รู้จัก New Year’s Blues "ภาวะซึมเศร้า" ปีใหม่

รู้จัก New Year’s Blues "ภาวะซึมเศร้า" ปีใหม่

"กรมสุขภาพจิต" เผย คนไทยฆ่าตัวตายมากที่สุดช่วง "สงกรานต์" รองลงมา คือ "ปีใหม่" แนะเฝ้าระวัง New Year’s Blues "ภาวะซึมเศร้า" ปีใหม่ หมั่นสังเกตอาการ ฟื้นฟูสุขภาพกาย สุขภาพใจ หรือปรึกษาสายด่วน 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

วันนี้ (30 ธ.ค. 64) ที่กระทรวงสาธารณสุข ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต แถลงข่าวประเด็น การดูแล "ภาวะซึมเศร้า" ช่วงปีใหม่ “New Year’s Blues” โดยระบุว่า ปลายปีหลายท่านกำลังเดินทางกลับต่างจังหวัด หลายคนเดินทางไปเจอครอบครัว ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะไม่มีโอกาสมากนักในการเดินทางไปพบปะจากการระบาดของโควิด ขณะที่หลายคนเริ่มหยุด ประเด็นที่ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ฝากมาถึงทุกท่าน คือ ช่วง ปีใหม่ ในสายตาของเราอาจจะมีแต่ความสุข เป็นเทศกาลที่มีแต่ความสนุกและรอยยิ้ม แต่มีภัยเงียบหนึ่งด้านสุขภาพจิต คือ ภาวะ “New Year’s Blues” หลายท่านอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน

 

ในช่วงปีใหม่ ปกติหลายคนเป็นช่วงสุดท้ายของการทำงาน เริ่มกลับไปอยู่กับครอบครัว แต่แน่นอนในช่วงที่เรามีโอกาส มีเวลาว่าง ทบทวนตัวเองในช่วงปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นปีที่ค่อนข้างยากลำบากของพี่น้องประชาชนหลายคน ประสบอุปสรรค ปัญหาจากโควิด ปัญหาเรื่องส่วนตัว เรื่องการทำงาน

 

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ เมื่อมาทบทวน พิจารณาในช่วงปลายปี หลายคนรู้สึกแย่กับเรื่องที่เกิดขึ้น รู้สึกผิดหวังจากต้นปีที่ตั้งเป้าหมายต่างๆ ไว้ และไม่สามารถทำให้สำเร็จในช่วงปลายปี หรือหลายคนในช่วงโควิดมีการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่เข้าใจ ทำให้สะสมถึงปลายปี ทำให้หลายคนที่ประเมินปลายปีเริ่มรู้สึกว่าในช่วงปีที่ผ่านมา สำหรับตัวเองและครอบครัวไม่ค่อยดีนัก เกิดภาวะเรียนกว่าซึมเศร้าขึ้นมาได้

  • ปัญหาจากการทำงาน 

 

เริ่มจากการทำงาน หลายคนจากเดิมที่ได้ทำงาน อาจจะไม่มีงานทำเช่นเดิมหรืองานลดน้อยลง ถูกลดเงินเดือน เพื่อนร่วมงานหายไป ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยแรกที่ทำให้อารมณ์ของคนที่อยู่ในช่วงปลายปี แทนที่จะมีความสุขกลับกังวลไปจนถึงปีหน้าว่าตัวเองจะมีงานทำหรือไม่ มีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่

 

  • ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว

 

ขณะเดียวกัน เรื่องครอบครัวก็เป็นอีกเรื่อง หลายคนสามารถมีครอบครัวก็ไปอยู่กับครอบครัวได้ แต่ในสถานการณ์โควิด หลายคนไม่กล้ากลับไปเจอผู้ใหญ่ในบ้าน ซึ่งท่านอาจจะยังไม่ได้รับวัคซีนหรือกังวลเรื่องโอมิครอนที่จะติดกับผู้ใหญ่ ทำให้ไมได้มีโอกาสไปเจอคนใกล้ชิด และอยู่คนเดียวในช่วงปีใหม่

 

"สองสถานการณ์นี้ทั้งการทำงานและเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวและความสัมพันธ์ ส่งผลได้ถึงปัญหาเรื่องสุขภาพและอารมณ์ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้าได้ แน่นอนว่า อย่างแรกในช่วงปีใหม่อาจจะมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น ขณะเดียวกันนอกจากประเมินตัวเองแล้วและไม่พอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ในช่วงหยุดยาวการเปลี่ยนเทียบกับคนอื่น การอ่านโซเชียล การดูสื่อออนไลน์ รวมถึงสื่อต่างๆ ที่เล่าถึงสถานการณ์ที่โหดร้ายในสถานการณ์ที่ผ่านมามากๆ จะทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีเกิดขึ้นมาก" 

