กพร. ลงนาม เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ รับเงื่อนไขเพิ่มเติมตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม

กพร. ลงนาม เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ รับเงื่อนไขเพิ่มเติมตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม

กพร. ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก อาเซียน โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยินยอมรับเงื่อนไขที่กำหนดเพิ่มเติมในประทานบัตร ตั้งกองทุนเพื่อดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม วงเงินกว่า 3,500 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการ หวังหนุนโครงการเหมืองโพแทชลดต้นทุนปุ๋ยแพงระยะยาว

นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 กพร. ลงนามในบันทึกข้อตกลง “ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการและเงื่อนไขตามที่กฎหมายและสัญญากำหนดไว้และเงื่อนไขที่กำหนดเพิ่มเติมเป็นเงื่อนไขในประทานบัตร” กับ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่นจำกัด โดยมีนายวรวุฒิ  หิรัญยไพศาลสกุล ผู้จัดการใหญ่ บริษัทฯ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง

ทั้งนี้ การลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 รับทราบผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี และให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายให้เกิดความโปร่งใส และกำกับดูแลผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ 

โดยคณะกรรมการแร่ได้ให้ความเห็นชอบในการอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่โพแทช จำนวน 4 แปลง ของบริษัทฯในจังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 พร้อมทั้งได้กำหนดเงื่อนไขและมาตรการเพิ่มเติมให้ผู้ถือประทานบัตรต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยได้มีการกำหนดกองทุนเพื่อการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม จำนวน 11 กองทุนเป็นเงินกว่า 3,500 ล้านบาทตลอดอายุโครงการ 

รวมทั้งให้มีคณะทำงานร่วมตรวจสอบกำกับดูแลการทำเหมือง ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้แทนจากผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งบริษัทฯ ต้องจัดทำประกันภัยความรับผิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลภายนอก และวางหลักประกันการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมืองและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง 

“กพร. กำชับให้บริษัทฯ ประกอบกิจการให้เป็นไปตามกฎหมายแร่และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขสิ่งแวดล้อมที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ให้ความเห็นชอบ เช่น มาตรการป้องกันผลกระทบจากฝุ่นเกลือ กองเกลือ น้ำเค็ม และการลดระดับของผิวดินที่กำหนดเพื่อป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชนและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่”

สำหรับการอนุญาตประทานบัตรดังกล่าวข้างต้น เป็นไปเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมของไทยให้มีวัตถุดิบแร่โพแทชเพื่อทดแทนการนำเข้า แก้ปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยและปุ๋ยแพงในปัจจุบันและช่วยลดต้นทุนภาคเกษตรกรรมในระยะยาว ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ และยกระดับรายได้ ตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนบริเวณใกล้เคียงให้ดีขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองจากสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้บริษัทฯ ต้องดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย เพื่อให้การประกอบกิจการได้รับการยอมรับและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ในส่วนของโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ถือเป็นเหมืองแร่ขนาดใหญ่โดยเหมืองดังกล่าว มีแผนการผลิต 2 ล้านตันต่อปี โดยประเมินว่า จะมีปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 25 ปี อยู่ที่ 33.67 ล้านตัน เบื้องต้นมีมูลค่าการลงทุนของโครงกสารประมาณ 36,000 ล้านบาท