ลำดับเหตุการณ์"น้ำมันรั่ว" ปัญหาซ้ำซากที่ต้องรีบแก้ไข

ลำดับเหตุการณ์"น้ำมันรั่ว" ปัญหาซ้ำซากที่ต้องรีบแก้ไข

เหตุการณ์ "น้ำมันรั่ว" มีที่มาที่ไปอย่างไร นอกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในอนาคตจะมีมาตรการป้องกันหรือไม่ เนื่องจากมูลค่าความเสียหายมหาศาล

กลางดึกวันที่ 25 มกราคม 2565 เวลา 22:10 น.สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (สทร.) ได้รับแจ้งเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่น SPM ห่างจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 10.5 ไมล์ทะเล (16.898 กม.) บริษัทแจ้งว่า น้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อที่ใช้ในการโหลดจากเรือ ขออนุมัติฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน Dispersant 4 หมื่นลิตร เพื่อทำให้น้ำมันแตกตัว

เหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเลของ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (SPRC) ที่ตั้งอยู่ในท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ไม่ใช่ครั้งแรก 

ในปี 2540 บริษัท สตาร์ ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) เคยเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลในทะเลระหว่างขนถ่ายน้ำมันจากเรือสู่สถานีน้ำมันดิบของบริษัทมาแล้วกว่า 160,000 ลิตร

และย้อนไปวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 มีเหตุการณ์ท่อรับน้ำมันดิบของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) รั่วไหลกลางทะเลด้านทิศเหนือและตะวันตกของเกาะเสม็ด จ.ระยอง 50,000 ลิตร หรือ 50 ตัน แต่เมื่อเทียบกับครั้งนี้ (25 มกราคม 2565) หนักกว่าถึง 3 เท่า

ลำดับเหตุการณ์\"น้ำมันรั่ว\" ปัญหาซ้ำซากที่ต้องรีบแก้ไข

  • การจัดการน้ำมันรั่ว 

เช้าวันที่ 26 มกราคม 2565 วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.), ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง, กองทัพเรือภาคที่ 1 ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล จ.ระยอง (ศร.ชล.จว.รย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ลงพื้นที่ดูสถานการณ์ บริษัท SPRC คำนวณว่าปริมาณที่รั่วไหล 1.6 แสนลิตร หรือ 128 ตัน คิดเป็น 0.04% ของน้ำมันในเรือ มีความจุประมาณ 3.2 แสนตัน

วันที่ 27 มกราคม 2565 สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข, ชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง, วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.ได้ประชุมหาแนวทางแก้ไขและมาตรการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ

บริษัท SPRC ส่งนักประดาน้ำสำรวจจุดเกิดเหตุ พบว่า เกิดการรั่วไหลบริเวณท่ออ่อนส่งน้ำมันด้านล่าง (Submarine Hose) ที่ไม่สามารถหาจุดเกิดเหตุได้ เพราะท่อดังกล่าวมีอายุใช้งาน 26 ปีไม่มีเซ็นเซอร์บอกจุดที่รั่วไหลเหมือนท่อรุ่นใหม่

ซึ่งท่อและทุ่นอยู่ในความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่า ที่กำกับดูแลอนุญาต ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลด้านโรงงานและโรงกลั่น

ลำดับเหตุการณ์\"น้ำมันรั่ว\" ปัญหาซ้ำซากที่ต้องรีบแก้ไข กรมควบคุมมลพิษ ใช้แบบจำลอง OilMap ทำนายการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันในทะเล หากไม่มีการควบคุมป้องกัน จะเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งทะเลบริเวณหาดแม่รำพึง เขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด ในวันที่ 28 มกราคม 2565 ปริมาณ 100,000 ลิตร

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA แสดงภาพถ่ายดาวเทียม เวลา 10:40 น. พบกลุ่มก้อนน้ำมันกระจายเป็นวงกว้างบริเวณอ่าวมาบตาพุด มีพื้นที่ 11.65 ตร.กม.(7,280 ไร่) หรือ 2 เท่าของเกาะเสม็ด อยู่ห่างชายฝั่งเมืองระยอง 16.5 กม.

  •  ดักและดูดน้ำมันรั่ว

วันที่ 27 มกราคม 2565 ภาพถ่ายดาวเทียม GISTDA แสดงภาพเวลาเวลา 18:23 น. พบคราบน้ำมันมีบริเวณกว้างขึ้น พื้นที่ 47 ตารางกิโลเมตร (29,506 ไร่) หรือ 9 เท่าของเกาะเสม็ด

เคลื่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างชายฝั่งระยอง 6.5 กิโลเมตร ห่างเกาะเสม็ด 12 กิโลเมตร คาดว่าจะขึ้นฝั่งวันที่ 28 มกราคม ส่งผลกระทบชายฝั่งเมืองระยอง ชายหาดแม่รำพึง และพื้นที่ชายหาดใกล้เคียง   

ลำดับเหตุการณ์\"น้ำมันรั่ว\" ปัญหาซ้ำซากที่ต้องรีบแก้ไข พล.ร.ต.วิฉณุ ถูปาอ่าง ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคง กรมยุทธการทหารเรือ กองทัพเรือ ปรับแผนจากสารเคมี dispersant มาใช้ทุ่นล้อมกักน้ำมันและใช้เครื่องดูด (Skimmer) เก็บในถัง 200 ลิตร 

แล้วส่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทำลาย ส่วนคราบน้ำมันที่เคลื่อนเข้าสู่ฝั่งจะใช้ทุ่นล้อมเบี่ยงออกสู่ทะเล จากนั้นดักและดูดไปทำลาย

