5 บิ๊กคอร์ป ชูนวัตกรรมธุรกิจยั่งยืน เร่งอีโคซิสเต็มหนุน ‘เน็ตซีโร่’

5 บิ๊กคอร์ป ชูนวัตกรรมธุรกิจยั่งยืน  เร่งอีโคซิสเต็มหนุน ‘เน็ตซีโร่’

“ความยั่งยืน” เป็นเมกะเทรนด์โลกที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกใหม่ โดยแต่ละบริษัทต่างก็เร่งเดินหน้าเต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมาย ”เน็ตซีโร่“

“กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนาหัวข้อ “SUSTAINABILITY FORUM 2024” ระหว่างวันที่ 13-14 ธ.ค.2566 โดยในช่วง Special talk “ถอดสูตรธุรกิจ สู่ความยั่งยืน Digital Innovation for Sustainability” ได้มีการนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของบิ๊กคอร์ป ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นกลกลสำคัญในการขับเคลื่อน

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคิล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG ยึดหลักความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง GC ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่มีหุ้นส่วนทั่วโลกและขนาดใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับการพาองค์กร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประเทศมุ่งสู่ความยั่งยืนจะต้องตอบสนองเมกะเทรนด์โลก ซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสะอาดที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสูงขึ้น ซึ่ง GC ต้องสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและตอบสนองความต้องการของลูกค้า

ทั้งนี้ GC เน้นกลยุทธ์สำคัญเพื่อสร้างการเติบโตและก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ.2050 ถือเป็นความท้าทายที่ทำได้ผ่านการเร่งความสามารถทางการแข่งขันที่มองความยั่งยืนมาบูรณาการร่วมกับการแข่งขัน

คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC)

นอกจากนี้ GC ตั้งเป้า Net Zero ที่จะไม่สร้างภาระให้คนรุ่นหลัง ซึ่งต้องลดปริมาณคาร์บอนให้ได้ 50% โดยในพอร์ตโฟลิโอด้านผลิตภัณฑ์จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 20% ที่เหลือจะดักจับคาร์บอน หรือ Carbon Capture and Storage (CCS)

“แผนดำเนินงานต้องชัดเจน ซึ่งมีแผนการลงทุน 5-10 ปี ทั้งเงินลงทุน สัดส่วนการประหยัดพลังงาน ความมสามารถการแข่งขันต้องดีขึ้น การเก็บคาร์บอนแล้วนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์”

นายคงกระพัน กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรยั่งยืนต้องสร้างพันธมิตร ตั้งแต่ต้นทาง ทั้ง องค์กร สังคม ชุมชน มหาวิทยาลัย รวมถึงภาครัฐ GC ถือเป็นองค์กรขนาดใหญ่ การร่วมมือกับชุมชน สร้างงาน สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ดังนั้น โดยภาพรวมการที่บอกว่าดีทั่วโลกก็จะต้องดีด้วย ทุกกระบวนการที่ผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์จะต้องคาร์บอนต่ำ คนที่มีส่วนร่วมทั้งหมดจะเกิดความภูมิใจ

“บีไอจี” ชูไฮโดรเจนทางเลือกใหม่

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี กล่าวว่า บีไอจี เป็นบริษัทในเครือแอร์โปรดักส์ (Air Products) จากสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้นำนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม

ทั้งนี้ บีไอจี ร่วมแชร์เทคโนโลยีผ่านเวที COP28 ซึ่งปี 2566 เห็นความร่วมมือทุกภาคส่วน แต่สิ่งที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งยิ่งทำมากยิ่งมีค่าใช้จ่าย แต่อีกข้างที่มองโอกาสผ่าน 3 แผนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งต้องนำมาเพื่อความเติบโตขององค์กร ต้องลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และต้องมาสู่โอกาสที่ได้ดูแลสังคม และมีความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม บีไอจี ได้นำ เอาเทคโนโลยี Climate Technology มาช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านนวัตกรรม อาทิ เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน Carbon Capture and Storage : CCS, ไฮโดรเจน ซึ่งรูบีไอจีตั้งเป้า Net Zero ปี ค.ศ.2050 ปัจจุบันลดได้แล้ว 25%

ปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี

สำหรับสิ่งสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ คือ 1.การลงมือทำในสิ่งที่เชี่ยวชาญ 2.ลงมือแล้วต้องทำให้ใหญ่เพราะต้นทุนพลังงานสะอาดสูง 3.ทำเป็นคนแรก 

ดังนั้น บีไอจีต้องผลักดันไฮโดรเจนที่ขณะนี้ทำในรูปแบบพลังงานเป็นเชื้อเพลิงให้ยานยนต์ เครื่องบิน อุตสาหกรรมเหล็กและเคมี ซึ่งใช้พลังงานสูง

