ไม่ใช่แค่ "หมูแพง" ย้อนรอยของแพงยุคไหนตราตรึงใจที่สุด?

ไม่ใช่แค่ "หมูแพง" ย้อนรอยของแพงยุคไหนตราตรึงใจที่สุด?

นอกจากหมูแพง ต้อนรับปีใหม่ 2565 รู้หรือไม่? คนไทยเคยเจอสภาวะเศรษฐกิจของขึ้นราคาทั้ง น้ำมันแพง ไข่แพง หน้ากากอนามัยแพง ผักชีแพง กันมาแล้ว

หมูแพง ไข่แพง น้ำมันขึ้นราคา ประชาชนคนไทยเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็น ‘ของแพง’ กันตั้งแต่เริ่มต้นปีใหม่ 2565 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนย้อนดู ของแพงยุคไหนที่ตราตรึงใจจนคนไทยไม่ปลื้มบ้าง?

 

ไม่ใช่แค่ \"หมูแพง\" ย้อนรอยของแพงยุคไหนตราตรึงใจที่สุด?

 

  • น้ำมันแพง ที่มาคำฮิต "น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ”

เยาวชนคนรุ่นใหม่ คงไม่คุ้นกับวลี “น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟน ก็ต้องดับไฟ” มากนัก แต่ถ้าเป็นรุ่นพ่อ รุ่นแม่ หรือผู้ใหญ่ในวัย 40 ปีขึ้นไป ก็คงจะผ่านหู ผ่านตากับประโยคข้างต้นไม่มากก็น้อย

เพลง 'น้ำมันแพง' เป็นเพลงลูกทุ่งไทยที่กลายเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยผู้แต่งคือ 'สรวง สันติ' นักร้อง-นักดนตรี ชาวสุโขทัย ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากวิกฤติน้ำมันไทยครั้งใหญ่

ข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่า วิกฤติน้ำมันที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ครั้ง ได้แก่ ปี 2516-2524, ปี 2533 และปี 2548-2553 แต่วิกฤติน้ำมันครั้งแรกที่เริ่มออกอาการในปี 2516 ถือว่ากินเวลายาวนานที่สุดถึง 8 ปี

โดยวิกฤตการณ์น้ำมัน ครั้งที่ 1  พบว่าราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นจากองค์การโอเปกได้เพิ่มภาษีน้ำมัน และปรับราคาน้ำมันดิบจากบาร์เรลละ 2.09 ดอลลาร์เป็น 8.32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลทันที จนเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันตามมา ไทยมีการปรับภาษีน้ำมัน ปรับเที่ยวรถเมล์น้อยลง เพื่อรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้วิกฤติน้ำมันที่เกิดขึ้นยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักศึกษาชุมนุมประท้วงรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร จนเกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทยคือ เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516

  • ไข่ไก่แพง ยุคทักษิณ จากไข้หวัดนก

"ไข่ไก่" โปรตีนขั้นพื้นฐานราคาถูก ของประชาชนทุกชนชั้น ทุกระดับรายได้ เมื่อใดที่ไข่ไก่มีราคาแพงขึ้นมา นั่นหมายถึง ความทุกข์ขั้นพื้นฐานที่เข้าถึงครัวเรือนประชาชนทุกคน

สาเหตุหลักเกิดจาก "ไข้หวัดนก" ระบาดในไทยตั้งแต่ปลายปี 2546 จนนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือ ทักษิณ ชินวัตร สั่งกำจัดไก่ทั่วประเทศในปี 2547 ส่งผลกระทบให้ไข่ไก่ราคาพุ่งทะยานสูงถึงใบละ 4 บาท นอกจากนี้ไข่ไก่ยังมีราคาผันผวนชนิดที่สวิงไปสวิงมาเดี๋ยวถูก เดี๋ยวแพง จนประชาชนจดจำได้มากไม่แพ้ยุครัฐบาลไหนๆ

  • หน้ากากอนามัยแพง แสลงใจ

จากการสำรวจร้านค้าออนไลน์ที่มีสินค้าหน้ากากอนามัยพร้อมขายบน Priceza.com ณ วันที่ 12 ก.พ.2563 พบว่า ราคาหน้ากากอนามัยต่อกล่องบรรจุขนาด 50 ชิ้น พุ่งขึ้นสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 10 เท่ามีราคาขายปลีกเป็นรายชิ้นต่ำสุดชิ้นละ 6 บาท ส่วนราคาสูงสุดคือชิ้นละ 15 บาท

ตัวอย่าง ราคาหน้ากากอนามัย Dura แบบ 3 ชั้น กล่องบรรจุ 50 ชิ้น จากร้านค้าออนไลน์บนไพรซ์ซ่าดอทคอม จากประวัติราคาสินค้าที่เก็บมาในปี 2562 จะอยู่ที่ 45-60 บาทต่อกล่อง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับราคา ณ วันที่ 11 ก.พ. ราคาในตอนนี้พุ่งไปสูงสุดถึงกล่องละ 120-650 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 10 เท่าเลยทีเดียว

สาเหตุที่ทำให้ราคาเพิ่มไปได้ขนาดนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงาน ที่หมายรวมต้นทุนทั้งเรื่องทรัพยากรและแรงงานที่สูงขึ้น เลยส่งผลให้จำเป็นต้องขายในราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย เพื่อรักษาสมดุลของกำไร

แม้กระทรวงอุตสาหกรรมจะขอความร่วมมือจาก 10 โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยที่ใหญ่ที่สุดในไทย ให้เร่งผลิตใช้ภายในประเทศอย่างเต็มกำลัง บางแห่งผลิตติดต่อกันตลอด 24 ชั่วโมง รวมแล้วกว่า 100 ล้านชิ้น แต่ดูเหมือนว่าก็ยังไม่เพียงพอที่จะให้ร้านค้าปลีกซื้อมาขายให้ผู้บริโภคได้ จนถึงปัจจุบันยังมีคนตั้งคำถามในโลกโซเชียลว่า หน้ากากฟรีจากรัฐบาลได้กันหรือยัง?

  • ผักชีแพง ก็ปลูกกินเองไปเลยสิ

จากการสำรวจในเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 ตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา พบว่าราคาผักหลายชนิดเริ่มปรับราคาสูงขึ้น เนื่องจากแหล่งปลูกผักในภาคกลาง หลายจังหวัดน้ำท่วมและเกิดฝนตกหนักจากสภาพอากาศแปรปรวนในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณผักที่ส่งให้ลูกค้าต่างจังหวัดทางภาคใต้เริ่มลดน้อยลง และยังมีแนวโน้มที่จะปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บวกกับราคาน้ำมันแพง ส่งผลให้ค่าขนส่งก็ปรับราคาสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะ ผักชี ที่พบว่าราคาพุ่งกิโลกรัมละ 400 บาท จนทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับราคาพืชผลเกษตร โดยสั่งการในที่ประชุม ครม.ให้นำพื้นที่ของทหารมาปลูกผักชี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ที่ต้องบริโภคพืชผักสวนครัวนำมาประกอบอาหาร

--------------------------------

อ้างอิง:thesis.swu.ac.th.bangkokbiznewsเจาะเวลาหาอดีต

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์