ฝุ่น PM2.5 ค่าสูงระดับสีแดง เด็กเล็กเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง

ฝุ่น PM2.5 ค่าสูงระดับสีแดง เด็กเล็กเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง

กรมอนามัย เผย ค่าฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือตอนบน เกินมาตรฐาน สูงระดับสีแดง แนะช่วงปิดเทอม พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องดูแลเด็กให้เลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ยังคงพบเกินมาตรฐานในจังหวัดภาคเหนือตอนบนอย่างต่อเนื่องใน 9 จังหวัด ได้แก่

  1. เชียงราย
  2. เชียงใหม่
  3. ลำปาง
  4. ลำพูน
  5. แม่ฮ่องสอน
  6. น่าน
  7. แพร่
  8. พะเยา
  9. ตาก

เนื่องจากสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ รวมทั้ง การเผาป่าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีค่าฝุ่นสูงสุด ที่ 140 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีจำนวนวันที่ค่าฝุ่นอยู่เกินมาตรฐานสูงสุดจำนวน 19 วัน และมีค่าฝุ่นอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) สูงถึง 11 วัน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบาง โดยองค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่า เด็กอายุ 0–5 ปี ทั่วโลก เสียชีวิตปีละกว่า 570,000 คน
เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันและปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ อีกทั้งเด็กจะมีอัตราการหายใจมากกว่าผู้ใหญ่ และมักเล่น อยู่กลางแจ้ง หากอยู่ใกล้แหล่งกำเนิด PM2.5 อาจก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก ซี่งการเจ็บป่วยตั้งแต่วัยเด็ก ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยแบบเรื้อรังตลอดในช่วงวัยผู้ใหญ่ได้

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากฐานข้อมูลเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ (HDC) ของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2564 มีรายงานจำนวนเด็กอายุ 0-9 ปี ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 27,550 ราย และจังหวัดแม่ฮ่องสอนจำนวน 2,688 ราย ซึ่งช่วงนี้เด็กปิดเทอม ทำให้เด็กมีเวลาทำกิจกรรมนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น เช่น การวิ่งเล่น กระโดด ปีนป่าย ทั้งที่สนามเด็กเล่น สนามกีฬา และลานกิจกรรม พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงควรตรวจสภาพอากาศ หากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินมาตรฐาน ควรเปลี่ยนให้เด็กทำกิจกรรมในบ้านแทน ลดการออกนอกอาคาร สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น ปิดประตูหน้าต่าง กินอาหารที่มีประโยชน์และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ 

หากเด็กมีอาการผิดปกติ เช่น ระคายเคืองผิวหนัง แสบตา แสบจมูก น้ำมูกไหล ไอ คอแห้ง เจ็บคอ หายใจลำบาก อึดอัดแน่นหน้าอก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียน ให้รีบพาไปพบแพทย์ หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน สำหรับเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอด หรือโรคหัวใจ ให้พกยาติดตัวเสมอ

“ทั้งนี้ กรมอนามัยได้จัดทำชุดข้อมูลความรู้ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งดาวน์โหลด ได้ที่เว็บไซด์กรมอนามัย รวมถึงประเมินอาการจากการรับสัมผัสฝุ่นละออง เพื่อเฝ้าระวังอาการ และให้คำแนะนำ ในการดูแลสุขภาพของเด็กได้ที่ (คลิก) ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด