One China คืออะไร? ทำไมนโยบาย "จีนเดียว" สั่นคลอนความสัมพันธ์ "สหรัฐ-จีน"

One China คืออะไร? ทำไมนโยบาย "จีนเดียว" สั่นคลอนความสัมพันธ์ "สหรัฐ-จีน"

เจาะที่มา "One China" หรือนโยบาย "จีนเดียว" ทำไมการไปเหยียบแผ่นดินไต้หวันของ "แนนซี เพโลซี" ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ จึงสั่นคลอนความสัมพันธ์ระหว่าง จีน-สหรัฐ-ไต้หวัน อีกทั้งศิลปินชื่อดัง แจ็คสัน หวัง ก็ออกมาแสดงจุดยืนนี้ด้วย

อีกหน้าประวัติศาสตร์โลก! เมื่อ “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เดินทางเหยียบแผ่นดินไต้หวัน เมื่อคืนวันที่ 2 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา ถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนแรกของสหรัฐที่เดินทางเยือนไต้หวันในรอบ 25 ปี ทั้งๆ ที่หลายสิบปีมานี้ สหรัฐได้ดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่บน นโยบาย "จีนเดียว" หรือ "One China Policy" มาโดยตลอด

เรื่องนี้กลายเป็นกระแสร้อนแรงทั้งในสื่อหลักและบนโซเชียลมีเดียในเวลาชั่วข้ามคืน โดยเฉพาะชาวเน็ตต่างแห่แชร์ความเคลื่อนไหวของศิลปินชื่อดัง "แจ็คสัน หวัง" ที่โพสต์รูปข้อความ "One China" ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองของตนด้วย

One China คืออะไร? ทำไมนโยบาย \"จีนเดียว\" สั่นคลอนความสัมพันธ์ \"สหรัฐ-จีน\"

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนย้อนรอยดูต้นกำเนิดและที่มาของ "One China Policy" ว่า ทำไมนโยบายจีนเดียวของสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองไปถึงรัฐบาลสหรัฐและรัฐบาลทั่วโลก 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

One China Policy คืออะไร?

One China Policy หรือ "นโยบายจีนเดียว" คือ นโยบายที่ยืนยันว่ามีเพียงรัฐเดียวที่ใช้ชื่อว่าจีน (สาธารณรัฐประชาชนจีน) เป็นจุดยืนที่จีนยื่นต่อนานาชาติที่ประสงค์จะสานความสัมพันธ์กับจีน และเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐ 

ย้อนกลับไปในปี 1949 ในยุคสงครามกลางเมืองของจีน ขณะนั้นฝ่ายชาตินิยมที่พ่ายแพ้ (ก๊กมินตั๋ง) ล่าถอยไปอยู่เกาะไต้หวัน และตั้งรัฐบาลขึ้นที่นั่น ใช้ชื่อว่า "สาธารณรัฐจีน" ขณะที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่คว้าชัยชนะได้ปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ ใช้ชื่อว่า "สาธารณรัฐประชาชนจีน" ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่าตัวเองเป็นตัวแทนจีนทั้งหมด

หลังการประกาศรัฐบาลจีนทั้งสองแห่งในช่วงแรกๆ รัฐบาลอื่นๆ ในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ ยอมรับไต้หวันมากกว่าจีน เพราะต้องการหลบเลี่ยงจีนที่เป็นคอมมิวนิสต์

แต่ต่อมากระแสการทูตและการเมืองเปลี่ยนทิศทางไป ในช่วงทศวรรษ 1970 สหรัฐเริ่มเห็นถึงความจำเป็นในการสานความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ จึงได้เริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน และตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลไต้หวัน

 

"สหรัฐ" สานสัมพันธ์กับ "จีน" บนพื้นฐาน "One China"

ในขณะนั้น จีนเองก็ยืนยันว่าประเทศที่จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีน ต้องเลือกเพียงจีนเดียวตามนโยบาย One China Policy ส่วนไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ และจะต้องกลับมารวมกันในสักวันหนึ่ง

