ปูนซีเมนต์นครหลวง หนุนฝึกช่างก่อสร้างเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ปูนซีเมนต์นครหลวง หนุนฝึกช่างก่อสร้างเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือกับบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) เร่งฝึกทักษะช่างก่อสร้างปี 66 อีก 700 คน สนับสนุนปูน 100 ตันมูลค่ากว่า 200,000 บาท  

 

วันที่ 30 สิงหาคม 2565  กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน บูรณาการร่วมเครือข่ายเอกชนพัฒนาฝีมือแรงงานในสาขาช่างก่อสร้าง ให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะฝีมือที่สูงขึ้นยกระดับเป็นแรงงานคุณภาพ โดยมี นายประทีป  ทรงลำยอง  อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานกลุ่มช่างก่อสร้าง ระหว่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับ นายศิวะ  มหาสันทนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) และมีผู้บริหารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติในพิธีดังกล่าว 

นายประทีป เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การดำเนินกิจการของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องชลอตัว ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ผู้ประกอบกิจการหลายแห่งฟื้นตัวพร้อมปรับปรุงอาคารสถานที่ มีการตกแต่งอาคารให้สวยงาม และพนักงานเข้าทำงานเป็นปกติพร้อมให้บริการประชาชน  

 

  • เพิ่มทักษะช่างก่อสร้าง รับโครงสร้างพื้นฐาน 

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการก่อสร้างอาคารใหม่หลายแห่ง รวมถึงมีการปรับปรุงอาคารสิ่งก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบกิจการรับเหมางานก่อสร้าง มีความต้องการแรงงานด้านก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว  กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจึงร่วมกับบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) จัดอบรมพัฒนาทักษะฝีมือด้านช่างก่อสร้างให้แก่แรงงานในพื้นที่

โดยบริษัทมอบปูนสนับสนุนการฝึกจำนวน 100 ตันมูลค่า 200,000 บาท เพื่อใช้เป็นวัสดุฝึกอบรมในปี 2566 เป้าหมายดำเนินการ 700 คน  และที่ผ่านมาในปี 2565 มีฝึกอบรมด้านช่างก่อสร้างไปแล้ว จำนวน 780 คน ในพื้นที่ 20 จังหวัด ดำเนินการ ได้แก่ ลำพูน สุราษฎร์ธานี เชียงราย พระนครศรีอยุธยา กาฬสินธุ์ สุรินทร์ ชุมพร ตรัง ยโสธร กาญจนบุรี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี สกลนคร นครศรีธรรมราช สงขลา แพร่ เชียงใหม่ เพชรบุรี เพชรบูรณ์ และอุดรธานี ในหลักสูตรต่าง ๆ เช่น การปูกระเบื้อง การเทพื้นคอนกรีต การก่ออิฐฉาบปูน การทำคอนกรีตเสริมเหล็ก และการทำคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ เป็นต้น

 

  • บูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและภาคเอกชน

นายประทีป กล่าวต่อไปว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการย้ำถึงการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพให้แก่แรงงานไทย ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนทั้งวิทยากร เครื่องมือและอุปกรณ์ในการฝึกอบรมจากภาคเอกชน ช่วยให้กำลังแรงงานของประเทศได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งผลิตภัณฑ์ที่บริษัทสนับสนุนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการดำเนินงานตามแนวนโยบายของรัฐบาลและนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งเน้นให้กำลังแรงงานมีศัยภาพแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อการเลือกใช้วัสดุที่ปลอดภัย หรือใช้วัสดุต่างๆ ในการฝึกอบรมต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนในระยะยาวอีกด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกแห่งทั่วประเทศ โทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4