เปิดผลทดสอบ 8 สูตรวัคซีนโควิด19 จัดการ"โอมิครอน"

เปิดผลทดสอบ 8 สูตรวัคซีนโควิด19 จัดการ"โอมิครอน"

กรมวิทย์เผยผลทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีนโควิด19สูตรต่างๆ ต่อการจัดการไวรัสจริงโอมิครอน พบลดลงทุกสูตร  ซิโนแวค2เข็ม+ไฟเซอร์จัดการโอมิครอนได้สูงสุด

เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  และ นางสุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็น “ผลการทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีนต่อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และโอมิครอน

        นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การทดสอบของกรมวิทยฯ ด้วยห้องปฏิบัติการระดับ 3 ใช้หลักการเจาะเลือด นำซีรั่มน้ำเลือดผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 2สัปดาห์มาปั่นแยกเอาน้ำเลือดออกมา แล้วนำไปทดลองกับไวรัสตัวเป็นๆ โดยใช้วิธี PRNT (Plaque Reduction Neutralization Test) ซึ่งจะนำน้ำเลือดมาทดสอบกับไวรัสเดลตากับโอมิครอน ด้วยการเจือจางเป็นเท่าๆ 1:2 ต่อด้วย 1:4 ไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง เหลือฆ่าไวรัสได้ประมาณครึ่งหนึ่ง จึงเรียกว่า “PRNT50” จะหยุดที่ตรงนั้น ถือเป็นระดับสุดท้ายในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดนั้นๆ ได้ โดยหากภูมิคุ้มกันขึ้นไตเตอร์  1 ต่อ 10 ขึ้นไปก็จะกันโรคนั้นได้ แต่สำหรับโควิด-19 ขณะนี้ยังไม่มีรายงานจากที่ไหนมีข้อมูลชัดๆ ว่าถึงจุดไหนแล้วจะสามารถกันเชื้อได้

ทดสอบข้อมูล 8 สูตรวัคซีนของคนไทยต่อไวรัสจริงสายพันธุ์โอมิครอนเทียบกับเดลตา พบว่า 

1.ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า  เดลตา 201.9 โอมิครอน 11.63 สัดส่วนที่ลดลงจากจัดการเดลตาต่อโอมิครอน 17.35 เท่า 
2.แอสตร้าฯ 2 เข็ม  เดลตา 226.9 โอมิครอน 23.81 สัดส่วนที่ลดลงจากจัดการเดลตาต่อโอมิครอน 9.53 เท่า
3.ไฟเซอร์ 2 เข็ม เดลตา189.4 โอมิครอน19.17 สัดส่วนที่ลดลงจากจัดการเดลตาต่อโอมิครอน9.88 เท่า
 4.ซิโนแวค+ไฟเซอร์  เดลตา 581.1 โอมิครอน21.70 สัดส่วนที่ลดลงจากจัดการเดลตาต่อโอมิครอน 26.77 เท่า
5.แอสตร้าฯ+ไฟเซอร์ เดลตา 388.2 โอมิครอน21.21 สัดส่วนที่ลดลงจากจัดการเดลตาต่อโอมิครอน 18.3 เท่า
6.ซิโนแวค 2 เข็ม+แอสตร้าฯ  เดลตา 368.1 โอมิครอน 71.64 สัดส่วนที่ลดลงจากจัดการเดลตาต่อโอมิครอน 5.14 เท่า

7.ซิโนแวค 2 เข็ม+ไฟเซอร์   เดลตา 729.3 โอมิครอน282.5 สัดส่วนที่ลดลงจากจัดการเดลตาต่อโอมิครอน 2.58 เท่า

และ  8.แอสตร้าฯ 2 เข็ม+ไฟเซอร์  เดลตา 691.1 โอมิครอน 222.9 สัดส่วนที่ลดลงจากจัดการเดลตาต่อโอมิครอน 3.10 เท่า 

  “ผลทดสอบนี้ พบว่าภูมิคุ้มกันในเลือดที่เคยต่อสู้เดลตาได้ค่อนข้างดี มันลดลงเมื่อมาเจอโอมิครอนในทุกกรณี ไม่มีอันไหนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อสันนิษฐานเบื้องต้นที่เคยมีมาก่อนว่า การกลายพันธุ์ของโอมิครอน น่าจะหลบวัคซีนได้มาก และหลายประเทศในโลกก็ได้ผลทดสอบออกมาใกล้เคียง แต่นี่คือตัวเลขภูมิฯ ในร่างกายมนุษย์ แต่กลไกการต่อสู้ต่อเชื้อโรคไม่ได้มีแค่ภูมิในน้ำเลือด แต่ยังมีเรื่องของเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่จดจำไวรัสได้ ก็จะออกมาช่วยจัดการ เพียงแต่การทดสอบนี้วัดแค่จากน้ำเลือด” นพ.ศุภกิจ กล่าว

เปิดผลทดสอบ 8 สูตรวัคซีนโควิด19 จัดการ\"โอมิครอน\"

       นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า ข้อสรุปจากการทดสอบ เราพบว่าวัคซีนทุกสูตรมีอิทธิฤทธิ์ในการลบล้างฤทธิ์โอมิครอนลดลง แต่หากฉีดกระตุ้นเข็ม 3 มันจะขยับขึ้นไปสูงขึ้น แต่มีคำถามว่า ฉีดสูตรไหนแล้วภูมิฯ อยู่นานเท่าไหร่ ต้องติดตามต่อไปว่า เมื่อผ่านการกระตุ้นเข็ม 3 ไปแล้ว 2 เดือน หรือ 3 เดือน สูตรไหนจะเหลืออยู่แค่ไหน ซึ่งต้องใช้เวลา อีกทั้ง ไม่ว่าจะฉีดสูตรไหนก็ยังช่วยลดความรุนแรง และเสียชีวิตชีวิตได้ในทุกสายพันธุ์ เป็นข้อมูลจากโลกจริง(Real World) ที่ผ่านมา ดังนั้น การฉีดวัคซีนยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น เพื่อให้ภูมิคุ้มกันมากพอที่จะลดการแพร่การติดเชื้อและการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้มากขึ้น 
      “หากจะเอาเรื่องการป้องกันติดเชื้อ การฉีด 2 เข็มแม้จะปริ่มๆ แต่ยังใช้ได้อยู่ ดังนั้น ตามที่ทั่วโลกศึกษาสอดคล้องกันว่า การบูสเตอร์โดสจะช่วยยกระดับภูมิฯ ได้มาก ช่วยป้องกันการติดเชื้อ ลดการแพร่เชื้อได้ และลดการเจ็บป่วยรุนแรง เสียชีวิตมากขึ้นอีก จึงขอเชิญชวนผู้ที่ยังไม่รับเข็มกระตุ้น  ก็ให้ลงทะเบียนรับวัคซีน ส่วนจะกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ ก็ได้ภูมิฯ ขึ้นสูงมากพอสู้กับโอมิครอนได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว

     นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า กรมกำลังหาคนที่ฉีดสูตรไขว้ ด้วย ซิโนแวค + แอสตร้าฯ ตามด้วย แอสตร้าฯ หรือ ไฟเซอร์ ซึ่งกำลังหาเลือดคนในกลุ่มนี้ เพื่อนำมาทดสอบสูตรไขว้ว่ามีภูมิฯ อย่างไรบ้าง  ทั้งนี้ย้ำว่า อย่านำตัวเลขการทดสอบของกรมวิทยฯ เปรียบเทียบกับข้อมูลจาก รพ.ศิริราช เพราะเป็นคนละวิธีกัน นอกจากนี้ กรมอยู่ระหว่างการนำข้อมูลของผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่มีในไทยเกือบ 1 หมื่นราย ส่งให้กรมการแพทย์เพื่อติดตามว่าในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ มีอาการหน้อย อาการหนัก ปอดอักเสบ มากน้อยอย่างไร 

     ด้าน นางสุภาพร  กล่าวว่า ข้อสังเกตหนึ่งที่พบระหว่างการทดสอบ เมื่อแยกเชื้อจากผู้ป่วยที่ติดโอมิครอนในไทย แล้วนำไปเพิ่มไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง เจอว่าโอมิครอนเพิ่มจำนวนได้ช้ามากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ เป็นที่น่าแปลกใจว่า อาจเป็นตัวหนึ่งที่แสดงคุณลักษณะให้เห็นว่า เมื่อติดเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้ผู้ป่วยไม่แสดงอาการ อาการไม่รุนแรง  โดยจะมีการหารือกับห้องแล็ปของสถาบันต่างๆว่าเจอในลักษณะเดียวกันหรือไม่