‘ตลาดหุ้นญี่ปุ่น’ทำสถิติสูงสุดรอบ 33 ปี ยังมีเสน่ห์น่าลงทุนอีกหรือไม่ 

‘ตลาดหุ้นญี่ปุ่น’ทำสถิติสูงสุดรอบ 33 ปี ยังมีเสน่ห์น่าลงทุนอีกหรือไม่ 

ช่วงเวลาที่เหลือไม่ถึง 5 เดือนปีนี้  "ตลาดหุ้นญี่ปุ่น" มาแรงไม่หยุด  แต่จากความไม่แน่นอนของมหาอำนาจโลก ยิ่งทำให้นักลงทุนมองหาตลาดที่มีเสถียรภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น “ตลาดหุ้นญี่ปุ่น”จึงเป็นตัวเลือกหลักของนักลงทุนทั่วโลกในช่วงเวลานี้

Key Points: 

  • ไตรมาส 2 เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตดี BOJ ปรับท่าที เน้นลดเสี่ยง เศรษฐกิจไปต่อ
  • "ตลาดหุ้นญี่ปุ่น" มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและเงินเยนมีเสถียรภาพมากขึ้น
  • "หุ้นกลุ่มธนาคาร"  ได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น และหากเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตต่อเนื่อง ผลประกอบการของบริษัทในญี่ปุ่น เติบโตดีตามไปด้วย 
  • บริษัทจดทะเบียนของญี่ปุ่น มีเงินสดมากกว่าหนี้สิน ยิ่งทำให้ ROE ดียิ่งขึ้น  
  • นักลงทุนยังต้องคอยทำการบ้านตรวจพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ 

 

 

แต่หลายคนอาจสงสัย"ตลาดหุ้นญี่ปุ่น"จะเพิ่งทำสถิติสูงสุดรอบ 33 ปีไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา จะยังดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกได้อีกหรือไม่ 

"ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์" CEO Jitta Wealth ชี้ให้เห็นว่า " เพราะญี่ปุ่นเริ่มมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญๆ เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง และมองว่าเป็นทิศทางที่ดีในระยะข้างหน้า" 

ไตรมาส 2 เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตดี BOJ ปรับท่าที เน้นลดเสี่ยง เศรษฐกิจไปต่อ

ไตรมาส 2 เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัว 3.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่อเนื่องติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 หลังจากที่ไตรมาสแรกปีนี้ GDP โต 2.7% บ่งชี้สัญญาณเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังขับเคลื่อนไปข้างหน้า แม้ว่าปีนี้ ญี่ปุ่นจะคาดการณ์ GDP ทั้งปีเติบโต 1.3% และเงินเฟ้อคาดจะสูงขึ้น 2.66% สูงกว่ากรอบเป้าหมาย 2%

  BOJ บริหารเสน่ห์ญี่ปุ่น ฟื้นตลาดหุ้นกลับมาเนื้อหอม

 

ตอกย้ำด้วยความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รอบประชุมล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้แสดงความกล้าประกาศผ่อนคลายการควบคุมอัตราดอกเบี้ย โดย BOJ ได้เริ่มปรับเปลี่ยนมาตรการกระตุ้นทางการเงินที่ทำมาอย่างยาวนาน ด้วยการปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างอิสระมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ BOJ ได้ปรับนโยบายการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือมาตรการ Yield Curve Control (YCC) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและคลายการป้องกันอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในระยะยาว โดย BOJ จะเสนอซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีที่ 1.0% ในอัตราคงที่ แทนที่จะเป็นอัตราเดิมที่ 0.5%

นับป็นการส่งสัญญาณว่า ขณะนี้เพดานการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทน 10 ปี ขยายมากถึง 1.0% แล้ว ซึ่งการปรับแผนนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ตอบสนองต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเช่น แรงกดดันด้านราคาหรืออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ในขณะที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษที่ -0.1% และเน้นการสนับสนุนเศรษฐกิจ 

ตลาดมองว่า การดำเนินการของ BOJ สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น กับความจำเป็นในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่งเกิดขึ้น โดย BOJ มีเป้าหมายเพื่อลดการบิดเบือนของราคาพันธบัตรและให้กลไกตลาดมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ปัจจัยบวกดันตลาดหุ้นญี่ปุ่นไปต่อ แม้จะเพิ่งทำนิวไฮรอบ 33 ปี

แน่นอนว่า ความเคลื่อนไหวนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางการตลาดที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา โดยผลตอบแทนพันธบัตรของญี่ปุ่นแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น และหุ้นธนาคารพาณิชย์ของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี

ผลกระทบของการปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าวต่อตลาดหุ้น แน่นอนว่า ในระยะสั้นอาจมีความผันผวนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มขึ้น จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น กดดันกำไรบริษัทญี่ปุ่นในบางส่วน

ประกอบกับเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าได้น้อยลง อาจจะไปกดดันความสามารถด้านการแข่งขันผลกำไรหรือขาดทุนจากค่าเงินของบริษัทได้ แต่ถ้ามองในระยะข้างหน้า

"ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็มีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและเงินเยนมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งหุ้นในกลุ่มธนาคารที่จะได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น และหากเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตต่อเนื่อง ผลประกอบการของบริษัทในญี่ปุ่น ย่อมเติบโตดีตามไปด้วย"

อีกทั้ง การตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายของ BOJ ในครั้งนี้ อาจทำให้คุณเปลี่ยนภาพจำที่เคยคิดว่า ญี่ปุ่นไม่โตหรืออิ่มตัวแล้ว มาเป็นตลาดที่คึกคักและน่าจับตามองก็ได้

สำหรับปัจจัยบวกที่สนับสนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นเติบโตในระยะข้างหน้า ได้แก่  การฟื้นตัวของผลประกอบการบริษัท หรือกำไร (Earning) ของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากโมเมนตัมเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสสองที่ผ่านมา และยังมีแรงส่งจากการเปิดประเทศและค่าเงินเยนที่ไม่แข็งมากนักมีความผันผวนต่ำ

ขณะที่บริษัทจดทะเบียนของญี่ปุ่น ส่วนใหญ่มีเงินสดมากกว่าหนี้สิน ทำให้มีแนวโน้มจะเห็นการเข้ามาซื้อหุ้นคืนของบริษัทเหล่านี้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ ROE ดียิ่งขึ้น  

นอกจากนี้ญี่ปุ่นจะมีการเปิดประชุมสภารอบพิเศษในราวเดือนกันยายนหรือตุลาคมนี้ ซึ่งคาดจะประกาศยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น จึงคาดว่า ในการประชุมของ BOJ จะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในช่วงปีนี้  

อีกหนึ่งแรงหนุนสำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่น คือ การที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะเริ่มโครงการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีสำหรับชาวญี่ปุ่นในปี 2567 อาจทำให้เงินลงทุนเพิ่มจาก 14 ล้านเยนต่อคนเป็น 18 ล้านเยนต่อคน ถือเป็นปัจจัยบวกในระยะยาวที่จะสนับสนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นและดัชนี TOPIX ยังมี Upside ได้อีก ขณะเดียวกันยังมีแผนการปฏิรูปตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้เน้นเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้หุ้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเป็นผลดีในระยะยาว

หากคุณอ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยิ่งมีเสน่ห์น่าลงทุนในระยะยาวอยู่ใช่ไหม

กองทุนบำเหน็จบำนาญญี่ปุ่น ทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ตอนนี้จะพามาดูฝั่งดีมานด์หรือนักลงทุนว่า ต่างหลงเสน่ห์ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกันขนาดไหน 

เมื่อเร็วๆ นี้ นักลงทุนสถาบันรายใหญ่อย่างกองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐบาลญี่ปุ่น (GPIF) โชว์ผลงานในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ด้วยกำไรที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 18.98 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 133,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผลตอบแทนส่วนใหญ่มาจากการลงทุนหุ้นในประเทศและพันธบัตรต่างประเทศ โดยในระหว่างไตรมาส มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุน GPIF นี้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 9.5% สู่ระดับ 219.17 ล้านล้านเยน หุ้นในประเทศเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดโดยเพิ่มขึ้น 14.4% เนื่องจากสัญญาณของอัตราเงินเฟ้อเริ่มทรงตัว

 

และเมื่อต้นปีนี้ กระแสโลกโฟกัสไปที่นักลงทุนระดับตำนานของโลกอย่าง ‘Warren Buffett’ ที่ได้เพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเชื่อมั่นในการเติบโตของบริษัทญี่ปุ่น ตอกย้ำถึงหลักการลงทุนระยะยาวที่ได้วางแผนเอาไว้ในหุ้นญี่ปุ่นอย่างชัดเจน

ตามมาด้วยเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติ หลั่งไหลเข้าลงทุนหุ้นญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นแนวโน้มการเติบโตและโอกาสการลงทุนที่มากขึ้น ผลักดันให้ดัชนี TOPIX สูงสุดในรอบ 33 ปีในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ดัชนีหุ้นทั่วโลกของดัชนี MSCI เพิ่มขึ้น 5.6% ในขณะที่ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 8.3% และดัชนีหุ้นญี่ปุ่น TOPIX เพิ่มขึ้น 14% ผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.37% และพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 0.075% ค่าเงินเยนยังคงลดลงเป็นอัตราใกล้เคียง 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

