Water Tech โอกาสในวิกฤติ | ต้องหทัย กุวานนท์

Water Tech โอกาสในวิกฤติ | ต้องหทัย กุวานนท์

รายงาน State of Climate Tech ของ PwC ในปีที่ผ่านมาระบุว่า การลงทุนในเทคโนโลยีที่จะลดความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ (Climate Tech) มีสัดส่วนถึง 25% ของเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจร่วมทุนทั้งหมด

โดยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.5 ถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อไตรมาสและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง  

แต่ความท้าทายของการลงทุนใน Climate Tech ยังคงอยู่ที่การลงทุนโดยส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย) ยังเป็นการลงทุนแบบทางอ้อม เช่น ร่วมลงทุนในเครื่องจักร อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน แทนที่จะเป็นการลงทุนในโซลูชันที่จะขับเคลื่อนความยั่งยืนและแก้ปัญหาได้โดยตรง เช่น เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน การลดการใช้พลังงานไฟฟ้า การลดการปล่อยของเสีย และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด 

ในปีนี้ สปอตไลท์กำลังฉายไปที่เซ็กเตอร์ของ Water Tech เพราะถึงแม้ว่าการลงทุนในสตาร์ตอัปด้าน Water Tech ยังมีสัดส่วนน้อยมากแค่เพียง 1% ของการลงทุนในด้าน Climate Tech ทั้งหมด

แต่การที่มีสตาร์ตอัปภายในกลุ่มนี้สามารถระดมทุนได้ถึง 225 ล้านดอลลาร์และมีมูลค่าธุรกิจก้าวสู่การเป็นยูนิคอร์นเป็นรายแรก เริ่มเป็นสัญญาณที่ดีว่า นักลงทุนเริ่มมองเห็นความสำคัญของปัญหาเรื่อง “น้ำ

ข้อมูลจาก WHO ระบุว่าภายในปี 2030 ประชากรโลกกว่า 40% จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น หลายองค์กรให้ความสำคัญกับการนำเอา Water Tech มาเป็นโซลูชันเพื่อลดการใช้ทรัพยากรน้ำและเติมน้ำสะอาดกลับคืนสู่แหล่งน้ำ

Water Tech โอกาสในวิกฤติ | ต้องหทัย กุวานนท์

เช่น Pepsi Co ร่วมมือกับ Aquacycl สตาร์ตอัปที่ใช้เทคโนโลยี Bio Electrochemical เพื่อบำบัดน้ำเสีย โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ใช้น้ำสุทธิเป็นบวก Microsoft ใช้เทคโนโลยี AI for Earth เพื่อการวิเคราะห์พื้นที่แหล่งน้ำ และล่าสุดร่วมมือกับ Impact X VC ในการสนับสนุนโครงการของสตาร์ตอัปที่พัฒนาเทคโนโลยีด้าน Water Tech

ที่ผ่านมาการที่ Water Tech ยังไม่ได้อยู่ในจอเรดาร์ของ VC เพราะต้นตอของปัญหาเรื่องน้ำที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ยังอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของภาครัฐ ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเร่งหาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ อีกทั้งต้นทุนการผลิตและการใช้น้ำที่ยังไม่ได้สูงมากทำให้มูลค่าธุรกิจของสตาร์ตอัปในกลุ่มนี้ดู “ไม่เร่งด่วน” และไม่ดึงดูดใจ

แต่สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากวิกฤติน้ำในฝั่งยุโรปและอเมริกาส่อแนวโน้มว่า Water Tech อาจกำลังเข้าสู่ยุคทอง มีสตาร์ตอัปหลายรายที่เริ่มได้รับเงินลงทุนเกิน 50 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

อย่างเช่น Gradiant จากสหรัฐ Orbital systems จากสวีเดน และมีกองทุนเปิดใหม่หลายกองทุนที่ประกาศตัวเป็น Water Fund โดยลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง ด้วยเม็ดเงินที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าใน 2-3 ปีก่อนกว่าเท่าตัว

โอกาสที่ซ่อนอยู่ของการเข้าสู่ตลาด Water Tech ในระยะนี้คือ การเร่งหาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางธุรกิจสูงและกำลังมีปัญหาใหญ่ในเรื่องการบริหารจัดการปริมาณและคุณภาพของน้ำ เช่น อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ 

การนำเอาโซลูชันไปใช้งานในจุดที่สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้ในระยะสั้น จะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างฐานธุรกิจเพื่อรองรับดีมานด์ที่จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวในระยะยาว