ในฐานะตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีสุดในเอเชีย ! ซึ่งดัชนีนิกเคอิ 225 พุ่งสูงขึ้น 28% สู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1989

ดัชนีนิกเคอิเคยทำสถิติสูงสุดในปี 1989 เนื่องจากภาวะฟองสบู่ด้านอสังหาริมทรัพย์และตราสารทุน พอฟองสบู่แตก ประเทศญี่ปุ่นก็ตกอยู่ในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว หรือมักเรียกว่า “ทศวรรษที่หายไป” ของญี่ปุ่น แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะราคาอสังหาฯไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศเหมือนปลายยุค 1980 และญี่ปุ่นก็มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมากมายในปีนี้

หลายบริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเงินเยนอ่อนค่า ทำให้สินค้าเกิดการแข่งขันการมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการบริษัทต่าง ๆ ก็ใช้จ่ายมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. สำนักข่าวนิกเคอิรายงานว่า เงินลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นแตะระดับสูงสุดที่ 31.6 ล้านล้านเยนเป็นประวัติการณ์ ในปีงบประมาณ 2566 นี้

การลงทุนในประเทศที่มาจากการลงทุนโดยรวมของบริษัทญี่ปุ่น 2 ใน 3 คาดว่าจะเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และการลงทุนต่างประเทศอาจเพิ่มขึ้น 22.6% เติบโตสองหลักเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน

ความสนใจของต่างชาติก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลตอบแทนในตลาดหุ้นโตเกียวดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนมหาเศรษฐีที่มองตลาดหุ้นญี่ปุ่นในเชิงบวก ส่วนนักลงทุนต่างชาติก็พบโอกาสมากมายในญี่ปุ่น อานิสงค์จากเงินเยนอ่อนค่าและศักยภาพของ upside หรือส่วนต่างจากราคาปัจจุบันกับมูลค่าของหุ้นที่สูงขึ้น

“ดง เฉิน” หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาคจากธนาคารพิกเทต เผยเมื่อเดือน มิ.ย.ว่า หลายบริษัททั่วโลกกำลังกระจายซัพพลายเชนออกจากจีน และอาจเป็นประโยชน์ต่อญี่ปุ่น โดยเฉพาะในภาคส่วนที่ใช้เทคโนโลยีจำนวนมาก เช่น เซมิคอนดักเตอร์

  • เงินเยนแข็งค่า ดับฝันตลาดหุ้น?

“เป็กกี มัก” ผู้จัดการฝ่ายวิจัยของฟิลิป ซีเคียวริตี รีเสิร์ช บอกว่า เงินเยนอาจแข็งค่าในปี 2567

เงินเยนอ่อนค่าตั้งแต่ต้นปีนี้ และมีมูลค่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 1990 ที่ระดับ 151.67 เยนต่อดอลลาร์ จนถึงวันนี้เงินเยนอ่อนค่าแล้ว 7.8%

มักคาดว่าเงินเยนจะแข็งค่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยทั่วโลกเริ่มลดลง ประกอบกับการท่องเที่ยวฟื้นตัว ค่าจ้างที่แท้จริงจริงเพิ่มขึ้น และอัตราการออมสูงที่หนุนเงินเยน

ขณะที่ “ยู แบมบา” หัวหน้าฝ่ายการลงทุนเชิงรุกสำหรับญี่ปุ่น จากแบล็กร็อกอินเวสเมนต์ คิดว่า เงินเยนมีมูลค่าต่ำเกินไป และมีโอกาสแข็งค่าในปีหน้า แต่ไม่เป็นอันตรายต่อตลาดหุ้น

  • ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ในอนาคตคาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อาจเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ และผ่อนปรนมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve)

ภายใต้การบริหารของผู้ว่าแบงก์ชาติคาซูโอะ อุเอดะ ธนาคารได้ผ่อนคลายขีดจำกัดของนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน ส่งผลให้พันธบัตรรัฐบาลมีผลตอบแทนทะลุสู่ระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยอัตราผลตอบแทน JGB อายุ 10 ปี แตะระดับ 0.956% เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2555

อย่างไรก็ตาม อุเอดะยืนยันว่า บีโอเจยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ จนกว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของบีโอเจอยู่ที่ -0.1%

อัตราเงินเฟ้อทั่วประเทศญี่ปุ่นยังคงสูงกว่า 2% เป็นเวลา 19 เดือนติดต่อกัน เงินเฟ้อดังกล่าวยังไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน ซึ่งอยู่ในอัตรา 4% เมื่อเดือน ต.ค. สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย 2% 13 เดือน ติดต่อกัน

“โรนัลด์ เทมเปิล” หัวหน้านักยุทธศาสตร์การตลาดของ Lazard Asset Management ระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 2567 ของตนเองว่า ค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มและตลาดแรงงานตึงตัว อัตราเงินเฟ้อจึงอยู่ในเกณฑ์ดี ตลาดจะคอยจับตาดูบทสรุปของการควบคุม yield curve จากนั้นจะโฟกัสไปที่เมื่อใดบีโอเจจะยกเลิกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ

“โฮมิน ลี” นักยุทธศาสตร์มหภาคอาวุโสจาก Lombard Odier มองว่า ปี 2567 จะเป็นปีที่การเติบโตของค่าจ้างแข็งแกร่ง เนื่องจากความต้องการแรงงานในภาคบริการยังคงมีมาก และความเชื่อมั่นของสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้น และย้ำว่าสมาพันธ์สหภาพแรงงานแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Trade Union Confederation) คาดว่าค่าจ้างจะเพิ่มขึ้น 5% ในช่วงการเจรจาค่าจ้างฤดูใบไม้ผลิปี 2567

การเติบโตของค่าจ้างในญี่ปุ่นจะหนุนการบริโภคและการลงทุนทางธุรกิจ โดยลีคาดว่า เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกจะเติบโต 1.2% ในปี 2567 และการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเป็นเหตุผลเพียงพอที่แบงก์ชาติจะยุติการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ

อ้างอิง:CNBC