วิศนุรักษ์ ชี้ ‘กรีนไฮโดรเจน’ ตลาดใหม่ของพลังงานงานสะอาด

วิศนุรักษ์ ชี้ ‘กรีนไฮโดรเจน’ ตลาดใหม่ของพลังงานงานสะอาด

วิศนุรักษ์ เวชสถล เปิดเผย กรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้โลกบรรลุเป้าหมาย net zero ได้ โดยในปี 2025 จะเป็นทางเลือกใหม่ของตลาดพลังงานสะอาด

ในงานสัมมนา “SUSTAINABILITY FORUM 2024” จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” รศ.ดร.วิศนุรักษ์ เวชสถล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวบรรยายในหัวข้อ Climate Tech for Business ว่า

ตนเองทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับภาครัฐบาล หรือบริษัทต่างๆ ที่จะเข้ามาในเมืองไทยได้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการผลิตพลังงาน ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีนโยบายสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถปรับเปลี่ยนต้นทางของพลังงานดั้งเดิมมาเป็นพลังงานสะอาด

วิศนุรักษ์ ชี้ ‘กรีนไฮโดรเจน’ ตลาดใหม่ของพลังงานงานสะอาด

กฟผ. ตั้งเป้าสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ในปี 2050 และร่วมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในไทยและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการใช้พลังงานสะอาด 

ในปี 2021 กฟผ.และหน่วยงานชั้นนำของไทยและสหรัฐอเมริกาประกอบด้วย กฟผ. บริษัท เอทีอี จำกัด บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก้ กรุ๊ป และบริษัท Bloom Energy Corporation จำกัด ได้ลงนามความร่วมมือพัฒนาไฮโดรเจนเพื่อเป็นพลังงานแห่งอนาคต ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือการใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Green Hydrogen & Carbon Neutrality: การพัฒนาพลังงานสะอาด ร่วมลงทุนกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่มบริษัท เอไอเอฟ กรุ๊ป (AIF Group) ธุรกิจยักษ์ใหญ่จากลาว เพื่อผลักดันไฮโดรเจนให้มาเป็นพลังงานหลักในพื้นที่เขตนวัตกรรม นิคมอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมการผลิตของไทย

"เหตุผลที่พูดถึงกรีนไฮโดรเจนสืบเนื่องมาจาก ไฮโดนเจนมีมานานมากแล้ว โดยกรีนไฮโดรเจนเป็นก๊าซที่ได้จากกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) ซึ่งเป็นการแยกน้ำให้กลายเป็นก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซออกซิเจนด้วยไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด

กรีนไฮโดรเจนเป็นตลาดใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนเดิม จึงทำให้หลายๆ ประเทศมีโอกาสพัฒนาตนเองมาเป็นผู้ค้า เช่น กรณีของประเทศอังกฤษ ในปี 2025 จะเริ่มส่งออกไฮโดรเจน จากเดิมที่เคยเป็นผู้นำเข้าพลังงานแต่ตอนนี้ผันมาเป็นผู้ส่งออกพลังงานแทน 

กรณีของลาว ที่ได้ทำโครงการ Green Hydrogen & Carbon Neutrality ร่วมกับไทย พบว่า ลาวมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า 26,000 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับการผลิตไฮโดรเจน 3.5 ล้านตันต่อปี ค่อนข้างเป็นจำนวนที่ผลิตได้เยอะ อย่างเกาหลีใต้ประกาศว่าปีต่อไปจะนำเข้าไฮโดรเจน 5 ล้านตัน 

ดังนั้น การผลิตไฮโดรเจนของลาวสามารถสร้าง Ecosystem ได้หลายหลากหลาย จุดเด่นอีกอย่างคือ การขนย้ายไฮโดรเจนก็มีราคาที่ถูกกว่าหลายประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มีพร้อมหมดแล้ว

ต่อจากนี้ถ้ามีความจริงจังและตั้งใจทำ คิดว่า ไทย-ลาวอยู่ในประเภทที่สามารถอัปเกรดตนเองเพื่อจะบริหารจัดการพลังงานภายในประเทศ รวมไปถึงการนำคาร์บอนของเราไปเทรดกับตลาดคาร์บอนต่างประเทศ" รศ.ดร.วิศนุรักษ์ ชี้จุดสรุป