สรุป 1 เดือนสงครามอิสราเอล-ฮามาส ความพยายามทางการทูตของสหรัฐไปถึงไหน

สรุป 1 เดือนสงครามอิสราเอล-ฮามาส ความพยายามทางการทูตของสหรัฐไปถึงไหน

วันนี้ (6 พ.ย.) ครบ 31 วันกลุ่มติดอาวุธฮามาสบุกจากกาซาเข้ามาโจมตีในอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 พ.ย. คร่าชีวิตประชาชน 1,400 คน จับเป็นตัวประกันอีกกว่า 240 คนตามข้อมูลของอิสราเอล เป็นเหตุให้อิสราเอลตอบโต้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตกว่า 9,700 คนตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขกาซาดูแลโดยฮามาส

ตั้งแต่วันศุกร์ (3 พ.ย.) แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเดินทางมายังตะวันออกกลางเป็นรอบที่ 2 นับตั้งแต่สงครามปะทุ เขาเดินสายพบผู้นำชาติอาหรับเหมือนเดิม ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของอาหรับและประชาคมโลกให้หยุดยิงทันที วิกฤติด้านมนุษยธรรมในกาซาเหลือจะทานทน 

ภารกิจเสาร์ 4 พ.ย.

บลิงเคนหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศจอร์แดนและอียิปต์ ที่กรุงอัมมานของจอร์แดน ทั้งสามคนร่วมแถลงข่าวแบบแสดงจุดยืนแตกต่าง ซึ่งการแถลงข่าวแบบนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยนัก

ชาติอาหรับย้ำให้หยุดยิงทันทีอ้างว่า การที่พลเรือนเสียชีวิตหลายพันคนไม่ใช่การป้องกันตนเองแล้ว ทั้งยังปฏิเสธไม่คุยลงลึกถึงอนาคตของกาซาถ้ากำจัดฮามาสได้ โดยให้เหตุผลว่าตอนนี้ควรโฟกัสที่ความพยายามยุติการสู้รบเท่านั้น

ส่วนบลิงเคนมีจุดยืนเช่นเดียวกับอิสราเอล 

“การหยุดยิงตอนนี้จะทำให้ฮามาสอยู่ที่เดิม สามารถจัดกลุ่มใหม่ได้และทำแบบเดียวกับเมื่อวันที่ 7 ต.ค. อีก ไม่มีชาติไหนในกลุ่มเรายอมรับได้ จึงสำคัญอย่างยิ่งที่จะย้ำอีกครั้งถึงสิทธิและพันธะในการป้องกันตนเองของอิสราเอล” บลิงเคนกล่าว 

ภารกิจอาทิตย์ 5 พ.ย.

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐข้ามจุดตรวจของอิสราเอลเข้าไปพบกับประธานาธิบดีมาห์มุด อับบาส ของรัฐบาลปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) ที่เมืองรามาลลาห์ในเขตเวสต์แบงก์ จากนั้นเดินทางต่อไปอิรัก

บลิงเคนเผยกับผู้สื่อข่าวในกรุงแบกแดดถึงเรื่องที่ตนได้หารือกับรัฐบาลอิรัก

“ผมพูดชัดว่าการโจมตีหรือภัยคุกคามที่มาจากกองกำลังพันธมิตรของอิหร่านเป็นเรื่องที่มิอาจยอมรับได้อย่างเด็ดขาด สหรัฐกำลังส่งสารไปถึงใครก็ตามที่พยายามฉวยโอกาสความขัดแย้งในกาซา คุกคามบุคลากรของเราที่นี่หรือที่อื่นๆ ในภูมิภาค จงอย่าทำ” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐย้ำ

ภารกิจจันทร์ 6 พ.ย.

บลิงเคนมาตุรกีครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดสงครามอิสราเอล-ฮามาสในวันที่ 7 ต.ค. ท่ามกลางความไม่พอใจของชาวตุรกีที่ออกมาประท้วงหลายครั้ง รวมถึงความไม่พอใจภายในรัฐบาลประธานาธิบดีเรเซป เตย์ยิป เออร์ดวนด้วย ตุรกีถือเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐ เพราะตุรกีเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) แต่ก็เป็นพันธมิตรที่สหรัฐดีลยากมาก เช่น โยกโย้กว่าจะให้สัตยาบันรับสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกนาโต นอกจากนี้สหรัฐยังเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรบุคคลและบริษัทตุรกีที่ช่วยรัสเซียเลี่ยงคว่ำบาตร นำเข้าสินค้าเพื่อใช้ในการทำสงครามกับยูเครน

ในวันนี้เออร์ดวนมีแผนเดินทางไปภาคตะวันออกเฉียงเหนืออันห่างไกลหักหน้าบลิงเคน ส่วนบลิงเคนมีกำหนดพบกับฮาคานฟิดาน รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี

สรุปข้อเรียกร้องอาหรับ-อิสราเอล

ชาติอาหรับประสานเสียงเรียกร้องให้หยุดยิงทันที ด้านอิสราเอลยืนยัน จะยอมระงับศึกชั่วคราวเพื่อมนุษยธรรมเพื่อเปิดทางให้ขนส่งความช่วยเหลือเข้าไปในกาซาเพิ่มเติมก็ต่อเมื่อฮามาสปล่อยตัวประกัน