รมช.เกษตรฯ ถก ผู้ว่าอีสานตอนบน แก้หมูราคาแพง -โรคระบาด

"ประภัตร" รมช.เกษตรฯ ประชุมผู้ว่าอีสานตอนบน - แกนนำผู้เลี้ยงสุกร เพื่อแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมูที่มีราคาแพง โรคระบาด

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.65 ที่ห้องประชุมทองใหญ่ ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะเดินทางมาประชุม ชี้แจ้งทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ในภาคอีสาน แกนนำผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ภาคอีสาน เพื่อแก้ไขปัญหาราคาเนื้อสุกรที่มีราคาแพง โดยมี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด 12 จังหวัดอีสานตอนบน ส.ส.ในพื้นที่ภาคอีสาน หัวหน้าส่วนราชการ และเกษตรกรกว่า 200 คนเข้าร่วมประชุม

นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า จังหวัดอุดรธานี แบ่งเขตการปกครอง เป็น 2 อำเภอ 156 ตำบล 1,891 หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 181 แห่ง ประชากร 1,566,510 คน ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด 113,887 ล้านบาท มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ค้าปลีก ค้าส่ง เกษตรกรรม ศูนย์กลางทางการเงิน อุตสาหกรรม และอสังหาริมทรัพย์ ตามลำดับ มีผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว, อ้อย, มัน, ยาง,ผัก และผลไม้

โดย จ.อุดรธานี มีสถานที่ประกอบการฟาร์มสุกร 3,795 ฟาร์ม แยกเป็นขนาดใหญ่ 3 ฟาร์ม ขนาดกลาง 210 ฟาร์ม และขนาดเล็ก 3,582 ฟาร์ม มีหมูทั้งหมด 346,964 ตัว สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้หมูมีราคาสูงขึ้น เกิดจากปัญหาโรคระบาดในสุกร ได้แก่ การติดเชื้อ PRRS จนทำให้ปริมาณเนื้อหมูที่เข้าสู่ทางตลาดมีปริมาณน้อยลง และเกษตรกรรายย่อยประสบภาวะขาดทุน ซึ่งมาตรการให้ความช่วยเหลือ ได้ให้ความช่วยเหลือเป็นเงินชดเชยแก่ผู้ประสบจำนวน 17,376,433.25 บาท มีเกษตรที่ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 122 ฟาร์ม

ด้านมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามีการดำเนินการคือ ดำเนินการเฝ้าระวังการระบาดของโรค ประชุมชี้แจงให้ความรู้เกษตรกรในการป้องกันการปฏิบัติเมื่อเกิดโรค การปฏิบัติเมื่อโรคสงบ และการเฝ้าระวังเชิงรุก ลงพื้นที่ตรวจสอบฟาร์มสุกร และตั้งด่านสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายที่ผิดกฎหมาย และส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงสุกรในระบบฟาร์มที่มีระบบป้องกันโรค และการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมรวมถึงการพัฒนาสู่ฟาร์มมาตรฐาน

นายเกนศักดิ์ เกิดเพ็ชร อายุ 57 ปี เกษตรชาวอำเภอกู่แก้ว เปิดเผยว่า ตนประกอบอาชีพเลี้ยงหมู แบบระบบเปิด เลี้ยงหมูมา 2-3 ปี มีหมูประมาณ 50-60 ตัว และมาติดเชื้อเป็นโรคตายทีละ 2-3 ตัว ช่วงแรกก็ไม่คิดว่าจะเป็นโรคอหิวาต์ในหมู ตนคิดว่าเป็นเพียงโรคหมูธรรมดาคิดว่าจะเอาอยู่ ซึ่งพอเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาเจาะเลือดไปตรวจก็แจ้งว่าติดโรค แต่ยังไม่แน่ใจเป็นโรคอะไร ตนมีหมูทั้งหมด 50-60 ตัวก็ต้องถูกกำจัดไปหมด ซึ่งก็ต้องรอให้โรคมันหมดไปจึงจะหามาเลี้ยงใหม่ โดยในการเลี้ยงของตนนั้นก็จะมีลูกหลานคนในบ้านแวะเวียนกันเข้าไปให้อาหาร ตนก็อยากให้ทางรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ เรื่องจากแจกจ่ายลูกหมู เพื่อให้เกษตรกรนำมาเลี้ยง รวมถึงยารักษาโรคว่าต้องใช้อะไรแบบไหน พร้อมกับมาให้ความรู้กับเกษตรกรในเรื่องของโรคติดต่อด้วย

