ถอดประสบการณ์ ‘วีซ่าเชงเก้นดิจิทัล’ เปลี่ยนเกมท่องเที่ยว ‘ยุโรป’

ถอดประสบการณ์ ‘วีซ่าเชงเก้นดิจิทัล’ เปลี่ยนเกมท่องเที่ยว ‘ยุโรป’

“ยุโรป” ใช้วีซ่าเชงเก้นดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่ กระตุ้นท่องเที่ยวยุโรปเฟื่องฟูได้อย่างไร นี่จะเป็นไอเดียให้ 6 จาก 10 ประเทศในอาเซียน ต้องการใช้แบบอย่างวีซ่าเชงเก้น

เมื่อเร็วๆนี้ “ทีโอโดร่า มารินสกา” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมาธิการการเดินทางแห่งสภาพยุโรป (อียู) ถูกตั้งคำถามความคืบหน้าถึงวีซ่าเชงเก้นดิจิทัลตอบโจทย์การเดินทางในปัจจุบัน ซึ่งมารินสกากล่าวยืนยัน การสมัครวีซ่าเชงเก้นในรูปแบบดิจิทัล จะทำให้ชาวต่างชาติสมัครวีซ่าได้ง่ายและสะดวกสบายขึ้น

ล่าสุดในการทำตลาดกับกลุ่มนักท่องเที่ยวอาหรับ จัดขึ้นที่นครดูไบ มารินสกาตั้งข้อสังเกตว่า ชาวต่างชาติที่ต้องการวีซ่าเชงเก้น   มักเจอปัญหาว่าประเทศที่พวกเขาตั้งใจจะเดินทางไปนั้น ไม่สามารถหาช่วงเวลาว่างนัดหมายเพื่อเข้าไปทำวีซ่า เพราะเป็นประเทศที่มีคนขอวีซ่าจำนวนมาก นั่นหมายถึงอาจเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวอาหรับเป็นกลุ่มผู้อำนาจทางการเงินสูง

วีซ่าดิจิทัล ลดดีมานต์ล้น

มาริสกาเล่าปัญหาในช่วงที่ผ่านมาว่า มีนักเดินทางนอกภูมิภาคหลายคนเพียงเพราะต้องการวีซ่าเข้ายุโรป ทำให้หลายครั้งที่ชาวต่างชาติหันไปยื่นขอวีซ่ากับสถานทูตประเทศอื่นๆ ในกลุ่มเชงเก้น  เพราะรู้ว่าง่ายกว่าและมีเวลานัดหมายเพื่อเข้าไปขอวีซ่า ต่างจากประเทศที่พวกเขาตั้งใจจะไปเยือน

“การยื่นขอวีซ่าเชงเกนแบบดิจิทัลจะเป็นตัวเปลี่ยนเกม เพราะจะช่วยให้ขั้นตอนเป็นไปอย่างราบรื่น และจัดสรรการนัดหมายเวลาได้อัตโนมัติ” มารินสกายืนยัน

เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ได้ออกวีซ่าเชงเก้นดิจิทัลให้กับผู้จะเดินทางมาชมการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงปารีสในเร็วๆนี้

ฝรั่งเศสได้ประกาศแผนเปลี่ยนระบบการขอยื่นวีซ่าเป็นออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งได้อนุมัติให้วีซ่าแล้ว 70,000 ครั้ง และสอดคล้องกับแผนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของสหภาพยุโรป

วีซ่าเชงเก้นดิจิทัล เพิ่มยอดเดินทาง

เมื่อปีที่แล้ว สหภาพยุโรปประกาศแผนการเปลี่ยนวีซ่าเชงเก้นเป็นดิจิทัล โดยรัฐมนตรีต่างประเทศอียูได้ให้การรับรองการเปลี่ยนขั้นตอนการยื่นขอวีซ่าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

ถอดประสบการณ์ ‘วีซ่าเชงเก้นดิจิทัล’ เปลี่ยนเกมท่องเที่ยว ‘ยุโรป’

หากย้อนกลับไปถึงที่มาของความตกลงเชงเกน (Schengen Agreement) เป็นความตกลงระหว่างประเทศส่วนใหญ่ในทวีปยุโรปอันให้สัตยาบันเมื่อปี 2528 และมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2538 เพื่ออนุญาตให้ประชาชนราว 400 ล้านคนในประเทศสมาชิกของกลุ่มสามารถเดินทางระหว่างกันโดยไม่ต้องถือหนังสือเดินทางในประเทศที่เป็นภาคีข้อตกลง (เขตเชงเกน)

นอกจากนั้นยังอนุญาตชั่วคราวกับผู้ถือวีซ่าเชงเก้นมีสิทธิในการเดินทางได้ชั่วคราวในประเทศสมาชิกโดยถือวีซ่าดังกล่าว ตามสนธิสัญญาอัมส์เตอร์ดัม ซึ่งเป็นข้อตกลงและตัดสินใจทุกข้อของความตกลงเชงเกนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายของสหภาพยุโรป

วีซ่าเชงเก้น ประกอบไปด้วย 23 ประเทศจาก 27 ประเทศสมาชิกอียู พร้อมด้วยประเทศเพื่อนบ้านอย่างสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์

ก่อนหน้านี้ เฟอร์นันโด กรานเด-มาร์ลาสกา รัฐมนตรีมหาดไทยของสเปน ในฐานะประธานสหภาพยุโรปคนปัจจุบัน กล่าวว่า ระบบวีซ่าออนไลน์ได้ปรับปรุงขั้นตอนการสมัครให้กับนักเดินทางและนักท่องเที่ยว ซึ่งสามารถส่งเอกสารการเดินทาง ข้อมูลและสำเนาผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงข้อมูลไบโอเมตริกซ์ และชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

อย่างไรก็ตาม การใช้วีซ่าเชงเก้นดิจิทัล จะช่วยลดความจำเป็นที่ต้องติดสติกเกอร์ลงในหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต นั่นหมายถึงลดต้นทุน เพิ่มพื้นที่สังคมสีเขียว รวมถึงผู้สมัครขอยื่นวีซ่าได้รวดเร็ว โดยไม่ต้องนัดหมายกับสถานทูต และสถานกงสุลใหญ่ล่วงหน้า

'เศรษฐา' เสนอวีซ่าเดี่ยวเที่ยว 6 ประเทศอาเซียน 

เมื่อเร็วๆนี้ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน หวังจะสนับสนุนการท่องเที่ยวในภูมิภาค จึงเสนอใช้วีซ่าเดี่ยว (Single-visa) แบบสไตล์วีซ่าเชงเก้นกับ 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แผนการนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากวีซ่าเชงเก้นของยุโรป ซึ่งมีเป้าหมายลดความยุ่งยากในการเดินทางจากต่างประเทศ โดยจะอนุญาตให้ผู้ถือวีซ่าเชงเก้นสามารถเดินทางได้อย่างอิสระระหว่างประเทศไทย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เมียนมา และเวียดนามด้วยวีซ่าเดี่ยว

สำหรับประเทศไทยเองได้เริ่มเปิดให้ยื่นขอวีซ่าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว 21 แห่งใน 9 ประเทศได้แก่ จีน อังกฤษ สหรัฐ ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ แคนาดา นอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ก เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนต่างชาติเดินทางมาประเทศไทย

ถอดประสบการณ์ ‘วีซ่าเชงเก้นดิจิทัล’ เปลี่ยนเกมท่องเที่ยว ‘ยุโรป’

'ท่องเที่ยว' สำคัญต่อ ศก.อาเซียน

หากถามถึงรายได้ภาคการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค่อนข้างมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 20% ของการจ้างงานในภูมิภาค

เมื่อปีที่แล้ว แค่เฉพาะ 6 ประเทศนี้ได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวรวมแล้วประมาณ 70 ล้านคน ซึ่งไทยและมาเลเซียมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งวีซ่าสไตล์เชงเก่นจะช่วยให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ในประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ร่วมกับโครงการได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องแยกการขอวีซ่า

"รัฐบาลไทยตั้งเป้าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ได้กว่า 80 ล้านคนภายในปี 2570 ซึ่งมากกว่าปัจจุบันถึง 2 เท่า"

นับตั้งแต่เริ่มรัฐบาลเศรษฐา ไทยได้ลงนามข้อตกลงยกเว้นวีซ่ากับจีน และยังเสนอยกเว้นวีซ่าชั่วคราวให้นักเดินทางจากอินเดีย ไต้หวัน และคาซัคสถาน ดังนั้นข้อเสนอวีซ่าเดี่ยว แสดงให้เห็นถึงการตั้งเป้าหมายไว้สูงกว่า บรรดาโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยว เท่าที่รัฐบาลเศรษฐาเคยมีมา

อุปสรรควีซ่าเชงเก้น 'อาเซียน'

แต่ความพยายามนี้จะต้องเผชิญกับความท้าทายทั้ง   "ความจำเป็นในการอนุมัติร่วมกัน และการขาดหลักเกณฑ์การเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน" ที่เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ นั่นหมายถึงเสี่ยงเกิดอุปสรรคต่อความร่วมมือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ประกอบด้วย 10 ประเทศ ซึ่งมีประวัติความร่วมมืออันยาวนาน ในแง่การดำเนินงานตามกรอบพหุภาคี

ในข้อเท็จจริง อาเซียนไม่เพียงอนุญาตให้พลเมืองในภูมิภาคเดินทางไปยังประเทศในอาเซียนโดยไม่ต้องขอวีซ่าเท่านั้น แต่ยังให้สิทธิในการตั้งถิ่นฐานด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอจากนายกรัฐมนตรีเศรษฐาจะก้าวสู่เป้าหมายได้หรือไม่ คงเป็นการบ้านให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องให้ความชัดเจนและขจัดอุปสรรคที่กล่าวมาข้างต้น

ที่มา : Economictimes, Imidaily