The Imitation Game ดีเอ็นเออังกฤษรากเหง้าเอไอ lหนังเล่าโลก

The Imitation Game  ดีเอ็นเออังกฤษรากเหง้าเอไอ lหนังเล่าโลก

สัปดาห์ก่อนผู้คนในแวดวงเทคโนโลยีและสตาร์ทอัปต่างตื่นเต้นกับงาน Techsauce Global Summit 2023 งานประชุมด้านเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นเดียวกับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ที่จัดงาน UK AI Week Bangkok และปิดฉากอย่างสวยงามด้วยงาน Turing Night ฉายภาพยนตร์เรื่อง The Imitation Game

The Imitation Game  ปี 2014  ผลงานการกำกับของ มอร์เทน ไทล์ดัม (Morten Tyldum) ภาพยนตร์อัตชีวประวัติของอลัน ทัวริง นักคณิตศาสตร์ชาวสหราชอาณาจักร เน้นเรื่องราวตอนที่เขาทำงานอยู่ที่เบลชลีย์ พาร์คระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลอังกฤษมีโครงการลับถอดรหัสลับนาซีจากเครื่องอินิกมา โดยทีมงานสุดยอดอัจฉริยะเพียง 5-6 คนซึ่งอลันเป็นหนึ่งในนั้น แต่ละวันมีพนักงานตรวจจับข้อความจากนาซีเยอรมนีได้เป็นจำนวนมาก หากถอดรหัสข้อความธรรมดาสามัญเหล่านี้ได้ฝ่ายสัมพันธมิตรก็จะทราบได้ว่านาซีจะโจมตีที่ไหนแล้วแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน 

แต่ความยากอยู่ตรงที่เครื่องอินิกมาสามารถเข้ารหัสได้ถึง 15 ล้านล้านแบบ และตั้งรหัสใหม่ทุกเที่ยงคืน ข้อความแรกที่ฝ่ายสัมพันธมิตรตรวจจับได้มักมาในเวลา 6.00 น. เท่ากับว่า พวกเขามีเวลาเพียง 18 ชั่วโมงในการใช้มนุษย์ 5-6 คน ถอดรหัสเหล่านั้นให้ได้ก่อนเที่ยงคืน ไม่เช่นนั้นแล้วทุกอย่างที่ทำมาตลอดวันมีค่าเป็นศูนย์ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีใครทำได้สำเร็จเลย 

ในบรรดาทีมงานสุดยอดอัจฉริยะที่รัฐบาลอังกฤษดึงตัวมาทำงาน มีเพียงอลันคนเดียวที่เชื่อว่า ต้องใช้เครื่องจักรเท่านั้นทำงานนี้ เขาของบประมาณจำนวนมากทุ่มเทสร้างเครื่อง “คริสโตเฟอร์” ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าอลันจะทำได้สำเร็จ ความยากลำดับต่อมาคืองานใหญ่ระดับนี้ไม่มีทางทำคนเดียวได้ ต้องอาศัย “การทำงานเป็นทีม” แล้วคนเนิร์ดอย่างอลันจะทำได้อย่างไร 

เดชะบุญที่อลันเรียนรู้การสร้างมิตรภาพ “ปรารถนาสารพัดในปฐพี เอาไมตรีแลกได้ดั่งใจจง” ทีมงานนำโดยอลันสร้างเครื่องคริสโตเฟอร์ได้ในที่สุด สามารถถอดรหัสข้อมูลล่วงรู้แผนการโจมตีของนาซี ช่วยรักษาชีวิตผู้คนนับล้านและย่นระยะเวลาทำสงครามได้ราวสองปี 

“นี่ถ้าไม่ได้กะเทยนะ คงตายกันหมดโลกแล้ว!!!” เจ เพื่อนเกย์รุ่นน้องถอดบทเรียนทันควันหลังหนังจบ 

เครื่องคริสโตเฟอร์ของอลันกลายเป็นต้นแบบคอมพิวเตอร์ และพัฒนามาเป็นปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่ฮือฮากันในปัจจุบัน เรียกได้ว่าถ้าสืบรากกันแล้ว ดีเอ็นเอของเอไอก็คืออังกฤษ 

