สธ. แจง แอฟริกันป่วยโควิด รักษาที่สถาบันบำราศฯ ไม่ใช่ "โอมิครอน"

สธ. แจง แอฟริกันป่วยโควิด รักษาที่สถาบันบำราศฯ ไม่ใช่ "โอมิครอน"

สธ. ยืนยัน ผู้ป่วยโควิด-19 ชาว "แอฟริกัน" รักษาที่ "สถาบันบำราศนราดูร" ติดเชื้อเดลตา ไม่ใช่ "โอมิครอน" ย้ำ หากพบคนติดเชื้อ โอมิครอนไม่ปกปิดแน่นอน 

จากกรณี มีข่าวลือ ว่าพบผู้ป่วยชาว "แอฟริกัน" ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน รักษาที่ "สถาบันบำราศนราดูร" นั้น 

 

วันนี้ (5 ธ.ค. 64) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึง ผลการตรวจยืนยันว่า ติดเชื้อ แต่เป็นเชื้อเดลตา ไม่ใช่โอมิครอน ขณะเดียวกัน กระบวนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนั้น ต้องใช้เวลาเนื่องจากยังไม่มีน้ำยาตรวจเฉพาะเหมือนสายพันธุ์อื่นๆ  โดยจะใช้เทคนิคการตรวจหาตำแหน่งพันธุกรรมจากน้ำยาตรวจของอัลฟา และเบตาแทน หากให้ผลเป็นบวก สันนิษฐานว่าติดเชื้อ โอมิครอน

 

เนื่องจากตำแหน่งของรหัสพันธุกรรมบางตัวของอัลฟา และเบตามีตรงกับโอมิครอน  จากนั้น จึงจะนำมาสู่กระบวนการด้วยหาพันธุกรรมทั้งตัว ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจยืนยัน  และเมื่อพบก็จะรายงานผลให้ GISAID ด้วย ทุกขั้นตอนต้องใช้เวลา หากพบคนติดเชื้อโอมิครอน กระทรวงสาธารณสุขไม่ปกปิดแน่นอน 

 

"ขณะนี้ทั่วโลกเริ่มพบเชื้อโอมิครอน มีความเป็นไปได้หากจะมีการพบเชื้อมากับผู้เดินทางเข้ามา แต่ทุกอย่างต้องมีการตรวจยืนยันให้แน่ใจก่อน และไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เพราะกระบวนการป้องกันยังเหมือน ทั้งสวมหน้ากากและรักษาระยะห่าง และการล้างมือ และกระบวนการรักษาก็ยังเหมือนเดิม วัคซีนยังเป็นกลไกสำคัญช่วยลดความรุนแรง" นพ.ศุภกิจ กล่าว

  • WHO ยังไม่พบผู้เสียชีวิตจาก "โอมิครอน"

 

ทั้งนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. รายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ได้ตรวจพบไวรัส โควิด -19 สายพันธุ์โอมิครอนในอย่างน้อย 38 ประเทศทั่วโลก แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว  ขณะที่มีการเตือนว่า "โอมิครอน" อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และออสเตรเลียเป็นประเทศล่าสุดที่ยืนยันการพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนภายในประเทศ

 

ขณะที่การระบาดของโอมิครอนทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิดใน แอฟริกาใต้ พุ่งทะลุ 3 ล้านรายแล้ว WHO เตือนว่า อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์เพื่อบ่งชี้ว่า ไวรัสโอมิครอนแพร่เชื้ออย่างไร และทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้นหรือไม่ รวมทั้งประสิทธิภาพของการรักษาและวัคซีนในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว

 

WHO เปิดเผยว่า ยังไม่มีรายงานการพบผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ โอมิครอน แต่การแพร่ระบาดของโอมิครอนทำให้มีการเตือนว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในยุโรปจำนวนมากกว่าครึ่ง อาจติดเชื้อจากโอมิครอนในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า

  • สหรัฐ เจอโอมิครอน 6 รัฐ ยันเดลตายังเป็นสายพันธุ์หลัก 

 

ผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยว่า รัฐอีก 6 แห่งในสหรัฐยืนยันการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน แต่ก็ระบุว่า ไวรัสสายพันธุ์ดลตายังคงเป็นภัยคุกคามมากกว่าขณะที่เข้าสู่ช่วงฤดูหนาว และชาวอเมริกันจะรวมตัวกันในช่วงวันหยุด รัฐนิวเจอร์ซีย์, แมริแลนด์, มิสซูรี, เนแบรสกา, เพนซิลเวเนีย และยูทาห์ ต่างรายงานการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในวันศุกร์

 

ขณะที่ รัฐมิสซูรี กำลังรอการยืนยันจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐเกี่ยวกับการติดเชื้อของผู้อยู่อาศัยรายหนึ่งในเซนต์หลุยส์ซึ่งเพิ่งเดินทางภายในสหรัฐ บรรดานักวิทยาศาสตร์ยังคงตรวจสอบผลกระทบของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่สามารถแพร่เชื้อได้ในระดับสูง ซึ่งตรวจพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ โดยหลักฐานเบื้องต้นบ่งชี้ว่า ไวรัสโอมิครอนอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่น้อยกว่าสายพันธ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา

 

ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก และกระตุ้นให้หลายประเทศกำหนดข้อจำกัดครั้งใหม่เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่ ดร.โรเชล วาเลนสกี ผู้อำนวยการ CDC เปิดเผยในการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวว่า เดลตายังคง เป็นไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในสหรัฐ