เงินเฟ้อพุ่ง ของแพง แล้ว "ค่าแรง" ขึ้นมาแค่ไหน?

เงินเฟ้อพุ่ง ของแพง แล้ว "ค่าแรง" ขึ้นมาแค่ไหน?

เมื่อเราเข้าสู่ยุค "ของแพง" สินค้าราคาพุ่งแรงหลายอย่าง ชวนย้อนดู “ค่าแรงขั้นต่ำ" ของคนไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนกัน?

คนไทยเข้าสู่ยุค “ของแพง” อย่างปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เจอแต่ของขึ้นราคาไม่ว่าจะเป็นสินค้าบริโภคอย่าง หมู ไก่ ไข่ เป็ด ลามไปถึงสินค้าอุปโภคและการบริการอื่นๆ ตามมา 

ขณะที่ “ค่าแรงขั้นต่ำ” ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากพอที่จะสอดคล้องกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงไม่หยุด ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายของตนเองหนักกว่าเก่า

จากสถานการณ์ดังกล่าว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนส่อง “ค่าแรง” จากอดีตจนปัจจุบันของคนไทย ได้ปรับขึ้นแค่ไหนกันเชียว? 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

1. ภาพรวมการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำประเทศไทย

จากข้อมูลสถิติการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2560 - ปัจจุบัน (ปี 2565) พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ในปี 2560 

- ค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ อยู่ที่ 305-310 บาทต่อวัน

- โดยจังหวัดที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ สูงสุด 310 บาทต่อวัน มีด้วยกัน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ จังหวัดในแถบปริมณฑลต่างๆ และภูเก็ต 

  • ในปี 2561 

- ค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ อยู่ที่ 308-330 บาทต่อวัน 

- มีการปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ แบ่งเป็น 7 ระดับ 308, 310, 315, 318, 320, 325 และ 330 บาทต่อวัน

- โดยจังหวัดที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ สูงสุด 330 บาทต่อวัน มีจังหวัดภูเก็ต ชลบุรี และระยอง

- ส่วนกรุงเทพฯ ปริมณฑล และฉะเชิงเทรา ได้ค่าแรงขั้นค่ำที่ 325 บาทต่อวัน

  • ในปี 2563 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดของการปรับขึ้น (นับถึง ม.ค.65)

- ค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ อยู่ที่ 330-336 บาทต่อวัน 

- โดยจังหวัดที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ สูงสุด 336 บาทต่อวัน มีจังหวัดภูเก็ต ชลบุรี ส่วนจังหวัดระยอง อยู่ที่ 335 บาทต่อวัน

- ส่วนกรุงเทพฯ ปริมณฑล มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 331 บาทต่อวัน

  • สรุปค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 

- ปี  2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 307.5 บาทต่อวัน 

- ปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 319 บาทต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 60 ถึง 11.5 บาท คิดเป็น 3.74 %

- ปี 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 333 บาทต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 61 ถึง 14 บาท คิดเป็น 4.3 %

เมื่อดูภาพรวม 5 ปีล่าสุด คือ ปี 60-65 คนไทยได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นอยู่ที่ “25.5 บาท” คิดเป็น 8.3 % โดยประมาณ

2. ราคาอาหาร แพงขึ้นมากแค่ไหนจากในอดีต?

จากการรวบรวมราคาอาหารแบบขายปลีก เนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่ ในกรุงเทพฯ ย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี 55-65 มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

  • ราคาเนื้อหมู (ราคาขายปลีกแบบชำแหละ เนื้อแดง สะโพกและไหล่ ไม่ได้ตัดแต่ง) 

- ปี 2555 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 105.17 บาท/กิโลกรัม

- ปี 2557 ปรับราคาเฉลี่ยขึ้นมาอยู่ที่ 138.99 บาท/กิโลกรัม

- ปี 2565 ราคาเฉลี่ยพุ่งขึ้นสูงถึง 185.83 บาท/กิโลกรัม

  • ราคาเนื้อไก่ (ราคาเฉลี่ยรายปี ไม่รวมเครื่องใน)

- ปี 2555 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 68.03 บาท/กิโลกรัม

- ปี 2557 ปรับราคาเฉลี่ยขึ้นมาอยู่ที่ 75.26 บาท/กิโลกรัม (ราคาเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 10 ปี)

- ปี 2565 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 72.50 บาท/กิโลกรัม

  • ราคาไข่ไก่ เบอร์ 0 (ราคาเฉลี่ยรายปี)

- ปี 2555 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 101.1 บาท/แผง (30 ฟอง)

- ปี 2559 ปรับราคาเฉลี่ยขึ้นมาอยู่ที่ 139.50 บาท/แผง (ราคาเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 10 ปี)

- ปี 2565 ราคาเฉลี่ยพุ่งอยู่ที่ 126.90 บาท/แผง

3. ราคาอาหารตามสั่งในเมือง ปัจจุบันเป็นอย่างไร?

อาหารตามสั่ง ถือเป็นมื้อด่วนที่ช่วยคลายหิวของกลุ่มคนวัยทำงานในราคาประหยัด หากอาหารตามสั่งราคาแพงขึ้น ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาด้วย 

เราได้เลือกตัวอย่าง “การสำรวจราคาอาหาร ย่านสีลม กรุงเทพฯ” ซึ่งมีข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

  • ปี 2555 อาหารตามสั่งมีราคาอยู่ในช่วง 25-40 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ 31.6 บาท 
  • ปี 2556 อาหารตามสั่งมีราคาอยู่ในช่วง 25-40 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ 33.3 บาท 
  • ปี 2557 อาหารตามสั่งมีราคาอยู่ในช่วง 25-50 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ 36.1 บาท
  • ปี 2558 อาหารตามสั่งมีราคาอยู่ในช่วง 30-50 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ 40 บาท 
  • ปี 2559 อาหารตามสั่งมีราคาอยู่ในช่วง 30-60 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ 43.1 บาท
  • ปี 2560 อาหารตามสั่งมีราคาอยู่ในช่วง 30-65 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ 47.1 บาท 
  • ปี 2561 อาหารตามสั่งมีราคาอยู่ในช่วง 30-65 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ 49 บาท 
  • ปี 2562 อาหารตามสั่งมีราคาอยู่ในช่วง 30-65 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ 50.2 บาท 
  • ปี 2563 อาหารตามสั่งมีราคาอยู่ในช่วง 35-65 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ 51.4 บาท 
  • ปี 2564 อาหารตามสั่งมีราคาอยู่ในช่วง 35-70 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ 55 บาท 

สรุปภาพรวมราคาอาหารตามสั่ง ย่านสีลม ตั้งแต่ปี 55 - 64 มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นที่ 23.4 บาท คิดเป็น 74.1% โดยประมาณ

--------------

อ้างอิง: กรุงเทพธุรกิจศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