'เศรษฐกิจหมุนเวียน' กับแนวปฏิบัติที่ดี ใน 'ญี่ปุ่น'

'เศรษฐกิจหมุนเวียน' กับแนวปฏิบัติที่ดี ใน 'ญี่ปุ่น'

ที่ผ่านมา สอวช. ได้มีการนำเสนอประเทศที่นำเอาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ ซึ่งเป็นประเทศที่ล้วนแต่อยู่ในทวีปยุโรป ได้แก่ ประเทศเนเธอแลนด์ และประเทศฟินแลนด์ แต่ในเอเชียมีประเทศที่นำเอาโมเดลนี้ไปใช้แล้วเช่นกัน นั่นคือ 'ญี่ปุ่น'

ประเทศญี่ปุ่นมีการตั้งคณะทำงาน Circular Economy Vision ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry : METI) มีตัวแทนจากภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย เป็นองค์ประกอบหลัก มีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลง ความท้าทายต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ

จากผลการศึกษาของคณะทำงาน พบว่า ประเทศญี่ปุ่นมีการสนับสนุน 3R (Reduce Reuse Recycle) มาตั้งแต่ปี 2542 จึงทำให้มีความเข้มแข็งในด้านนี้เป็นทุนเดิม อย่างไรก็ตาม 3R ในอดีต จะเน้นด้านการลดปริมาณการปล่อยของเสียที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ปัจจุบันควรต่อยอดด้วยการใช้ 3R เป็นฐานในการช่วยเพิ่มมูลค่าและลดปริมาณการใช้วัตถุดิบ โดยการออกแบบให้มีความสอดคล้องกันตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก

จากรายงาน Circular Economy Vision 2020 ระบุทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนของญี่ปุ่นไว้ 3 แนวทาง ได้แก่
1. ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้คำนึงถึงหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น โดยให้ธุรกิจต้นน้ำเน้นการออกแบบให้เหมาะสมตลอดทั้งวงจรชีวิต ส่วนธุรกิจปลายน้ำให้เปลี่ยนรูปแบบจากการ recycle มาเป็น resourcing นำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาแปรเป็นวัสดุคุณภาพสูงเพื่อป้อนอุตสาหกรรมต้นน้ำได้
2. สร้างการยอมรับจากตลาดและสังคม โดยการเผยแพร่ข้อมูลระดับบริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจบนหลักการที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้ได้รับการยอมรับและดึงดูดนักลงทุน และสร้างการยอมรับจากผู้บริโภค
3. เร่งสร้างระบบหมุนเวียนที่มีความยืดหยุ่นทั้งในและต่างประเทศ โดยได้ระบุอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและควรริเริ่มก่อนได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก เส้นใย คาร์บอนไฟเบอร์ (CFRP) แบตเตอรี่ และแผงโซลาร์เซลล์
ขอบคุณข้อมูลจาก : (ร่าง) สมุดปกขาว การพัฒนาระบบเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน: โปรแกรมปักหมุดเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมธุรกิจและเทคโนโลยี สามารถอ่าน (ร่าง) ฉบับเต็มได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/report/6724/