สหรัฐยอมรับจุดยืนนั้น และประกาศเริ่มความสัมพันธ์กับจีนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อ 15 ธันวาคม 2521 (สมัยประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์) โดยเป็นความสัมพันธ์ที่อยู่บนพื้นฐานของ One China Policy อีกทั้งสหรัฐได้ยุติความสัมพันธ์กับไต้หวัน (ปิดสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงไทเป) แต่ยังคงความสัมพันธ์กับไต้หวันอย่างไม่เป็นทางการ

โดยสหรัฐยอมรับว่ารัฐบาลจีนเป็นรัฐบาลเดียวที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ยอมรับการกล่าวอ้างของจีนที่ว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ขณะเดียวกันก็ไม่สนับสนุนการประกาศเอกราชของไต้หวันด้วย แต่ก็ให้การสนับสนุนด้านอาวุธแก่ไต้หวัน เพื่อเอาไว้ป้องกันตัวเองแผ่นดินจากการรุกราน

การดำเนินนโยบายในลักษณะข้างต้นของสหรัฐ ถือเป็น “ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” (Strategic Ambiguity) โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาสันติภาพระหว่างจีนกับไต้หวัน

One China คืออะไร? ทำไมนโยบาย \"จีนเดียว\" สั่นคลอนความสัมพันธ์ \"สหรัฐ-จีน\"

 

ไต้หวันโดดเดี่ยวในประชาคมโลก

หลังดำเนินนโยบายทางการทูตของสหรัฐในรูปแบบดังกล่าว ประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่ยอมรับไต้หวันว่าเป็นประเทศเอกราช รวมถึงองค์การสหประชาชาติด้วย 

ส่งผลให้ไต้หวันเผชิญกับการโดดเดี่ยวทางการทูตจากประชาคมโลก ไต้หวันต้องใช้ชื่ออื่นในการเข้าร่วมงานสำคัญและสถาบันต่างๆ เช่น การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และการทำการค้าในองค์การการค้าโลก

ไต้หวันยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมกับเพื่อนบ้านประเทศอื่นๆ และใช้ประโยชน์จากสัมพันธ์ทางใจอันยาวนานกับสหรัฐในการต่อรองด้านการค้าต่างๆ  ซึ่งถือว่าสหรัฐ ดำเนินนโยบายจีนเดียวได้อย่างสมดุลในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา 

 

"แนนซี เพโลซี" เยือนไต้หวัน ทำสัมพันธ์ "สหรัฐ-จีน" สั่นคลอน

ล่าสุด! ความสมดุลนั้นเริ่มสั่นคลอน เมื่อ “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เดินทางสู่ไต้หวันเมื่อ 2 ส.ค. 65 ยืนยันความสัมพันธ์ของสหรัฐ-ไต้หวันยังคงแน่นแฟ้น แม้มีเสียงคัดค้านและวิจารณ์หนักจากจีน เหตุการณ์ครั้งนี้จึงสร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลจีน

โดย เพโลซี แถลงว่า การเยือนไต้หวันของเธอในครั้งนี้ไม่ได้ขัดแย้งกับจุดยืนด้านนโยบายของสหรัฐและจุดยืนบนพื้นฐาน "จีนเดียว" อีกทั้งสหรัฐยังคงต่อต้านความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสถานภาพของไต้หวันเพราะไม่ได้สนับสนุนให้ไต้หวันเป็นเอกราช

แต่ทันทีที่เพโลซีเดินทางถึงไต้หวัน รัฐบาลจีนก็ออกแถลงการณ์ตำหนิสหรัฐที่จงใจยั่วยุ และเป็นผู้ทำลายสันติภาพข้ามช่องแคบไต้หวัน และประกาศว่าจะทำการทดสอบขีปนาวุธและจัดการซ้อมรบในบริเวณใกล้กับช่องแคบไต้หวัน ถือเป็นมาตรการที่แข็งกร้าวที่สุดของจีนในรอบหลายสิบปี

สถานการณ์ความตึงเครียดนี้คงไม่จบลงง่ายๆ นานาประเทศยังต้องเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของจีน สหรัฐ และไต้หวันต่อไปว่าจะมีความรุนแรงขึ้นหรือหาทางออกร่วมกันได้อย่างสันติ

-------------------------------------------

อ้างอิง : กรมข่าวทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย, BBC/thai, Bloomberg