นอกจากนี้เกษตรหลายรายสะท้อนปัญหา และอยากฝากรัฐบาลให้ช่วยลดต้นทุน เช่น ค่าอาหารสัตว์ที่มีราคาสูง พร้อมทั้งทวงถามเงินเยียวยาว่าเมื่อไหร่จะได้ ตอนนี้ไม่มีทุนซื้อหมูมาเลี้ยงใหม่ แม้ว่ารัฐบาลจะมีเงินทุนให้กู้แต่ก็ไม่อยากเป็นหนี้ เพราะหนี้เก่ายังใช้ไม่หมดจะมาก่อหนี้ใหม่

นางฉวีวรรณ คีนซึล อายุ 43 ปี เกษตรกรชาว จ.ร้อยเอ็ด เล่าว่า ตนเป็นเกษตรกรเลี้ยงหมูรายย่อย ตนได้รับผลกระทบจากการที่ต้องทำลายหมู ซึ่งทางปศุสัตว์ได้แจ้งว่าช่วงปีใหม่ จะได้เงินชดเชยประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์จากรัฐบาล ซึ่งที่เกิดโรคก็ยังไม่ได้เงินชดเชย และก่อนหน้านี้ก็ยังไม่ได้ เพราะเชื้อตัวนี้มาอยู่กับเราตั้งแต่ช่วง 3 ปีที่แล้วจากประเทศจีน ผลกระทบช่วงนี้ จากราคาหมูปกติกิโลกรัมละ 57- 70 บาท พอมาตอนนี้ราคาหมูพุ่งขึ้น พวกเกษตรกรก็อยากมีหมูขาย ตนทำธุรกิจเล็ก เลี้ยงหมูอยู่ประมาณ 200 ตัว แต่พอมาเจอโรคก็ต้องแจ้งปศุสัตว์เข้าระบบทำลายฝังกลบ ต้นทุนก็จะสูงขึ้นทั้งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์อาหาร ประมาณ 1,100,000 บาท ซึ่งได้เข้าประเมินกับทางเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

ซึ่งเชื้อตัวนี้พบมาแล้ว 3 ปีในประเทศจีน และประเทศไทย มาพบก็จะหมดแล้ว ฟาร์มขนาดเล็กแทบจะหมดแล้ว เพราะร้านขายอาหารสัตว์ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ขายได้น้อยลง ในส่วนเกษตรกรที่จะต้องซื้ออาหารสัตว์นั้นก็จะต้องหากู้เงินทางอื่นมาซื้อ เพราะร้านอาหารสัตว์จะไม่ปล่อยเครดิตให้นาน เพราะหมูจะต้องจับช่วง 4 เดือน ซึ่งจะต้องไปกู้ยืมเงินทางอื่นมาใช้ในการซื้ออาหารมาเลี้ยงหมู แล้วไปกู้ทางอื่นมาแล้วหมูที่เลี้ยงเอาไว้ไม่เหลือ นี่ก็จะเป็นการก่อหนี้สินที่เกษตรกรต้องรับผิดชอบ ก็จะเป็นผลต่อเนื่องกันไปเพราะเกษตรกรที่เลี้ยงหมู ตายเกิดโรค ไม่มีเงินใช้หนี้ค่าอาหาร ร้านอาหารก็จะไม่ได้เงินซึ่งจะเป็นปัญหาต่อเนื่อง

หลังจากที่มีการกำจัดหมูไปแล้ว ตนก็เตรียมสถานที่และทุนที่มีอยู่ ก็จะหาสัตว์อื่นมาเลี้ยงที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเชื้อโรคนี้มารบกวน โดยจะไปซื้อแพะมาเลี้ยง เลี้ยงหนูนา เลี้ยงไก่ ปลูกผัก ขายคนทางภาคอีสานกินอะไรเราก็เลี้ยงและปลูกขาย เพื่อหารายได้ในช่วงนี้ไปก่อน ตนก็อยากวอนให้หน่วยงานเข้ามาดูแลเรื่องเงินเยียวยาเพื่อให้เกษตรกร ตามที่ได้แจ้งไว้ เพื่อจะได้นำไปจ่ายค่าอาหารสัตว์ที่ได้ไปสั่งซื้อมา และบางรายก็ไปกู้ธนาคารมา ก็อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเงินเยียวยาตรงนี้ให้เร็ว เพื่อต่อลมหายใจของเกษตรกรได้ต่อไป

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์