อย่างที่ทราบกันดีว่า ในโซเชียลมีเดีย ทุกคนโพสแต่สิ่งสวยงาม ความสำเร็จในแต่ละปี แต่พอเรามามองตัวเองกลับพบว่า เรามีจุดที่ไม่ประสบความสำเร็จหลายอย่างในชีวิต เราจึงเผลอเทียบกับคนอื่น ทั้งๆ ที่คนอื่นอาจจะไม่ได้โชว์ด้านที่ตัวเองมีปัญหา ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าที่มากขึ้น

 

  • ฆ่าตัวตายมากสุดในช่วง "สงกรานต์"

 

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต Mentral Health Check in พบว่า วันที่ 1-30 พ.ย. 64 ความเสี่ยงโรคซึมเศร้า ความเครียดสูงอยู่ที่ 8.4% ความเสี่ยงซึมเศร้า 10% แต่ในช่วงเดือน ธ.ค. ตัวเลขเริ่มลดลง จากการเริ่มเข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลอง เหลือความเครียดสูงอยู่ที่ราว 5.24% และความเสี่ยงซึมเศร้าอยู่ที่ 6.72% ขณะที่ความเสี่ยงฆ่าตัวตายและความเสี่ยงภาวะหมดไฟก็ลดลงเช่นกัน

 

แต่ช่วงปลายปี ราว 30 ธ.ค.  – 3 ม.ค. มักมีความเครียดเพิ่มขึ้นได้ เพราะในทุกปีอัตราเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย มากที่สุด คือ ช่วงสงกรานต์ รองลงมา คือ ปีใหม่ กรมสุขภาพจิต จึงต้องสื่อสารกับพี่น้องประชาชน ให้ตระหนักในช่วงหยุดยาว อาจจะมีความเสี่ยงในเรื่องความเครียดและซึมเศร้าคนที่มีความสุขในช่วงปีใหม่ อาจจะมีความสุขมากขึ้น คนที่มีความทุก ความเศร้าใจก็อาจจะมีความเศร้าใจได้มากขึ้นเช่นกัน  

 

  • ภาวะ “New Year’s Blues” คืออะไร

 

ดร.นพ.วรตม์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับภาวะ “New Year’s Blues” คือภาวะซึมเศร้าช่วงปีใหม่ มีอาการซึมเศร้า เบื่อหน่าย ท่อแท้ รู้สึกไร้ค่า รู้สึกสิ้นหวัง ไม่สนใจนสิ่งรอบข้าง มีปัญหาเรื่องการกินมากขึ้นหรือน้อยลง การนอน นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก ในบางรายอาจมีความคิดไม่อยากอยู่หรืออยากทำร้ายตัวเอง ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้อาจเกิดต่อเนื่องไปยังช่วงต้นเดือนมกราคม แม้สิ้นสุดวันหยุดยาวไปแล้วก็ตาม โดย Blues แปลว่าสีฟ้า เป็นสัญลักษณ์ของอารมณ์หม่นหมอง

 

  • วิธีการสังเกตตัวเองและคนใกล้ชิด

 

1. หมั่นสังเกตตัวเองและคนรอบข้าง หรือประเมินตัวเองผ่าน www.วัดใจ.com ทั้งความเครียด ซึมเศร้า ความเสี่ยงฆ่าตัวตาย และภาวะหมดไฟ

2. มองความสำเร็จของตนเอง พลังใจที่เกิดขึ้น การไม่ยอมแพ้ต่อปัญหา และอุปสรรค

3. ให้เวลาตัวเอง พักผ่อนในช่วงวันหยุด เพื่อฟื้นฟูทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

4. ใช้เวลาที่มีคุณภาพ สร้างความรู้สึกเชิงบวกให้ตนเอง สื่อความปรารถนาดีต่อคนรอบข้าง  

5. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ใช้ช่องทางออนไลน์ในการเชื่อมความสัมพันธ์

6. ตั้งเป้าหมาย ไม่ต้องตั้งเป้าหมาย ที่สูงหรือมากเกินไปจนรู้สึกท้อแท้

7. ปรึกษาพูดคุย กับครอบครัวหรือคนสนิท

 

"ขณะเดียวกัน กรมสุขภาพจิต ยังคงทำงานอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ หากไม่รู้จะปรึกษาใคร สามารถปรึกษากรมสุขภาพจิตได้ 24 ชั่วโมงฟรี สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือไม่อยากโทรสามารถใช้ไลน์ @1323FORTHAI ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้เช่นกันไม่มีค่าบริการ" โฆษก กรมสุขภาพจิต กล่าว