วันที่ 29 ม.ค. 2565 คราบน้ำมันรั่วไหลซัดเข้าสู่ชายฝั่ง หาดแม่รำพึง บริเวณ ม.10 ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง เป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มและสีดำ ส่งกลิ่นคละคลุ้งไปทั่ว 

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประเมินว่า มวลน้ำมันในทะเลมีขนาด 1,713,388 ตรม. ภาพจากดาวเทียม GISTDA วันที่ 29 มกราคม เวลา 10:35 น. พบคราบน้ำมันลอยบริเวณกว้าง มีพื้นที่ 67 ตารางกิโลเมตร (42,673 ไร่) แบ่งเป็น 

1) คราบน้ำมันแผ่นฟิล์ม (Sheen oil /Thin oil) พื้นที่ 51 ตารางกิโลเมตร (32,478 ไร่) 

2) คราบน้ำมันหนา (Thick Oil) พื้นที่ 16 ตารางกิโลเมตร (10,195 ไร่)

อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สามารถเก็บกู้คราบน้ำมันตามแนวชายหาดด้วยเครื่องดูดคราบน้ำมันได้แล้วกว่า 13 คิว ที่เหลือใช้วิธีซับคราบน้ำมัน และใช้สารขจัดคราบน้ำมัน รวมถึงขุดร่องน้ำชายหาดให้น้ำมันไหลมารวมกัน และเฝ้าระวังคราบน้ำมันในทะเล

ลำดับเหตุการณ์\"น้ำมันรั่ว\" ปัญหาซ้ำซากที่ต้องรีบแก้ไข ​​​​​​

  • ความเสียหายจากน้ำมันรั่ว

วันที่ 31 มกราคม 2565 พล.ร.ต.อาทร ชะระภิญโญ รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 กล่าวว่า กองทัพเรือได้เก็บกู้คราบน้ำมันที่ชายฝั่งหาดแม่รำพึงได้เรียบร้อยหมดแล้ว รวมถึงหน้าอ่าวพร้าว เกาะเสม็ดด้วย ภาพถ่ายทางอากาศของ GISTDA และภาพถ่ายของกองทัพเรือไม่พบคราบน้ำมันแล้ว

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หลังจากควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันประเมินสรุปความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจ ค่าเสียโอกาสทางการท่องเที่ยว การประมง การประกอบอาชีพ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 

“ค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาทุกบาททุกสตางค์จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย เพื่อทวงคืนจากบริษัทต้นเหตุอย่างถึงที่สุดต่อไป”

ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์ดำรงธรรม อำเภอเมืองระยอง ได้ตั้งหน่วยเคลื่อนที่รับเรื่องร้องทุกข์จากผู้ที่ได้รับผลกระทบกรณีน้ำมันรั่วไหลลงทะเลระยอง ที่สบายสบาย รีสอร์ต ชายหาดแม่รำพึง ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง มีผู้มายื่นเรื่องลงทะเบียนเยียวยา เกือบ 200 ราย

  • อุบัติภัยน้ำมันรั่วในทะเล 235 ครั้ง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประเมินว่าเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเลครั้งนี้ (วันที่ 25 มกราคม 2565) มีมวลน้ำมันในทะเล 1,713,388 ตรม. ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง และปะการัง 1,708.77 ไร่ หญ้าทะเลรวม 1,885.38 ไร่ 

คราบน้ำมันลอยเป็นบริเวณกว้างมีพื้นที่ 47 ตร.กม. (29,506 ไร่) หรือ 9 เท่าของเกาะเสม็ด และในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เกิดอุบัติภัยน้ำมันรั่วในทะเลมากกว่า 235 ครั้ง

ลำดับเหตุการณ์\"น้ำมันรั่ว\" ปัญหาซ้ำซากที่ต้องรีบแก้ไข

  • ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานว่า คราบน้ำมันลอยบนผิวน้ำทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง ปิดกั้นการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอน พืช สาหร่าย พืชน้ำ เปลี่ยนแปลงสภาวะการย่อยสลายของแบคทีเรียในน้ำ ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำที่กินสารพิษนี้ก็ส่งผลต่อมนุษย์

สารปนเปื้อนในน้ำมัน เช่น พวกปรอท แคดเมียม สารพิษอื่นๆ และสารเคมีที่กำจัดคราบน้ำมัน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศทางทะเลในระยะยาว การทำประมง การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง การท่องเที่ยว เศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจระดับประเทศ

  • คดีฟ้องร้องน้ำมันรั่ว

ที่ผ่านมา กรณีน้ำมันรั่วไหล จ.ระยอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 มีผู้ยื่นฟ้องเรียกค่าชดเชย 454 คน ผ่านไป 7 ปี ศาลแพ่งพิพากษาคดีอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ให้เพิ่มค่าเสียหายแก่ชาวประมง 

โดยคำพิพากษาศาลชั้นต้นจากเดิม 90,000 บาทเป็นจำนวน 150,000 บาท  และผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากเดิม 60,000 บาทเป็นจำนวน120,000 บาท 

ส่วนการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพนั้น ศาลตัดสินว่าไม่มีกฎหมายรองรับ

เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเลไม่ว่าที่ใดก็ตาม ย่อมเป็นเรื่องอันตรายร้ายแรง มีผลกระทบมหาศาล ไม่ใช่แค่ระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับประเทศ ยังเชื่อมโยงไปถึงพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Area - MPA) และนั่นคือผลกระทบระดับโลก