การปรับตัวขึ้นของตลาดญี่ปุ่นในปี 2566 จะเป็นข้อพิสูจน์ที่ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ญี่ปุ่นยังมีดีที่จะเป็นหนึ่งในประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

วันนี้ "ตลาดหุ้นญี่ปุ่น"  เป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่รอคุณอยู่ ถ้าคุณมองเห็นเสน่ห์ ความลุ่มลึกการบริหารนโยบายการเงินของ BOJ ที่ต้องการปรับสมดุลด้านผลตอบแทนพันธบัตรให้กลับสู่ภาวะปกติเมื่อเทียบกับตลาดโลก และยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตภายใต้ดอกเบี้ยต่ำ ค่อยๆ ให้ภาคธุรกิจปรับตัว และยังสามารถสร้างผลประกอบการให้เติบโตต่อไปได้ ภาพใหม่ในวันนี้ ญี่ปุ่นไม่ได้เป็นตลาดที่หยุดเติบโตอย่างที่หลายคนพูดกันในอดีตแล้ว

นักวิเคราะห์คาดตลาดหุ้นญี่ปุ่นอาจโตแซงช่วง ‘ฟองสบู่’

ส่วนที่ว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นขึ้นมาเยอะแล้วจะไม่มีความเสี่ยงจริงหรือ  "ตราวุทธิ์" กล่ววว่า ส่วนตัวก็ไม่สามารถบอกได้ว่าข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ยอมรับว่า ปีนี้เป็นปีที่เหนือคาดสำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่นจริงๆ

 

ความเสี่ยงมีไหม เราลองมาดูกัน

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2566 ดัชนี Nikkei 225 ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 30,000 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 33 ปี แต่ยังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดตลอดการที่ 38,915 จุด เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2532 ก่อนจะเกิดวิกฤตฟองสบู่ช่วงเวลานั้น แต่ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปัจจุบัน ยังคงห่างไกลความเสี่ยงที่จะเกิดฟองสบู่อย่างในอดีต

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ปัจจุบัน ราคาอสังหาริมทรัพย์ในโตเกียวพุ่งสูงขึ้น ไม่ใช่ปรากฏการณ์ทั่วประเทศ แต่เห็นได้ในบางพื้นที่ในโตเกียวเท่านั้น และเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบหลายทศวรรษเกิดจากต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นจากเงินเยนที่อ่อนค่า และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูง ซึ่งไม่สามารถเรียกว่าภาวะฟองสบู่ได้

และหลังจากการระบาดของ Covid-19 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง การปรับตัวทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2558 มีบริษัทที่มีศักยภาพเติบโตสูง และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่แข็งแกร่ง ทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาสนใจตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น ยิ่งเงินเยนอ่อนค่า ‘นักลงทุนต่างชาติ’ ยิ่งตาเป็นมัน เพราะจะทำให้ต้นทุนการเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นถูกลง และช่วยดันตลาดให้โตอย่างแข็งแกร่งได้อย่างชัดเจน

แต่ที่ละสายตาไม่ได้คือนโยบายทางการเงินของ BOJ และทิศทางค่าเงินเยนที่ยังคงเป็นเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดทิศทางของตลาดหุ้นญี่ปุ่น แต่หากญี่ปุ่นสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อได้อย่างยั่งยืน อาจจะทำให้ญี่ปุ่นยืนกลับมาเป็นคู่แข่งกับจีนได้อีกครั้งในรอบทศวรรษ นี่ก็เป็นอีกเป้าหมายระยะยาวที่ต้องดูกันไป

 ท้ายสุดแล้ว  ธรรมชาติของตลาดหุ้นย่อมมีปัจจัยรอบด้าน คอยสร้างความผันผวนอยู่แล้ว "ตราวุทธิ์" ย้ำว่า

 นักลงทุนยังต้องคอยทำการบ้านตรวจพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ

หากเกิดสถานการณ์ตลาดผันผวน นักลงทุนต้องไปดูตัวเลขต่างๆ ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือธุรกิจนั้นๆ ยังสามารถดำเนินการได้อย่างแข็งแกร่งอยู่หรือไม่

เพราะตัวเลขนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ยืนยันว่า แม้ราคาหุ้นจะปรับลงมาบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าพื้นฐานธุรกิจจะมีแนวโน้มแย่ลงตามราคาหรือหากเกิดในทางตรงกันข้าม จะได้รับมือได้ถูกในสถานการณ์ลงทุนใดๆ ก็ตาม หากคุณมีความเข้าใจในตลาดมากเท่าไร จะช่วยให้คุณลงทุนได้อย่างมีสติ  และช่วยให้จิตใจของคุณแข็งแกร่งบนเส้นทางการลงทุนระยะยาวนี้ นี่คือเสน่ห์ของการลงทุนระยะยาว