“มันน่าทึ่งมากเลยครับเมื่อคิดว่าเรามาไกลขนาดไหนนับตั้งแต่เครื่องกลของทัวริงถอดรหัสอินิกมาได้ตอนต้นทศวรรษ 1940 ถึงวันนี้เอไอใช้กันทั่วโลก ทั้งการดูแลสุขภาพ แก้ปัญหาโลกร้อน และอื่นๆ คาดว่า ภายในปี 2030 เอไอจะมีส่วนสร้างเศรษฐกิจโลกมากถึง 12.2 ล้านล้านปอนด์”เดวิด โทมัส รักษาการเอกอัครราชทูตอังกฤษกล่าวพร้อมย้ำว่า อังกฤษยังคงเป็นผู้นำโลกด้านเอไอเพราะทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1940 เมื่อวัดกันด้วยมาตรวัดส่วนใหญ่ตอนนี้ถือเป็นสุดยอดอันดับสามในโลกของเอไอ เป็นรองก็แต่เพียงสหรัฐและจีนเท่านั้น

“แต่เวลาพูดถึงเอไอ ไม่คิดถึงอังกฤษเลยนะแม่” คอมเมนท์จากอลิซ สาวน้อยคอหนังผู้ชม The Imitation Game รอบนี้เป็นรอบที่ 2 ข้อติติงของเธอน่ารับฟังและมีมุมให้ต้องพิจารณามากไปกว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของอังกฤษ นั่นคือมุมของซอฟต์พาวเวอร์ กล่าวคือ ภาพยนตร์นอกจากพูดถึงผลงานอันยิ่งใหญ่ระหว่างสงครามของอลันแล้วยังพูดถึงแง่มุมชีวิต “ความต่าง” ของเขาด้วย อลันเป็นเกย์ในช่วงเวลาที่สังคมไม่ยอมรับถือเป็นความผิดอาญา ต่อให้ทำผลงานมาดีขนาดไหน แต่เมื่อทางการจับได้ว่าเป็นชายรักร่วมเพศ อลันมีทางเลือกสองอย่าง ถ้าไม่ติดคุกก็ต้องถูกฉีดยาทำหมันและฉีดฮอร์โมนรักษาด้วยยุคนั้นถือว่าการรักเพศเดียวกันเป็นโรคชนิดหนึ่ง แน่นอนว่าอลันเลือกอย่างหลังเพื่อจะได้ใช้ชีวิตสร้างผลงานเป็นประโยชน์กับโลกต่อไป 

น่าเสียดายที่ทางเลือกนี้ไม่ใช่คำตอบ สองปีต่อมาอลันปลิดชีพตนเองด้วยวัยเพียง 41 ปี  สำหรับคนดูช่างเป็นความอยุติธรรมเหลือจะกล่าวที่คนทำประโยชน์ให้กับโลกจำต้องเจอจุดจบแบบนี้ 

ต่อมาในปี 2013 อลัน ได้รับพระราชทานอภัยโทษหลังการเสียชีวิตจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 วันที่ 23 มิ.ย. 2021 ธนาคารชาติอังกฤษเริ่มใช้ธนบัตร 50 ปอนด์รุ่นใหม่ที่มีภาพอลัน ทัวริง นักถอดรหัสและอัจฉริยะคอมพิวเตอร์ปรากฏบนธนบัตรเพื่อเป็นการขอโทษกับสิ่งที่อลันเคยถูกกระทำ 

นี่ต่างหากที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของอังกฤษ การพัฒนาเทคโนโลยีถ้ามีเงินจะทำให้ก้าวหน้าแค่ไหนก็ได้ แต่การมีรัฐบาลที่รู้จักการสำนึกผิดและให้อภัยประชาชนโดยประมุขของรัฐจะมีสักกี่ประเทศที่่กล้าทำ ถ้าทำได้ย่อมถือว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างแท้จริง ซึ่งทั้งหมดนี้คือดีเอ็นเอของอังกฤษ ต้นแบบการปกครองประชาธิปไตยระบบรัฐสภา