สององค์กรสายกรีน แชร์แนวคิด 'เศรษฐกิจหมุนเวียน'

สององค์กรสายกรีน แชร์แนวคิด 'เศรษฐกิจหมุนเวียน'

สอวช.เปิดประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน กับสองซีอีโอจากโรงแรมศิวาเทลและสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กฯ เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เตรียมความพร้อมประเทศไทยรับมือกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต

162679081956

รายการ Future Talk by NXPO ครั้งที่ 3 ประเด็น “Circular Economy เทรนด์ใหม่ของธุรกิจสู่ความยั่งยืน” กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) กล่าวว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องใกล้ตัวและจะมีความสำคัญมากในอนาคต แต่ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราทำ เพียงแต่จะต้องปรับวิธีการคิดใหม่ ไม่ใช่หวังเพียงกำไรระยะสั้นเท่านั้น แต่มองไปถึงการทำธุรกิจที่จะเกิดความยั่งยืน และเกิดประโยชน์องค์รวมต่อสังคม ภาคธุรกิจและคนรุ่นหลังทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า โดยอาจเริ่มจากการลองวิเคราะห์ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ อะไรที่ไม่ยั่งยืน อะไรที่เป็นการสูญเสียจะแก้อย่างไร และอะไรที่เป็นโอกาสจะขยายอย่างไร รวมถึงคนที่อยู่รอบตัว ทำงานร่วมกับเรา ให้ได้ประโยชน์ไปพร้อมๆ กัน

162679087910

สร้างสมดุลเพิ่มโอกาสธุรกิจ

อลิสรา ศิวยาธร ผู้บริหารโรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ ตัวแทนภาคธุรกิจที่เริ่มทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า ธุรกิจโรงแรมเป็นการสานต่อธุรกิจครอบครัว ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ก่อตั้งโรงแรม ครอบคลุมทั้งเรื่องการใช้ทรัพยากรและการบริหารจัดการขยะ โดยเริ่มต้นจากการชั่งน้ำหนักขยะของโรงแรมตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้ว เนื่องจากเกิดการตระหนักว่าแต่ละเดือนโรงแรมผลิตขยะทุกชนิดรวมกันเดือนละประมาณ 8,000-10,000 กิโลกรัม จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการหาแนวทางลดขยะ

หลังจากดำเนินการมา 6 ปี ลดขยะลงได้ 75-80% แต่ขยะกลุ่มสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่เป็นจำนวนมากที่สุดคือ ขยะเศษอาหาร จึงเป็นที่มาที่เริ่มสนใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ขณะเดียวกันยังมีแผนการดำเนินงานในการนำขยะเศษอาหารมาทำเป็นปุ๋ย ใช้ปลูกผักในโรงแรมเป็นสวนบนดาดฟ้า และภายใน 4-5 ปีข้างหน้า เรื่องของ Zero Food Waste เป็นเรื่องที่โรงแรมจะให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก รวมถึงการมองย้อนกลับไปถึงกระบวนการทำงานในการออกแบบเมนูอาหารทั้งหมดของโรงแรม ให้เหลือขยะเศษอาหารออกมาให้น้อยที่สุด

162679083744

“ความท้าทายคือการใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในกระบวนการทำอาหาร ใช้วัตถุดิบแต่ละอย่างมาเป็นเมนูอาหารให้ได้มากที่สุด คุ้มค่าที่สุด อาทิ กระดูกปลา เชฟของโรงแรมจะนำไปอบให้แห้ง เผา แล้วเอาไปทำเป็นส่วนผสมของซอสเทอริยากิ นอกจากจะช่วยลดขยะเศษอาหารแล้วยังเป็นจุดดึงดูดความสนใจผู้บริโภคอีกด้วย ส่วนผลกระทบด้านบวกที่เกิดขึ้นคือลดต้นทุนได้ กำไรเพิ่มขึ้น ถ้าผู้ประกอบการรายอื่นสนใจจะเริ่มนำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ในธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยอดขายอาจจะไม่มาก ควรกลับไปทบทวนกระบวนการทำงานทั้งหมดว่าที่ผ่านมาสูญเสียอะไรไปบ้าง และหยิบตรงนั้นกลับมาทำให้เป็นสินค้าหรือบริการใหม่ ต่อยอดสู่การสร้างแหล่งรายได้ควบคู่ไปกับการช่วยลดต้นทุนขององค์กร”

อลิสรา กล่าวต่อไปว่า แนวความคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนจะทำให้สามารถทบทวนการทำงานของตนเองได้ว่า มีส่วนใดที่จะนำมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ แต่เดิมอาจจะโฟกัสเพียงขยะปลายทาง แต่เมื่อปรับกระบวนการทางความคิดนอกจากจะมีเครื่องมือช่วยให้เรียบเรียงความคิดได้เป็นระบบมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องคิดให้ครบมองหาโอกาสจากกระบวนการทำงานที่เกิดขึ้น ปรับกระบวนการในการลงมือทำ เชื่อมโยงกับคนที่อยู่ในวงจรธุรกิจ ทำให้สามารถลดต้นทุน และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อก้าวข้ามไปในช่วงวิกฤติเช่นนี้ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจนของแบรนด์ในใจลูกค้าอีกด้วย

ปรับวิธีคิดทั้งกระบวนการ

162679085088

ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคธุรกิจของประเทศไทยมีมาในระดับหนึ่งแล้ว ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นแนวคิดแบบองค์รวม แต่กระแสในการขับเคลื่อนร่วมกันเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน จำนวนผู้เข้าร่วมจึงยังมีไม่มาก 

หากมองในแง่ของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นนวัตกรรมทางความคิด เป็นวิธีการคิดใหม่ ทำใหม่ เป็นแนวทางจัดการทรัพยากรที่ต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ ก็สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นแนวคิดที่เหมาะสมกับธุรกิจที่กำลังจะมองหาโอกาสในการเติบโตในอนาคต ยกตัวอย่างสมาชิกของสมาคมฯ เช่น เอสซีจี ก็หันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้นเช่นกัน

สำหรับรูปแบบในการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในภาคธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงตามบริบทของสังคมไทย ในช่วงแรกอาจจะมองเรื่องการจัดการของเสีย แต่เมื่อย้อนกลับมาคิดแล้ว ควรคำนึงถึงการจัดการตั้งแต่ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการบริการ มองกลับมาที่วัตถุดิบ สร้างสมดุลของเศรษฐกิจ ด้วยการทำให้ต้นทุนของการผลิตต่ำลง และธุรกิจยังอยู่ได้เรื่อยๆ นวัตกรรมความคิดด้านนี้จะทำให้ภาคธุรกิจมองการทำงานไปในระยะยาวตลอดกระบวนการผลิต จึงเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดแบบใหม่ให้กับการดำเนินธุรกิจ มีแผนภูมิการเชื่อมโยงของกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่ต้นทาง

162679089630

“ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องลองตั้งคำถามถามตัวเองว่า การทำธุรกิจในวันนี้จะเป็นภาระอะไรให้กับสิ่งแวดล้อมหรือลูกหลานในอนาคตหรือไม่ หากสามารถทำธุรกิจที่ไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น และลูกหลาน ธุรกิจนั้นจะอยู่รอด นอกจากนี้เศรษฐกิจหมุนเวียนจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน หากจับมือกันจะเป็นการพึ่งพาอาศัยกันเป็นองค์รวมดังนั้นการเชื่อมโยงวงจรเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้จะเกิดประโยชน์ได้จริงจากการสนับสนุนของทุกฝ่าย”