สรุปสถานการณ์ "น้ำมันรั่ว" วันที่ 7 แนวโน้มคลี่คลายดีขึ้น

สถานการณ์น้ำมันดิบรั่วทะเลระยอง เริ่มมีแนวโน้มคลี่คลายดีขึ้น วันนี้ไม่พบคราบน้ำมันโผล่ขึ้นชายหาดหลายหน่วยงานส่งกำลังทำความสะอาด เร่งฟื้นฟู ทะยอยฟ้องค่าเสียหาย ด้านประชาชนแห่ลงทะเบียนเยียวยาจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 65 ผู้สื่อข่าวรายงาน ความคืบหน้ากรณีเหตุน้ำมันรั่วลงทะเลระยอง ว่า วันนี้ย่างก้าวเข้าสู่วันที่เจ็ดการเกิดเหตุ สถานการณ์ภาพรวมทั่วไปในวันนี้ มีแนวโน้มคลี่คลายดีขึ้นมีรายงานว่ายังไม่พบคราบน้ำมันโผล่ขึ้นชายหาดระยอง รวมทั้งบริเวณชายหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ขณะที่ทะเลระยองวันนี้มีสภาพคลื่นลมแรงพัดเข้าสู่ฝั่งเช่นเดียวกับที่เกาะเสม็ด ที่ได้พบคราบเขม่าสีดำลอยขึ้นชายหาดบริเวณอ่าวพร้าว ถูกเจ้าหน้าที่เร่งเก็บกู้และนำไปตรวจสอบ ตั้งแต่เมื่อวาน ทำให้วันนี้ชายหาดไม่พบคราบน้ำมัน

อย่างไรก็ดีการเฝ้าระวังนั้น ยังมีการจัดวางกำลังเตรียมพร้อมรับมือกับคราบน้ำมันไว้อย่างเข้มแข็ง โดยได้จัดวางกำลังคนและอุปกรณ์เครื่องมือไว้เพื่อรับสถานการณ์ฉุกเฉินหากเกิดกรณีคราบน้ำมันขึ้นชายหาดพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งจัดกำลังคนเดินเท้าตรวจตราหาคราบน้ำมันตลอดแนวชายหาด พร้อมกันนี้ยังมีการยืนยันด้วยว่า เวลานี้ไม่พบกลุ่มมวลคราบน้ำมันลอยในทะเลระยอง แต่ได้ มีการปักเสาธงแดงห้ามนักท่องเที่ยวและผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปหรือลงไปในบริเวณชายหาด

ส่วนที่ศูนย์ดำรงธรรมซึ่งมาตั้งรับเรื่องร้องเรียนและให้ประชาชนที่เดือดร้อนได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วครั้งนี้ ลงทะเบียน ที่โครงการหมู่บ้านสบายสบาย ริมหาดแม่รำพึง ได้มีบรรดา เจ้าของร้านอาหารชายหาด ห่วงยาง เตียงผ้าใบ ห้องน้ำ ค้าขายหาบเร่ ทะยอยมาลงทะเบียนเพื่อรับค่าเยียวยาจากผลกระทบในครั้งนี้ รวม 500 คน

หลังจากนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันประเมินและสรุปความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทั้งด้านความเสียหายทางเศรษฐกิจ ค่าเสียโอกาสทางการท่องเที่ยว การประมง การประกอบอาชีพของคนในพื้นที่ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแก้ปัญหา ซึ่งดำเนินตาม พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 แหล่งกำเนิดมลพิษใดก่อให้เกิดเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐเสียหายด้วยประการใด ๆ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดให้ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายเพื่อการนั้นไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้น 

ซึ่งบริษัท SPRC ต้องจ่ายชดใช้ค่าทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย, ชดเชยรายได้ของประชาชนที่หายไป, ค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน, ค่าฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์น้ำ, ค่าดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนที่ได้รับผลกระทบและ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ใช้ในการกำจัดมลพิษให้หมดไป หากบริษัทSPRCไม่ยินยอมจ่ายหรือจ่ายชดเชยน้อยกว่าที่ควรเป็นกรมควบคุมมลพิษมีหน้าไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดต่อทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปและประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายชดเชยรายได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 119 ทวิ ห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้น้ำมันและเคมีภัณฑ์หรือสิ่งใดๆลงในแม่น้ำลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำหรือทะเลสาบอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือทะเลภายในน่านน้ำไทยอันอาจจะเป็นเหตุให้เกิดเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือต่อสิ่งแวดล้อมหรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบดังกล่าว ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการแก้ไข สิ่งเป็นพิษหรือชดใช้ค่าเสียหายเหล่านั้นด้วย กรมเจ้าท่าได้ไปแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดบริษัทSPRCให้ศาลตัดสินต่อไป