นอกจากนี้ ไฮโดรเจนเป็นธุรกิจใหญ่มีการผลิตใช้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่สหรัฐและไทยราว 3 ล้านตันต่อปี และมีแผนเพิ่มอีก 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งการลงทุนในต่างประเทศ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนในไทยลงทุน 45 ล้านดอลลาร์ โดยการลงทุนในสหรัฐใช้วิธีผลิตเป็นแอมโมเนียเพื่อขนส่งได้ทั่วโลก

“ไทยสามาารถทำคาร์บอนต่ำ 95% โดยร่วมกับกลุ่ม ปตท. โตโยต้า ลดการปลดปล่อยกำมะถัน เปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) แห่งแรกของไทยที่ อ.บางละมุง”

นายปิยบุตร กล่าวว่า อีกเทคโนโลยี คือแพลตฟอร์ม เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจที่ตรวจจับว่าภาคอุตสาหกรรมปล่อยคาร์บอนปริมาณเท่าไหร่ รวมถึงการตรวจจับการใช้พลังงาน วิธีการลดคาร์บอนในรูปแบบตามความเหมาะสมของธุรกิจ และซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านแพลตฟอร์มของบีไอจีได้

“ดับบลิวเอชเอ” เร่งโมเดลธุรกิจยั่งยืน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาเจอคำถามเยอะมากว่าเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเมกะเทรนด์ความยั่งยืน เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหรือการลงทุนกันแน่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีความกังวลว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นต้นทุนประกอบการที่สูงขึ้น

“ดับบลิวเอชเอเรามองว่า Climate Change ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย และไม่ใช่แค่การทำเพื่อลดต้นทุน แต่เป็นการลงทุน และโอกาสในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ทั้งยังได้กลุ่มลูกค้าใหม่”

รวมทั้งได้ประกาศแคมเปญ WHA : WE SHAPE THE FUTURE ซึ่งเกิดจากการต่อยอดการใช้แนวทางการพัฒนาธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน สะท้อนความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี การสร้างคน และการเข้าถึงโอกาส ผ่านการดำเนินงานของ 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจน้ำและพลังงาน และธุรกิจดิจิทัล

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะสนับสนุนการต่อยอดพัฒนาโซลูชันทางธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเสริมความสามารถในการแข่งขันและผลักดันให้ไทยกลายเป็น The World’s Best Investment Destination สำหรับนักลงทุนทั่วโลก

นอกจากนี้ ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน 3 มิติ พร้อมกัน ทั้งมิติสังคม ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ซึ่งการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่ทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

โดยตั้งเป้าขับเคลื่อนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของทุกชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050 การพัฒนาธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น พลังงานสะอาด การทำโครงการ Circular Economy เพื่อให้สอดคล้องนโยบาย BCG การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ

​​จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น

ทั้งนี้ ปัจจุบันมี 3 โครงการ คืบหน้าชัดเจนเป็นรูปธรรม ได้แก่ Green Logistics ที่นำเทคโนโลยีสีเขียวมาปรับใช้กับกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อให้เกิดการการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

Digital Health Tech การพัฒนาแอปพลิเคชัน WHAbit เป็นเครื่องมือดูแลด้านสุขภาพผ่านระบบดิจิทัลที่ช่วยให้ผู้สมัครใช้บริการ สามารถจัดการสุขภาพแบบองค์รวมได้ง่ายขึ้น

Circular Economy การซื้อขายแลกเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้จากผู้ประกอบการหนึ่งไปยังผู้ประกอบการหนึ่ง เพื่อการจัดการวัสดุเหลือใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น รวมทั้ง WHA Emission Trading จะเป็นตัวกลางซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อเป็นโซลลูชันที่ส่งเสริมการลดปริมาณคาร์บอนในอุตสาหกรรม

‘ซีเมนส์’ ชี้ ‘นวัตกรรม’ อาวุธสำคัญ

นางสุวรรณี สิงห์ฤาเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า นวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาด้านความยั่งยืน โดยมีส่วนสำคัญต่อทั้งการเพิ่มความเร็ว ลดต้นทุน ตอบโจทย์ธุรกิจที่มีความแตกต่างหลากหลาย เรื่องของงบประมาณการลงทุนที่หลายฝ่ายมองว่ามีต้นทุนที่สูง เรื่องนี้ขอให้มองเป็นสองด้าน มุมหนึ่งคือความยั่งยืน และอีกมุมคือการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน

“การลงทุนจะได้ทั้งเรื่องของความยั่งยืนและดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน นอกจากจะมีการคืนทุนอย่างแน่นอนแล้ว ยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับธุรกิจด้วย”

สำหรับซีเมนส์ ในฐานะเอนจิเนียริงคอมพานี จุดเร่ิมต้นจะมองที่ตัวเองก่อน จากนั้นมีการประสานงานเพื่อนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้กับทั้งเรื่องของการบริหารจัดการและในทุกๆ ส่วนที่เกี่ยวข้อง จนวันนี้เชื่อว่าสามารถประสานโลกความเป็นจริงกับโลกดิจิทัลไว้ด้วยกัน กระทั่งเดินหน้าไปได้ดีตามเป้าหมายที่วางไว้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาให้ความสำคัญอย่างมากกับการกับการนำเทคโนโลยีมาช่วยในทุกมิติ ปัจจุบัน มากกว่า 90% ของธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการ สามารถตอบโจทย์และสอดคล้องไปกับเป้าหมายเรื่องของความยั่งยืน

สุวรรณี สิงห์ฤาเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ ประเทศไทย จำกัด

ด้านเทคโนโลยีที่นำมาใช้เป็นตัวช่วยเช่น Digital Twin, เมตาเวิร์ส นวัตกรรมอัจฉริยะต่างๆ รวมถึง GenAi ซึ่งได้ร่วมมือกับทางไมโครซอฟท์นำความอัจฉริยะมาช่วยโลกใบนี้

พร้อมระบุว่า ปัจจุบันนอกจากปัญหาโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นแล้ว ทรัพยากรยังมีอยู่อย่างจำกัดและไม่เพียงพอ จากตัวเลขพบว่าความต้องการใช้งานมีมากกว่าที่สามารถผลิตได้ถึง 1.7 เท่า ดังนั้นหากถามว่า “ต้องเร่ิมดำเนินการเมื่อไรดี” คงต้องบอกว่า “ไม่มีคำว่ารอแล้ว”

“แสนสิริ” ชู 3 กลยุทธ์สู่เป้าหมาย Net Zero

นายอุทัย อุทัยแสงสุขประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องของความยั่งยืน (sustainability) หรือแนวคิดความยั่งยืน “ESG” (Environmental, Social, Governance) แสนสิริได้นำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 90%

“จากการเก็บข้อมูลพบว่า ตัวเลขการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากที่สุด คือบ้านของลูกค้าที่มีการใช้พลังงานภายในบ้านล่วงหน้าถึง60ปีข้างหน้าพบว่าแต่ละปีลูกบ้านมีการใช้พลังงานทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง2,788,279ตันต่อปี และเกี่ยวพันกับการสร้างบ้าน รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ”

โดยแสนสิริ ตั้งเป้าหมายสูงสุดสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์หรือ Net Zero ให้ได้ภายในปี 2593 ผ่าน 3 กลยุทธ์ ได้แก่

1. Green Procurement :การเลือกใช้วัสดุ Green Product และเลือกคู่ค้าที่ใส่ใจกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน ใช้วัสดุในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

2. Green Architecture and Design :การออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน สร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย เช่น Cool Living Designed Home นวัตกรรมบ้านเย็นช่วยประหยัดพลังงาน,Zero Waste Design การออกแบบที่ลดการสิ้นเปลืองและลดปริมาณขยะให้มากที่สุด,Universal Design การออกแบบเพื่อทุกคน ทุกวัย,Well Being ด้านคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดของผู้อยู่อาศัย สะอาดปราศจากเชื้อโรค เสริมสร้างที่อยู่อาศัยด้วยนวัตกรรมเพื่อโลกเพื่อสิ่งแวดล้อม 

3. Green Construction :ที่มีขั้นตอนก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อโลก ลดระยะเวลาสร้าง ลดฝุ่น ลดขยะ ลดการปล่อยคาร์บอน

อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) นายอุทัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาแสนสิริลงทุนในธุรกิจรายเล็กที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับแพลตฟอร์มแหล่งพลังงานทดแทน โดยร่วมกับ ion Energy อันดับ1 ติดตั้ง Solar Panel มากที่สุดในอสังหาฯไทย จากปี2565 จำนวน 700 หลัง ปี2566 จำนวน 1,800 หลัง และในปี2567 จำนวน 3,300 หลัง นอกจากนี้แสนสิริยังได้ร่วมกับ Sharge อันดับ1 ติดตั้ง EV Charger มากที่สุดในวงการอสังหาฯไทยจากปี2565 จำนวน 400 หลัง ปี2566 จำนวน 1,050 หลังและในปี 2567 จำนวน 1,800 หลัง